สันติภาพจากนอกโต๊ะเจรจา และพลังอันแรงกล้าของผู้หญิงยุติความรุนแรง
"บางครั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความกลัว ความหวัง และแผนการที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงและผู้ชายมีความฝันเดียวกันคือต้องการสันติภาพ"
เป็นคำกล่าวของ ซิร์ปา แมนแป (Sirpa Mäenpää) เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ระหว่างร่วมสนทนากับผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดินทางลงพื้นที่ไปร่วมกิจกรรมวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เมื่อ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา
ประเทศฟินแลนด์ นอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะดินแดนแห่งความสุขสงบและสันติภาพแล้ว บุคลากรของประเทศนี้ยังมีส่วนสำคัญในการรังสรรค์สันติภาพให้กับโลก แม้แต่ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยซึ่งมีการตั้ง "คอป." หรือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ขึ้่นมาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืน คอป.ก็ยังได้เชิญ มาร์ตติ อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มาให้ข้อคิด คำแนะนำจากประสบการณ์การเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพที่เขาทำสำเร็จมาหลายพื้นที่ขัดแย้งในโลกด้วย
และสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ฟินแลนด์ก็เข้ามามีบทบาทในแง่ของการสนับสนุนกิจกรรมสตรีในกระบวนการสร้างสันติภาพ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในพื้นที่ให้ดีขึ้น และที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมสร้างสันติ
"ฟินแลนด์สนับสนุนบทบาทสตรีด้วยการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในหลายประเทศ เช่น เคนยา อัฟกานิสถาน และเนปาล เพราะเราตระหนักถึงพลังของผู้หญิงว่ามีส่วนสำคัญในการยุติความรุนแรง การสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรม และสิทธิอื่นๆ" ซิร์ปา แมนแป กล่าว และว่า การมีส่วนร่วมของสตรีในกระบวนการสันติภาพ ผู้หญิงมักเป็นผู้ฟังที่ดีและพยายามรับฉันทามติ
"ความเป็นหญิงและชายกับสันติภาพ บางครั้งผู้หญิงกับผู้ชายมีความกลัว ความหวัง และแผนการที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงและผู้ชายมีความฝันเดียวกัน คือต้องการสันติภาพ ซึ่งหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเปลี่ยนสถานการณ์เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตข้างหน้า ฉะนั้นสันติภาพและความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐานของการพัฒนา"
ซิร์ปา แมนแป บอกอีกว่า นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เคยกล่าวเอาไว้ว่า การพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีการรักษาความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยไม่ได้เพิ่มขึ้นโดยการพัฒนา และไม่สามารถเข้าถึงได้โดยการไม่เคารพสิทธิมนุษยชน
"สตรีที่เจรจาพักรบเพื่อให้ลูกหลานได้รับการฉีดวัคซีน ขอเงินจากรัฐมาซื้อวัคซีนแทนการซื้ออาวุธ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี แน่นอนว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ในประเทศนั้นๆ แต่ผู้หญิงที่ต้องการความสงบสามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้"
เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวด้วยว่า แม้เป็นเรื่องยากที่จะเจาะจงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ กับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แนวทางที่มองเห็นได้ชัดก็คือ สันติภาพไม่ได้เป็นเพียงข้อตกลงหรือเซ็นสัญญากันในที่ประชุมระดับสูง แต่สันติภาพเริ่มจากการไม่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่มีการกระทำรุนแรงต่อกัน และพัฒนาไปสู่การเจรจา และการใช้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม
และนั่นคือหนทางสู่สันติภาพที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดหาวิธีการ โดยมีบทบาทของสตรีแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นสันติ!
"ยุติความรุนแรง"เริ่มที่ครอบครัวและขยายสู่สังคม
ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ "ผู้หญิงเปลี่ยนโลกให้สันติ" บนเวที "ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ" ในวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี 25 พ.ย.2555 ที่ จ.ปัตตานี ว่า ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาเฉพาะที่มีลักษณะพิเศษ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 คือความรุนแรงที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา และเกิดต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ ผ่านมา 8-9 ปีแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดีคือการได้เห็นกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่มีความตื่นตัวและเข้มแข็ง ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระให้กับใคร
ในระดับโลก ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้น ถือเป็นปัญหาสากล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกันยุติความรุนแรงในครอบครัว การจะผลักดัน ช่วยกันดูแล หรือหาแนวทางให้เกิดการยุติความรุนแรงในครอบครัวหรือในท้องถิ่นของตนเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
ประเด็นเรื่องผู้หญิงกับความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน หากขยายใหญ่กว่านั้นจะกลายเป็นประเด็นบทบาทของผู้หญิงในสถานการณ์ความขัดแย้ง และบทบาทผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ เพราะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง เราจึงควรรวมพลังให้เข้มแข็งเพื่อเริ่มยุติความรุนแรงในครอบครัวให้ได้ โดยสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนในครอบครัวไม่ว่าหญิงหรือชายทราบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
"ถ้าผู้หญิงมีความรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเอารัดเอาเปรียบ สาเหตุประกาศหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงเองที่ไม่สอนลูกให้ตระหนักรู้ว่าการเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงหรือการถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นสิ่งไม่พึงทำ ผู้หญิงจะต้องสอนลูกของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวหรือลูกชายว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ดิฉันเคยทำงานที่บังกลาเทศ พบว่าคนที่สอนให้ผู้หญิงยอมรับสภาพความต่ำต้อยหรือถูกเอารัดเอาเปรียบก็คือตัวแม่และยายของเด็กนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราเลี้ยงลูกเราต้องสอนลูกถึงเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย"
ศ.ดร.อัมรา กล่าวด้วยว่า ต้องพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติ เจตคติ และวิธีการปฏิบัติให้ยอมรับความเสมอภาค ให้เคารพสิทธิของกันและกัน และนอกเหนือจากนั้นจะต้องไม่ใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการดำเนินการเพื่อประโยชน์บางอย่าง รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการค้า
"ผู้หญิงเราต้องเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสากลว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่พึงมี ความรุนแรงในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่พึงมี และเรามาช่วยกันสร้างมาตรฐานของการยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพร่วมกัน"
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) ซิร์ปา แมนแป (ขวา) ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์
อ่านประกอบ : เก็บตกเวทียุติรุนแรงต่อ"เด็ก-สตรี" ไฟใต้ 9 ปี "หม้าย-กำพร้า" ร่วมหมื่น!
http://bit.ly/Th2VhY