คนแปดริ้วชงถอนใบอนุญาตสร้างท่าเรือ 6 ท่า บางปะกง ชี้ส่อเลี่ยงอีไอเอ
เครือข่ายรัฐชุมชนคนแปดริ้ว ชี้การออกใบอนุญาตฯ สร้างท่าเทียบเรือ ส่อผิดกม. จงใจเลี่ยงประเมินผล อีไอเอ ย้ำชัดผังเมือง จ.ฉะเชิงเทรา ร่างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2547 ค้างเติ่งอยู่หน้าห้องมท.1 กว่า 2 ปี
จากกรณีที่ทางจังหวัดฉะเชิงเทราและเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา มีมติเห็นชอบและอนุมัติเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ให้ บริษัท อีสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ดำเนินโครงการท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งสินค้าจำนวน 6 ท่า ริมแม่น้ำบางกะปง พื้นที่ ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานข้อเท็จจริงดังนี้ บริษัท อีสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ยื่นเรื่องขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือจำนวน 6 ท่า ริมแม่น้ำบางปะกง พื้นที่ ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อใช้ขนส่งสินค้าเกษตร ส่งออกไปต่างประเทศ คณะกรรมการพิจารณาออกหนังสือรับรองในการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำน้ำ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา พิจารณาแล้วว่า
“ไม่ขัดต่อแผนพัฒนาจังหวัด ผังเมืองเพราะบริเวณนี้ยังไม่มีผังเมืองรวมบังคับใช้ แต่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากกรมเจ้าท่าจะพิจารณาอนุญาต ขอให้กำหนดเงื่อนไขมาตรการบรรเทาและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้ท้ายใบอนุญาตด้วย”
และคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำประจำสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 ได้มีมติเห็นชอบอนุญาต โดยให้ความเห็นว่า ท่าเรือที่ขออนุญาตก่อสร้างมีลักษณะไม่กีดขวางทางเดินเรือ ไม่ทำให้การไหลของกระแสน้ำเปลี่ยนแปลง อีกทั้งบริษัทฯได้ยื่นหลักฐานเอกสาร (ใบอนุญาตใช้เรือ) ที่แสดงว่าเรือที่เข้าเทียบท่าเรือที่ขออนุญาตก่อสร้างคือเรือลำเลียงขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส
จ.ส.อ.ศักดา ทองประสิทธิ์ รองประธานคณะกรรมการ เครือข่ายรัฐชุมชนคนแปดริ้วจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การออกใบอนุญาตฯครั้งนี้อาจส่อผิดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญตามเจตนารมณ์ของกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตนเห็นว่าบริษัทฯจงใจหลีกเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ เพราะกำหนดขนาดท่าเรือเพียง 995 กับ 831 ตารางเมตร ใกล้เคียงกับที่กฎหมายกำหนดให้โครงการที่มีพื้นที่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไปต้องทำอีไอเอ ทั้งที่ท่าเรือ 6 ท่านี้วางเรียงติดกัน แต่ละท่าห่างกันประมาณ 100 เมตร ถ้ารวมพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกันก็เป็นพื้นที่ท่าเรือจำนวนมาก
อีกทั้งการก่อสร้างท่าเรือนี้จะต้องมีการขุดลอกดินหน้าท่าเป็นจำนวนมหาศาลซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้เลี้ยงปลากระชัง เพราะถ้าไม่ขุด เรือใหญ่ขนาด 500 ตันกรอสจะเข้าไม่ได้ ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่ถูกนำมาพิจารณาอีกเช่นกัน และเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตฯข้อ 2 ระบุว่า เมื่อปรากฎในภายหลังว่าได้ออกใบอนุญาตโดยคลาดเคลื่อนหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ เจ้าท่ามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
“สิ่งที่ผมพูดในวันนี้ก็เพื่ออยากบอกว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับแม่น้ำบางปะกงของเราในวันนี้มันเกิดจากความฉ้อฉล ความไม่มีความจริงใจต่อชุมชน สิ่งที่ผมพบจากรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาออกหนังสือรับรองในการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำน้ำ ของจังหวัดฉะเชิงเทราก็คือ นายกอบต.สนามจันทร์ไม่ได้เข้าร่วมประชุม นี่ก็เป็นความฉ้อฉลอย่างหนึ่ง ไม่ทราบว่าไม่มีการเชิญโดยตรงหรือนายกอบต.ไม่ยอมเข้า และผมสอบถามข้าราชการในพื้นที่อำเภอบ้านโพธิ์หลายท่านบอกว่าไม่ทราบเรื่องนี้”
ส่วนเรื่องผังเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น จ.ส.อ.ศักดา กล่าวด้วยว่า มีการร่างแล้วเสร็จเมื่อปี 2547 แต่ขณะนี้ยังค้างอยู่หน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมากว่า 2 ปี แล้ว จึงเป็นช่องว่างให้บริษัทเอกชนรายนี้เข้ามาสร้างท่าเรือ