ชี้ พ.ย.- มิ.ย.ปีหน้าวิกฤตแล้ง ผู้บริโภคเตรียมรับราคาข้าวหอมมะลิแพง
สศก.เผยวิกฤตแล้งพ.ย.55-มิ.ย.56 ชี้มูลค่าเสียหายภาคเกษตร 3.5 หมื่นล้านบ. เตือนผู้บริโภครับมือราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวสูง เชื่อไม่กระทบสต็อกโครงการจำนำฯ แนะรบ.เอาจริงขยายเขตชลประทาน
วันที่ 29 พ.ย. 55 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KOFC) เปิดเผยว่าศูนย์ฯได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้งล่าสุดในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ตอนบนรวม 22 จังหวัด โดยมีจังหวัดที่ประกาศประสบภัยแล้งแล้วทั้งสิน 18 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สกลนคร หนองคาย นครพนม อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ ยโสธร ศรีษะเกษ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดที่ประสบภัยแล้งแต่ยังได้ประกาศเป็นทางการมี 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร เลย สุรินทร์ อุบลราชธานี
จากการวิเคราะห์พบว่าสถานการณ์ภัยแล้งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรรวม 6.11 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.01 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ย. 55) โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว โดยพบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวในภาคอีสานและภาคใต้ตอนบนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 6.03 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.39 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ขณะที่พืชไร่เสียหายจากภัยแล้ง 8 หมื่นไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.25 ของพื้นที่ปลูกพืชไร่ทั้งประเทศ และพืชสวนเสียหาย 6 พันไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของพื้นที่ปลูกพืชสวนทั้งประเทศ
สำหรับความเสียหายของข้าวจากภาวะภัยแล้ง คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น 34,884 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 9.29 ของมูลค่าผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะได้รับในปีเพาะปลูก 2555/56 ขณะที่พืชไร่มีมูลค่าความเสียหาย 494 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.04 และพืชสวน 124 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.08 โดยส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตรเบื้องต้นคิดเป็นมูลค่ารวม 35,502 ล้านบาท และจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง(Real GDP) 6,752 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าว 6,647 ล้านบาท พืชไร่ 83 ล้านบาท พืชสวนและอื่นๆ 21 ล้านบาท นอกจากนี้ยังส่งผลให้ตัวเลขประมาณการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคการเกษตรปี 2555 ซึ่งคาดว่ามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.62 เหลือร้อยละ 3.38
ทั้งนี้หากพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนสะสมช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.55 จะพบว่าภาคอีสานตอนบนและภาคกลางมีปริมาณน้ำฝนสะสมค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะภาคอีสานซึ่งมีฝนตกเฉลี่ยเพียง 10 วัน/เดือน ส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงอย่างมาก จากข้อมูลวันที่ 28 พ.ย. 55 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองเหลือเพียง 149 ล้านลบ.ม. หรือ ร้อยละ 47 ของระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำคงเหลือ 1,029 ล้านลบ.ม. หรือ ร้อยละ 42 ของระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ
ดร.จารึกกล่าวต่อว่า สถานการณ์เหล่านี้ล้วนส่งสัญญาณที่คาดการณ์ได้ว่าในปี 2556 ประเทศไทยอาจต้องเตรียมรับมือกับภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงมากกว่าปีนี้ โดยประชาชนอาจต้องประสบภัยต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ย.55 - มิ.ย.56 หรือจนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนในปีหน้า ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงวิกฤตที่รัฐบาลควรหามาตรการบริหารจัดการน้ำที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งซึ่งที่ผ่านมายังไม่เด่นชัด
โดยรัฐบาลควรให้ความสำคัญในการพัฒนาและกระจายระบบชลประทานไปยังพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง โดยมีเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของเกษตรกรทั้งประเทศ หรือ 2.7 ล้านครอบครัว โดยเชื่อว่าการให้ข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำที่มีอยู่จริงในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่วิกฤตที่ไม่อาจสนับสนุนระบบชลประทานเพื่อการเพาะปลูกได้จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่ทำให้เกษตรกรยอมรับและปรับตัวตามสถานการณ์ของธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ข้าวอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยเพื่อรองรับภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงมากขึ้นด้วย
เมื่อถามถึงปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าว ดร.จารึกกล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอาจปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิส่วนมากได้รับความเสียหายส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตข้าวคุณภาพออกสู่ตลาดน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคอาจต้องเตรียมรับมือ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าปริมาณผลผลิตข้าวที่น้อยลงจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เนื่องจากปริมาณข้าวในสต็อกยังมีมาก ในทางกลับกันอาจเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการและการระบายข้าวที่ค้างอยู่ในสต็อกอีกด้วย
ที่มาภาพ ::: http://www.dailynews.co.th/agriculture/17220#