นักวิชาการ ชี้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิภาษีศุลกากรการค้าอาเซียนเพียงครึ่ง
ทีดีอาร์ไอ เผย ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีศุลกากร การค้ากับอาเซียนเพียงครึ่ง เหตุขอใช้สิทธิติดขัด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ จนท.-รอนาน
วันที่ 26 พฤศจิกายน ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การค้าสินค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade in Goods and Trade Facilitation) ภายในอาเซียน ในปี 2558” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของทีดีอาร์ไอ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยนำเสนอใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นแรก การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศอาเซียน จากมาตรการลดภาษีศุลกากร พบว่า อัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ในประเทศสมาชิกอาเซียนได้ปรับลดลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ทำให้ผลกระทบหรือผลประโยชน์ต่างๆ ที่ประเทศไทยจะได้รับเกิดขึ้นไปแล้ว แต่สิ่งที่พบคือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยยังใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการลดภาษีศุลกากรในการค้ากับอาเซียนน้อยมาก อยู่ที่ร้อยละ 40-50 เท่านั้น
“ปี 2554 ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรในการค้ากับอาเซียน มูลค่าเพียง 7.6 หมื่นล้านบาท ทั้งที่หากใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวอย่างเต็มที่ จะสามารถประหยัดได้ถึง 1.4 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับด้านผู้นำเข้าใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว เพียงแค่ 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากใช้เต็มที่จะประหยัดได้ถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2555 ก็พบว่า อัตราการใช้สิทธิประโยชน์นี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยผู้ประกอบการไทย ให้เหตุผลว่า การไม่ใช้สิทธิดังกล่าว เนื่องจากยังมีอุปสรรคจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการขอใช้สิทธิ ที่ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การตรวจต้นทุน รวมถึงการรอใบตราส่งสินค้าทางเรือ ทางอากาศ และใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่ใช้ระยะเวลานาน”
ดร.เชษฐา กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ปัจจุบันพบว่า ประเทศในอาเซียนใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อยู่ในระดับสูง สัดส่วนสินค้าที่มีการกีดกัน อยู่ที่ร้อยละ 1 ทั้งที่ผ่านมาจะมีความพยายามหาหลายกรอบมาเจรจาแล้วก็ตาม แต่แนวโน้มกลับไม่ลดลง ทั้งนี้ เพราะขาดกลไกการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่เป็นสากลร่วมกัน รวมถึงไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการประสานงานด้านการค้าสินค้าภายในอาเซียน (CCA ) ดังนั้น จึงมองว่าในเรื่องนี้คงต้องเร่งยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ตามความเห็นของคณะกรรมการ CCA กันต่อไป
ส่วนประเด็นสุดท้าย การอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการขนส่ง ดร.เชษฐา กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน การอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการขนส่ง จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี และทำให้เกิดความเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งในส่วนของการอำนวยความสะดวกทางการค้า เห็นว่า สิ่งที่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาในระยะสั้นคือ เร่งพัฒนาระบบศุลกากร ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Nation Single Window: NSW) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าและส่งออกให้ต่ำลง ส่วนในระยะยาวก็คงต้องพัฒนาไปสู่ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW)
“ขณะที่การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง เห็นว่า หากมีการปฏิบัติตามข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จะทำให้ต้นทุนการขนส่งทางบกลดลงประมาณร้อยละ 50 แต่ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาในเรื่องกฎระเบียบด้านการขนส่งและนโยบายของรัฐบาลกลางของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงต้องมีการจัดการผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ให้กับประเทศที่เป็นทางผ่าน เช่น มีการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าใช้ถนนและโครงสร้างพื้นฐาน ณ จุดผ่านแดน ให้กับประเทศทางผ่านดังกล่าว”
ดร.เชษฐา กล่าวสรุปด้วยว่า การดำเนินปรับปรุงกระบวนการศุลกากรไปสู่ NSW และการปรับปรุงด้านขนส่งทางบกในภูมิภาคดังกล่าว เชื่อว่า ทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม จีพีดีจะเติบโตมากที่สุด เนื่องจากมีฐานเศรษฐกิจที่เล็กกว่าไทย ส่วนประเทศไทยนั้น เชื่อว่าก็จะได้รับประโยชน์จะกรณีดังกล่าว มากกว่าการที่ประเทศ CLMV ปรับลดภาษีให้เป็นศูนย์แน่นอน
ด้าน รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าววิจารณ์ผลการศึกษาดังกล่าวถึงกรณีการใช้สิทธิประโยชน์ลดภาษีศุลกากรของผู้ประกอบการไทยในการค้ากับอาเซียนว่า ยังไม่สูงมากนัก อยู่ที่ร้อยละ 55 ซึ่งน่าสงสัยมากว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับอาเซียน-จีน พบว่าใช้สิทธิร้อยละ 80, ไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทปป้า อยู่ที่ร้อยละ 68, ไทย-ออสเตรเลีย อยู่ที่ร้อยละ 92, ไทย-อินเดียร้อยละ 75, อาเซียน-เกาหลี การใช้สิทธิอยู่ที่ร้อยละ 55
ทั้งนี้ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงผลการศึกษาน่าจะให้ข้อมูลด้วยว่า การไม่ใช่สิทธิดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) หรือไม่ เพราะหากมีการกระตุ้นให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวอย่างเต็มที่ ผู้ประกอบการไทยจะประหยัดได้อีกมาก