แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
สว.อภิปรายจำนำข้าว ขู่ตรวจสอบเข้ม แนะปรับช่วยชาวนารายย่อย
ส.ว.เปิดอภิปรายจำนำข้าว ระบุผลประโยชน์อยู่ที่ตอนขายข้าว ซัดไม่โปร่งใส? ไม่กล้าทำบัญชี-เปิดข้อมูลการระบาย
วันที่ 23 พฤศจิกายน 52 กลุ่ม ส.ว. เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เน้นการอภิปรายที่โครงการจำนำข้าว โดยที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวแถลงเปิดญัตติ ตอนหนึ่งว่า ข้อดีของโครงการรับจำนำข้าว ข้อหนึ่งที่ต้องชื่นชมรัฐบาล คือ ทำให้เรื่องชาวนาขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ และให้ทั้งสังคมหันมาสนใจ และถกเถียงกันได้
ในส่วนข้อเสีย นายไพบูลย์ กล่าวว่า โครงการไม่ได้ช่วยเหลือชาวนา ในพื้นที่ที่ควรจะช่วยเหลือมากที่สุด พบความไม่โปร่งใส ไม่ชอบมาพากลในกระบวนการขายข้าว และความสามารถของการขายข้าวโดยกระทรวงพาณิชย์ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รัฐบาลจีนก็ไม่ลงนามเอ็มโอยูกับไทยที่จะขายข้าวให้ปีละ 5 ล้านตัน เป็นเวลา 3ปี ส่วนที่ลงนามกันนั้นก็เป็นเพียงบันทึกว่าที่ผ่านมามีการซื้อขายกันอย่างไรและจะมีการซื้อขายกันต่อเท่านั้น ซึ่งก็เป็นจำนวนไม่มาก
"ในบรรดาขั้นตอนของโครงการรับจำนำข้าว ประโยชน์อยู่ที่กระบวนการขายข้าวมากที่สุด ซึ่งกมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลฯ ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง ก็ได้คำตอบเพียงว่า เรื่องการขายข้าวเป็นความลับ ข้อที่น่าห่วงและเป็นหัวใจสำคัญของปัญหา คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ไม่ทำบัญชี "กำไร-ขาดทุน" ของโครงการ ทำให้กระทรวงการคลัง ไม่รู้ว่าขาดทุนไปแล้วเท่าไหร่ ข้าวในสต็อกมีเท่าไร กระทรวงพาณิชย์ ก็ขายข้าวอย่างเดียว ธกส.ก็รู้แค่จ่ายเงินชาวนาไปแล้วเท่าไหร่" นายไพบูลย์ กล่าว และว่า ไม่มีหน่วยงานไหนตอบเรื่องปริมาณข้าวในสต็อก วิธีการระบายข้าวและราคาขายข้าวได้ ซึ่งแตกต่างจากระบบและกลไกของบริษัททั่วไป เหตุใดรัฐบาลไทยพัฒนาโครงการหลายแสนล้านบาทได้ แต่ทำบัญชีขายข้าวเปิดเผยไม่ได้
"การไม่ทำบัญชีขายข้าวเพราะกลัวข้อมูลจะเปิดเผยใช่หรือไม่ หรือว่ามีความไม่โปร่งใส ไม่พร้อมให้สังคมตรวจสอบ และการไม่เปิดเผยนี้ หากรัฐบาลยืนยันจะดำเนินโครงการที่มีลักษณะขี่ช้างจับตั๊กแตนนี้อยู่ จะทำให้ประเทศมีความสุ่มเสี่ยงในหลายด้าน ถ้าขาดทุนมากๆ จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลมองแต่ฐานเสียง ไม่คำนึงถึงผู้เสียภาษีไม่ได้ การหยุดยั้งความสุ่มเสี่ยงนั้นได้ ต้องหันมาพูดคุยกันทั้งการอภิปรายในและนอกสภาฯ เพื่อหาทางออกร่วมกัน"
สำหรับข้อเสนอ นายไพบูลย์ กล่าวว่า กมธ. เห็นว่า ควรปรับยุทธศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายข้าว อย่าแค่ต้องการเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ หรือเน้นปริมาณ แต่กลับขาดทุนมาก ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์เช่นนั้น และเปลี่ยนมาปลูกข้าวคุณภาพ จำกัดจำนวน และช่วยเหลือชาวนารายย่อยอย่างแท้จริง
"โครงการที่ทำอยู่ปัจจุบันเป็นการช่วยเหลือชาวนาที่ร่ำรวย ช่วยโรงสี และช่วยบริษัทค้าข้าว ฉะนั้น ควรจำกัดให้ชาวนารายใหญ่ลดการปลูกข้าวลง แล้วหันไปปลูกพืชอื่นแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และขอให้ควบคุมขนาดของโครงการในทันที ถ้ารั้นทำโครงการไม่คำนึงการระบายข้าว ประเทศจะเสียหายมาก และรัฐบาลจะมีปัญหาหนัก ถ้ามองในระยะยาวรัฐบาลควรให้ชาวนารายย่อยมาเป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหา อย่าเอาผลผลิตข้าวหรือที่นาเป็นตัวตั้ง เพราะผลผลิตและที่นาล้วนอยู่ในมือชาวนารายใหญ่และนายทุน"
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การจะตรวจสอบหาชาวนารายย่อย สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จาก ธกส.เพื่อดูบัญชีชาวนา ทั้งนี้ การช่วยเหลือจำกัดประมาณ 1 ล้านครอบครัว แล้วแก้ให้ตรงจุด ทั้งต้นทุนการผลิต เทคโนโลยีและการตลาด และหากจะรับจำนำ ก็ทำเฉพาะกลุ่มรายย่อยนี้ เชื่อว่าสังคมรับได้ และไม่ต้องสิ้นเปลืองเม็ดเงินมาก แต่ตกถึงมือชาวนาตรงกลุ่มจริง ประชาชนที่เสียภาษีคงไม่แย้ง สังคมจะมีแต่สรรเสริญ
"จากนี้ กลุ่ม ส.ว.จะร่วมกับองค์กรตรวจสอบภาครัฐอื่นๆ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสื่อมวลชน เพื่อตรวจสอบโครงการอย่างเข้มข้น ให้โครงการดำเนินไปอย่างโปร่งใส ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อชาวนาและไม่เสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน"