สำนักงบฯ แจงไร้อำนาจให้ข้อมูล บ.เอกชน รับงานป้องน้ำท่วม 1.2 แสนล.
ผอ.สำนักงบฯ ปัดให้ข้อมูล บ.เอกชน รับงานภาครัฐโครงการฟื้นฟู-ป้องกันอุทกภัย วงเงิน 1.2 แสนล้าน ระบุข้อมูลไม่ได้อยู่ในความครอบครอง-ควบคุมดูแล ชี้การจัดหาเป็นหน้าที่หน่วยงานราชการ-รสก.ที่ขอใช้งบฯ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอข้อมูลรายชื่อบริษัท ที่ได้รับดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ วงเงิน 120,000 ล้านบาท ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จำนวนทั้งสิ้น 154 โครงการ ตามที่มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.pmocflood.com ไปยังสำนักงบประมาณ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานหนึ่งที่มีรายชื่อปรากฏบนหน้าเว็บไซต์
เนื่องจากพบว่า ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์นั้น ระบุเพียงชื่อโครงการ รูปโครงการ จังหวัด หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินโครงการ ตลอดจนความก้าวหน้าของงาน(ร้อยละ) เท่านั้น ไม่ปรากฏข้อมูลในส่วนของบริษัท ที่รับดำเนินการในแต่ละโครงการ (ดังรูปประกอบ) ทำให้มีการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว
ล่าสุด วันที่ 27 พฤศจิกายน นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ทำหนังสือชี้แจงกลับมายังสำนักข่าวอิศรา ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน โดยมีข้อความระบุ ตามที่สำนักข่าวอิศรา ได้ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขอข้อมูลรายชื่อบริษัท ที่รับผิดชอบดำเนินโครงการต่างๆ พร้อมวงเงินดำเนินการนั้น สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว
ขอเรียนว่า งบประมาณเพื่อการเยียวยาฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ จำนวน 120,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ซึ่งส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณดังกล่าว จะต้องขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ โดยแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน โครงการ หรือรายการ งบรายจ่าย และวงเงินที่จะใช้จ่าย
นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า การกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์ การสำรวจ ออกแบบรูปแบบการก่อสร้างโดยละเอียด ตลอดจนการดำเนินการจัดหา หัวหน้าส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่ขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จะเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลให้การจัดหาเป็นไปตามความจำเป็น เหมาะสม อย่างโปร่งใส รวมทั้งเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
“ดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อบริษัทที่รับดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ จำนวน 120,000 ล้านบาท ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ จำนวนทั้งสิ้น 154 โครงการ ตามที่มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.pmocflood.com จึงเป็นข้อมูลที่ไม่อยู่ในความครอบครอง หรือควบคุมดูแล และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงบประมาณ
แต่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความควบคุมดูแลของหน่วยงานที่ดำเนินการในแต่ละโครง ซึ่งสามารถยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นได้โดยตรง”
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเรื่องการขอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ จำนวน 120,000 ล้านบาทนั้น ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้าน ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ด้วยว่า เว็บไซต์รัฐบาลยุคนี้ที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม ไม่มีใครสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ แม้กรรมาธิการงบประมาณของสภาฯ จะพยายามเข้าไปตรวจสอบกว่า 7 สัปดาห์ ก็ดูไม่ได้ เหมือนการขุดลอก ขุดหลอก อ้อยเข้าปากช้างก้างติดคอ บ่งบอกถึงความจริงใจในการปราบปรามทุจริตของรัฐบาล