แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
“ดร.เดือนเด่น” ระบุไทยปิดกั้นการลงทุนต่างชาติ กระทบภาคบริการล้าหลัง
ดร.เดือนเด่น เผยข้อเสนอเปิดเสรีการค้าไทยไม่สอดคล้องวิสัยทัศน์อาเซียน แนะเปิดเสรีการเงิน-พลังงาน-โทรคมนาคม ทางหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
วันที่ 26 พฤศจิกายน ในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ที่จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.การวิจัย ทีดีอาร์ไอ นำเสนอบทความวิจัย ในหัวข้อ AEC กับการปฏิรูปสาขาบริการ (AEC and Service Sector Reform)
ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงเป้าหมายของการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยังมีข้อจำกัด ไม่เหมือนสหภาพยุโรป เนื่องจากยังมีการยกเว้นในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน และกฎกติกาภายในประเทศที่ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ กรอบการเปิดเสรีจำกัดเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนในธุรกิจบริการ ไม่รวมกฎ กติกาภายในประเทศที่อาจเป็นอุปสรรคกีดกันการแข่งขัน อีกทั้ง กรอบแนวทางการเปิดเสรีให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศสมาชิกที่ไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามโรดแมปที่กำหนดไว้ ทำให้การเปิดเสรีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการที่ประเทศไทยเสนอ ให้ถือหุ้นได้ 70% ซึ่งจะเป็นกรอบที่เกิดขึ้นในปี 2558 ประกอบไปด้วย 4 ด้านได้แก่
1.ด้านโทรคมนาคม ได้แก่ บริการเทเลกซ์ โทรเลข และโทรสาร ซึ่งแทบไม่มีผู้ใช้แล้ว
2.ภาคการท่องเที่ยว บริการโรงแรม 6 ดาว สวนสนุก และบริการให้ข้อมูลการท่องเที่ยว แต่ไม่รวมบริการจองที่พักและตั๋วโดยสาร
3.ด้านสุขภาพ บริการการแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลเอกชน บริการด้านกายภาพบำบัด บริการโรงพยาบาล บริการสถานพักฟื้นนอกเหนือจากโรงพยาบาล
4.ด้านโลจิสติกส์ บริการขนส่งสินค้าแช่แข็ง ของเหลวและก๊าซ บริการรับจัดการพิธีทางศุลกากร การขนถ่ายสินค้าทางทะเล และบริการเก็บสินค้าและคลังสินค้าสำหรับขนส่งทางทะเล
ดร.เดือนเด่น กล่าวต่อว่า ในบรรดาอาเซียนทั้งหมดมีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่สามารถบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีภาคบริการได้ เนื่องจากเป็นประเทศเปิดอยู่แล้ว ขณะที่ข้อเสนอการเปิดเสรีของไทยล่าสุดสะท้อนให้เห็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การสร้างฐานการผลิตอาเซียนระหว่างกัน ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเปิดเสรีภาคบริการได้ตามโรดแมปในปี 2558 จึงมีน้อยมาก
"ขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก เมื่อรวมตัวกันแล้วจะสร้างโอกาสมากขึ้น กลายเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของโลก แต่ประเทศไทยลงทุนในอาเซียนน้อยมาก ขณะที่สิงคโปร์เป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค เป็นประตูสู่อาเซียนที่มีการลงทุนสูงถึง 75% ซึ่งการที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกที่ปิดกั้นการลงทุนของคนต่างด้าวในภาคบริการมากที่สุด ทำให้ภาคบริการไทยล้าหลัง ไม่จูงใจให้มีการเปิดสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ"
ดร.เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ ทั้งที่เปิดให้นักลงทุนถือหุ้นได้เพียง 49% แต่แนวทางการสนับสนุนตามนโยบายของไทยกลับมุ่งเน้นที่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการลงทุนจากต่างประเทศน้อยลงมาก และไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนอาเซียนที่จะมุ่งไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ดังนั้น มีความจำเป็นที่รัฐต้องให้ความสำคัญ พัฒนาและสนับสนุนภาคบริการมากขึ้น
"ไทยเสียโอกาสในการได้รับการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาคบริการจากต่างประเทศ เนื่องจากนโยบายจำกัดการลงทุนในสาขาบริการ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากการเปิดเสรีด้านการค้าบริการในอาเซียนได้ในอนาคต หากไม่มีการปรับปรุงกฎ ระเบียบด้านการลงทุนที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้พัฒนาการภาคบริการของไทยด้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยยะสำคัญ จนเป็นปัจจัยถ่วงขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออก" ดร.เดือนเด่น กล่าว และว่า ทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของบริการได้ ต้องเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีในภาคบริการ ปฏิรูปกฎ กติกาในการกำกับดูแลธุรกิจบริการหลักของประเทศ และปรับปรุงกฎ ระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ
สำหรับสาขาที่ควรเปิดเสรีภาคบริการ มี 2 ประเภท ได้แก่ 1.บริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น การเงิน พลังงานและโทรคมนาคม และ 2.บริการที่มีลักษณะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดไม่กี่ราย
"ไทยจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ หากไม่มีการปฏิรูปสาขาบริการ โดยควรมีโรดแมปในการเปิดเสรีภาคบริการที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง แทนการเปิดเสรีตามข้อกำหนดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือข้อกำหนดของ TPP อีกทั้งควรแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ให้คุ้มครองเศรษฐกิจส่วนรวมไม่ใช่ของผู้ประกอบการธุรกิจบางราย อีกทั้งทบทวนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นเพียงธุรกิจอุตสาหกรรม"