"อาคม" เปิดข้อมูล รัฐบาลจ้าง บ.เซอร์เวเยอร์กำมะลอ
ส.ส. ปชป. แฉรัฐบาลเรียกใช้ 17 บริษัทเล็ก ตรวจสอบคุณภาพข้าว ทุนจดทะเบียน 2 ล้าน ได้เป็นกอบเป็นกำ นอกจากตรวจคุณภาพข้าวไม่จริง ยังมีการรับสินบน ค่าเหยียบแผ่นดิน ขนข้าวข้ามเขต
วันที่ 26 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล วันที่ 2 ช่วงบ่าย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ลุกขึ้นอภิปรายประเด็น การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด
จำนำข้าวทำโรงสีล่ำซำถ้วนหน้า
นายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.แสดงตัวเลขของกรมศุลกากร พร้อมระบุว่า มีการส่งออกข้าวจีทูจีกับ 5 ประเทศถึงสิ้นเดือนกันยายน 649,000 ตัน ซึ่งไม่ตรงกับประกาศจากกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาลที่อ้างข้อมูลตัวเลขว่า 1.4 ล้านตัน และตัวเลขการส่งออกข้าวทั้งระบบในปีนี้มี 4.7 ล้านตัน ไม่ใช่ 5 ล้านกว่าตัน แสดงว่า มีการเวียนเทียนข้าวในประเทศก่อนข้าวไปถึงท่าเรือเพื่อให้ตัวเลขการส่งออกสูง
"และจากการตรวจสอบพบว่าโรงสีทั่วประเทศไทยมีกว่า 3.8 หมื่นราย แต่เข้าร่วมโครงการ 652 โรง และตั้งข้อสังเกตว่าหลายโรงสีที่ร่วมโครงการ มีรายได้มากขึ้นหลายเท่าตัวจากปกติตั้งแต่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวเช่น โรงสีแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคกลางตอนบน ปี 2553 มีรายได้ 19 ล้านบาท เป็น ปี 2554 มีรายได้ 44 ล้านบาท หรืออีกสองบริษัทที่ภาคอีสาน แห่งหนึ่ง ปี 2553 มีรายได้ 1 ล้านบาท ปี 2554 เพิ่มเป็น 122 ล้านบาท อีกแห่งเป็นตระกูลดัง ปี 2553 รายได้ 5 ล้านบาท ปี 2554 รายได้ 71 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า เงินไปถึงโรงสีเฉพาะที่เป็นเครือข่ายเดียวกันเพียงไม่กี่โรง" นายเกียรติกล่าว
นายเกียรติ ยังได้แสดงหลักฐานข้อมูลราคาข้าวของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อถือได้ ว่าในปี 54 ราคาที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 14-15% มีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ตันละ 9,145 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 13,034 บาท ส่วนในปี 2555 ราคาสูงสุดอยู่ที่ตันละ 10,500 บาท เฉลี่ย 10 เดือนอยู่ที่ตันละ 10,082 บาท
แฉเซอร์เวเยอร์ กำมะลอ
ด้านนายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า โดยมีหลักฐานในเชิงวิชาการ ของกมธ.วุฒิสภา และทีดีอาร์ไอ มีความเห็นต่อนโยบายนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่า เป็นนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าราคาตลาดกว่าร้อยละ 40 เป็นภาระงบประมาณ ทำให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เปิดช่องทางทุจริตคอร์รัปชั่น การสวมสิทธิ์ ทำลายกลไกลตลาด ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมข้าว และทำลายความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก การส่งออกลดลง และชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยโรงสีโกงตาชั่ง ความชื้น สิ่งปลอมปน
นายอาคม กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาทุกรัฐบาล จะมีการเจรจากับเจ้าของคลังกลาง ว่า เมื่อรับฝากข้าวแล้วต้องรับผิดชอบคุณภาพด้วย มีเซอร์เวเยอร์ ตรวจสอบคุณภาพข้าวเข้า ออก เพื่อเป็นความปลอดภัย โรงสี คลัง ไม่กล้าโกง
