นักวิชาการ ชี้ศึกซักฟอกในสภาฯ แค่ฉากการแสดง ไม่ใช่ของจริง แก้ทุจริต
นักวิชาการ ระบุซักฟอกทุจริตในสภาฯ แค่ฉากการแสดง ไม่ใช่ของแท้แก้โกง แนะสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาสังคม ร่วมตรวจสอบ-เป็นกระจกสะท้อนการทำงานรัฐบาล
วันที่ 28 พฤศจิกายน ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ในงานสัมมนาวิชาการ German-Thai Seminar on “Anti-Corruption and Compliance as Risk Management”จัดโดยคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมและวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับศูนย์ German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยว่า หากประเมินในเชิงปริมาณ ผลสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) บ่งชี้ว่า ปัญหาการทุจริตในประเทศไทยมีอยู่จริง และอยู่ในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง โดยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index: CPI) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4-3.5 จากคะแนนเต็ม 10
ส่วนในเชิงคุณภาพ สิ่งที่สังคมมองเห็นพบว่า องค์กรต่างๆ ที่สร้างขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต่างคาดหวังกันว่า จะเข้ามาเป็นกลไกกำกับดูแล ควบคุมปัญหาการทุจริต รวมถึงตรวจสอบ ถ่วงดุลกับการเมือง กลับถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง ทำให้แนวโน้มการทุจริตของประเทศไทยยังเป็นปัญหาใหญ่
ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหา ดร.รัตพงษ์ กล่าวว่า จะต้องบีบให้พื้นที่การทุจริตของฝ่ายการเมือง หรือกลไกอื่นๆ มีน้อยลง รวมถึงต้องสร้างให้คนทุจริตมีต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่เช่นนั้นการทุจริตก็ยังคงจะเกิดขึ้นในวงกว้าง
"การแก้ปัญหาดังกล่าว คงไม่สามารถพึ่งพากลไกของภาครัฐได้เพียงอย่างเดียว ฟันธงได้เลยว่า จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ยากมาก ดังนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่า ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม เช่นเดียวกับกรณีของฮ่องกงและเกาหลีใต้ เพราะการเติบโตของภาคประชาสังคมและความร่วมมือของภาคเอกชน นับเป็นกลไกที่ช่วยผลักดันให้การแก้ปัญหาเห็นผล ขณะที่รัฐบาลก็ทำหน้าที่เป็นหัวหอกหลักควบคู่กันไป"
ดร.รัตพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในประเทศไทย คงต้องยอมรับว่า ฝ่ายการเมืองให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มาก ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาทุจริตอยู่ในลักษณะ "ทรงตัว" ในทางกลับกันยังพบว่า อำนาจการเมืองยังเข้าไปแทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้าย เอาพวกพ้องของตัวเองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งต่างๆ และเมื่อนักการเมืองจำนวนมากมาจากภาคธุรกิจ ยิ่งทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
"นอกจากนี้การที่ภาครัฐปกปิดข้อมูล เช่น ข้อมูลสัมปทาน หรือข้อมูลการซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ที่อ้างว่า กลัวประเทศจะเสียเปรียบทางการค้านั้น ก็ฟังดูไม่มีน้ำหนัก ไม่มีเหตุผล ทำให้กลไกการตรวจสอบทุจริต โดยเฉพาะในส่วนของภาคประชาสังคม ประชาชนทำได้ยากและมีต้นทุนสูง ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ"
เมื่อถามถึงองค์กรตรวจสอบทุจริตของไทยที่มีอยู่จำนวนมาก อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ดร.รัตพงษ์ กล่าวว่า กลไกเหล่านี้ถูกตั้งคำถามว่า ทำงานประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร โดยส่วนตัวมองว่า กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ ทำงานได้ 80-90% ของประสิทธิภาพที่หน่วยงานภาครัฐทำอยู่ ดังนั้น จึงเห็นว่า ต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นการทำงานของภาคประชาสังคมเข้ามาถ่วงดุล แข่งขัน ประสานงานร่วมกัน
"ขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังศึกษาเรื่องดังกล่าว และมีแนวคิดจะจัดตั้งกองทุนป.ป.ช.ขึ้นมา เพื่อให้ภาคประชาสังคมใช้ขับเคลื่อนกลไกในการทำงานติดตาม ตรวจสอบการทุจริตได้มากขึ้น เนื่องจากมีความเป็นอิสระจากการเมือง"
เมื่อถามถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น ดร.รัตพงษ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านควรให้นำหนักในเรื่องข้อมูลมากกว่านี้ เพราะการต่อสู้ในทางการเมืองนั้น ตนเห็นว่า ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วประชาชนจะเป็นผู้ที่ตัดสินเองว่า ข้อมูลจากฝ่ายใดมีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน หากฝ่ายค้านยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ การที่จะสั่นคลอนรัฐบาลคงมีได้น้อย เพราะรัฐบาลเองก็ทำการบ้านมาเต็มที่
ทั้งนี้ ดร.รัตพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะนักวิชาการและประชาชนคนหนึ่งยังมองว่า แม้ฝ่ายค้านจะคลี่ข้อมูลออกมาให้ประชาชนรับรู้ได้ หรือฝ่ายรัฐบายแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้ดี แต่สุดท้ายการทุจริตในบ้านเมืองก็ยังมีอยู่อีกมาก การอภิปรายเหมือนเป็นแค่ฉากหนึ่งของการแสดงในสภาฯ สร้างวาทกรรมในแง่การเมือง เพราะสุดท้ายในการโหวตรัฐบาลก็มีโอกาสชนะอยู่ดี เนื่องจากครองเสียข้างมาก ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ จึงไม่ใช่ของจริง สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด โดยที่รัฐเข้าส่งเสริม ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม เพื่อเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของรัฐต่อไป