ผู้บริโภควอนคุมโฆษณาขนมเด็ก -จี้หยุดโฆษณาโรงไฟฟ้า
ผู้บริโภคร้องจัดระเบียบโฆษณาสื่อวิทยุทีวี ชี้เด็กไทยขาดวุฒิภาวะมาก วอนเข้มโฆษณาขนมรายการเด็ก จี้หยุดสปอตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ผู้ผลิตแนะสร้างครอบครัวเข้มแข็งเป็นเกราะภูมิคุ้มกัน
วันที่ 28 พ.ย. 55 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนา ‘จรรยาบรรณสื่อกับการโฆษณาในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์’ ณ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกต
นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ในอดีตคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ทำหน้าที่กำกับดูแลโฆษณาในสื่อ แต่ภายหลังยกเลิกไป ผู้ประกอบการสื่อจึงรวมตัวเป็นคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ (เซ็นเซอร์) กำกับดูแลกันเอง ภายใต้หลักเกณฑ์เดิมของกบว. รวมถึงหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งช่วง 8 ปีที่ผ่านมาภายใต้การทำงานของคณะกรรมการเซ็นเซอร์พบผู้ร้องเรียนโฆษณาเกินจริงเพียง 1% เท่านั้น จึงได้เรียกผู้ผลิตเข้ามาชี้แจงก่อนตักเตือนเป็นกรณี
รองกก.ผจก. สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวต่อว่า คณะกรรมการเซ็นเซอร์มีระบบการควบคุมดูแลในโฆษณาตรงเป็นหลัก ซึ่งมั่นใจว่าไทยไม่มีโฆษณาแฝง แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนเท่านั้นโดยไม่บอกสรรพคุณ เช่น ขอบคุณโรงพยาบาลยันฮี แต่ไม่บอกว่าโรงพยาบาลยันฮีประกอบธุรกิจรูปแบบใด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในวงการ อย่างไรก็ตามมองว่าการแก้ปัญหารู้เท่าทันสื่อโฆษณาที่ดีที่สุดควรร่วมมือทุกฝ่าย โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องใส่ใจในการเลี้ยงดูบุตรหลาน พร้อมให้การศึกษาที่สอนให้เกิดทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิต
พันเอก กิตติ สมสนั่น สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 กล่าวว่า คำว่า ‘โฆษณาที่ดี’ ขึ้นอยู่กับอุดมคติของแต่ละคน แม้จะมีงานวิจัยออกมาระบุว่าสื่อโฆษณามีอิทธิพลสูงต่อการโน้มน้าวใจผู้บริโภค แต่เชื่อว่าไม่มีใครในสังคมจะเชื่อเนื้อหาในโฆษณาทั้งหมด เพราะแต่ละคนล้วนมีวิจารณญาณตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันควรส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อ และสร้างความดูแลกันเองในสถาบันครอบครัว
ด้านนางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีประชากรเด็กและเยาวชน 23 ล้านคน ซึ่งในจำนวนมากไม่มีวุฒิภาวะ โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานกับปู่ย่าตายาย เพราะผู้ปกครองต้องทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้เด็กต้องรับสื่อเพียงลำพังและเสี่ยงต่อการโน้มน้าวในทางที่ผิด ดังนั้นควรเพิ่มกติกาในการควบคุมดูแลโฆษณาช่วงรายการเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโฆษณาขนมขบเคี้ยว ประเภทลดแลกแจกแถม เหมือนกับประเทศอื่น ทั้งนี้ยังแสดงความกังวลต่อโฆษณาสินค้าอันตรายในทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งกำลังลุกลามอยู่บนสื่อปัจจุบันด้วย
ว่าที่ ร.ต.กำพล จิตตะนัง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้พบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหลายองค์กรที่ให้ข้อมูลไม่รอบด้าน โดยเฉพาะภาครัฐ ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและตัดสินใจได้ง่าย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต ท้องถิ่น ประเทศ เช่น การโฆษณาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เพื่อต้องการโน้มน้าวจิตใจคนในชุมชนยอมให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อื่นของประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ ทั้งที่ปัญหาอยู่ในชั้นศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และยังเกิดความขัดแย้งในชุมชนอยู่ จึงหวั่นว่าหากชาวบ้านไม่รู้ข้อเท็จจริงที่เผยแพร่แฝงในรายการต่าง ๆ สุดท้ายชุมชนอาจล่มสลายได้ จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ยุติการเผยแพร่โฆษณาประเภทดังกล่าว
ดร.นิวัติ วงศ์พรหมปรีดา อุปนายกฝ่ายส่งเสริมจรรยาบรรณ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมโฆษณาฯ รับผิดชอบในการกำกับดูแลสปอตโฆษณาที่มีการซื้อพื้นที่เวลาเท่านั้น ซึ่งหากพบการกระทำผิดที่เสี่ยงต่อกฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพสามารถร้องเรียนได้ทันที อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าเราควรมองโฆษณาที่กระทำผิดตามกฎหมายมากกว่าใช้ทัศนคติตัดสินใจ เพราะแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน ส่วนจะให้ยกเลิกการเผยแพร่โฆษณาโรงไฟฟ้าแม่เมาะคงทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าใครพูดจริงกว่ากัน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีข้อมูล แต่สิ่งที่ผู้ผลิตโฆษณากระทำได้ คือ การศึกษาให้รอบด้าน หากพบว่าเสี่ยงต่อความผิดก็ไม่ทำเหมือนกัน
“สังคมควรเป็นสังคมที่เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็น ผมเชื่อในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรับรู้ข่าวสาร หากพิจารณาเผยแพร่แล้ว แล้วคุณตัดออกเท่ากับลิดรอนสิทธิผม อยากปกป้องเด็ก ปกป้องได้ แต่อย่าลิดรอนสิทธิผู้ใหญ่ การเคลื่อนไหวเป็นเรื่องดี แต่ในขณะเดียวกันต้องเปิดรับฟังด้วย ซึ่งน่าจะเป็นทางออกร่วมกันที่ดี ถ้าตั้งแง่แล้วไม่รับฟังไม่รู้จะคุยทำไม” อุปนายกด้านจริยธรรม สมาคมโฆษณาฯ กล่าว.