“แต่ข้อน่าสังเกต รัฐบาลนี้เปลี่ยนแปลง เป็นสัญญาเช่า ไม่ได้ฝากเก็บ ที่ต้องรับผิดชอบสินค้า เหมือนในอดีต การที่รัฐบาลเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่า หมายความว่า มีโกดังให้รัฐบาลเช่า ก็จบกัน ตลกที่สุดไม่มีการตรวจคุณภาพขาออก ตอนขาเข้ามีตรวจเอาจริงเอาจัง แต่เมื่อมีการประมูลออก ไม่มีเซอร์เวเยอร์ นี่คือความวิบัติของข้าวไทย” นายอาคมกล่าว
ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.รายนี้ ยังกล่าวว่า การใช้นโยบายนี้เป็นครั้งแรกที่เป็นสัญญาเช่า ไม่ใช่สัญญาฝากเก็บสินค้า ทำให้ราชการตรวจไม่พบ
“การจดทะเบียนเซอร์เวเยอร์ข้าว ทั้งประเทศไทยมี 52 บริษัท น่าแปลกใจมีแค่ 17 บริษัทมาร่วมโครงการจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ตลกคือบริษัทที่มีมาตรฐานโลกไม่มาร่วมโครงการเลย ใน 17 บริษัท ผมเรียกว่า เป็นบริษัทกำมะลอ อยู่ในท้องถิ่นหมด” นายอาคมกล่าว
นายอาคมตั้งข้อสังเกตอีกว่า 17 บริษัทเซอร์เวเยอร์ เพิ่งมาเพิ่มวัตถุประสงค์เร็วๆ เพื่อให้เข้ากับโครงการรับจำนำข้าวได้ รวมทั้ง ที่ตลกบริษัทเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 2 ล้านบาท ขณะที่บริษัทใหญ่ ๆ ในโลกตรวจสินค้ามูลค่านับหมื่นล้านบาท ไม่มาร่วมกับรัฐบาล ตนเชื่อว่าเหตุผลที่อคส. ไม่กล้าใช้บริษัทใหญ่ เพราะกลัวเอาการตรวจการทุจริตจริงจัง จึงใช้บริษัทกำมะลอ นอกจากนี้ โรงสีใดจะนำข้าวไปส่งคลัง ยังมีค่าเหยียบแผ่นดิน กระสอบละ 7 บาท เพื่อเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพื่อเซอร์เวเยอร์ไม่ต้องตรวจเข้ม ค่าข้าวข้ามเขตจากภาคอีสานมาภาคกลาง กระสอบละ 20 บาท หรือข้าวหอมมะลิข้ามเขต กระสอบละ 50 บาท ตันละ 500 บาท
นายอาคมยังเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า มีโรงสีที่ จ.สิงห์บุรี ชัยนาท พื้นที่ภาคกลาง รัฐบาลสั่งให้ไปรับข้าวภาคอีสาน โดยเฉพาะข้าวขาวหอมมะลิ แต่มีข้าวบางชนิดเหมือนข้าวหอมมะลิ เอามาแทนกัน คือ ข้าวปทุมธานี กับข้าวพิษณุโลก 2 นำมาปลอมปน ไม่ใช่ ข้าวหอมมะลิ นี่รัฐเสียหายมาก
“สิ่งที่เซอร์เวเยอร์ได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นบริษัทเล็กๆ กำมะลอ ตรวจคุณภาพข้าวไม่จริง ยังมีการรับสินบน จ่ายกันเป็นที่รู้กัน ตรวจสอบไม่ยาก สามารถตรวจสอบได้ที่จังหวัดอ่างทอง โดยกระทรวงพาณิชย์หาโรงสี 3 โรงให้ไปรับข้าวเปลือที่ภาคอีสาน จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นข้าวข้ามเขต โดยโรงสีที่ได้รับการอนุมัติ ต้องจ่ายค่าการเมือง 2 ล้านบาท” นายอาคมกล่าว
ช่วงท้าย นายอาคม กล่าวด้วยว่า นอกจากการทุจริตเริ่มจากโกดัง เซอเวเยอร์ไม่ได้มาตรฐานแล้ว กรมการค้าภายใน จัดฉากให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไปตรวจโกดัง เพื่อให้เห็นว่า มีการทุจริตเพียงเล็กน้อย นับเป็นการแหกตาประชาชน โครงการจำนำข้าวไม่มีทุจริต ตรวจเฉพาะคลังที่มีข้าวสารถูกต้อง
“นายกฯปล่อยให้ ร.ต.อ.เฉลิมแหกตา ไม่พบความผิดปกติ” นายอาคมกล่าว
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 16:00 น. ร.ต.อ.เฉลิมลุกขึ้นอภิปรายตอบโต้ โดยระบุว่า ไม่ได้แหกตานายกฯ ไม่เคยไปตรวจโกดัง ด้วยตนเอง ตนทำงานแบบผู้บริหาร ไม่ได้ทำงานแบบหลงจู๋ ส่วนกรณีข้อห่วงใย ป.ป.ช. นั้น หน่วยงานนี้ มีอำนาจหน้าที่ห่วงใยโครงการที่อาจทุจริต บอกเสนอแนะ แต่ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่บอกว่า ป.ป.ช แจ้งแล้วรัฐบาลต้องทำตาม พร้อมกันนี้ได้ยกข้อหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ซึ่งมีมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน มาชี้แจงด้วย ในตอนท้าย