'หมอไนจีเรีย-อังกฤษ' คว้ารางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ผลงานเด่นดึงชุมชนร่วมขจัดโรค
'ดร.หญิงไนจีเรีย-หมอเมืองผู้ดี' คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 55 เผยผลงานเด่น ดึงชุมชนแอฟริการ่วมขจัดโรคตาบอดจากพยาธิ - นำแนวคิดประโยชน์สูงสุดรักษาผู้ป่วยอังกฤษ
วันที่ 22 พ.ย. 55 ที่ รพ.ศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 21 ประจำปี 2555 ว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555 มีทั้งสิ้น 75 ราย จาก 34 ประเทศ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ จากสหราชอาณาจักร และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก จากประเทศไนจีเรีย
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ กล่าวว่า เซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ จากสหราชอาณาจักร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลเซนต์โทมัส มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดำรงตำแหน่งประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (ไนซ์) ศาสตราจารย์กิติมศักดิ์ วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน และนายกราชแพทยสมาคมแห่งประเทศอังกฤษ โดยเป็นผู้นำแนวคิดและผู้ปฏิบัติในการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลทางการแพทย์ ที่สามารถตรวจสอบได้มาประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของยา เครื่องมือต่างๆ และวิธีการรักษา รวมทั้งได้กำหนดคู่มือและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับและความคุ้มค่าของงบประมาณ โดยเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือ ไนซ์ ขึ้นในปี พ.ศ.2542 ทั้งนี้ได้มีผู้นำแนวคิดดังกล่าวไปเเป็นแม่แบบ และประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้นำโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (ไฮแทป)มาใช้ในการประเมินสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพด้วย
ด้านดร. อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก จากไนจีเรีย เป็นอดีตผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาและปรสิตวิทยาทางการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านโรคเขตร้อน จากสถาบันแบร์นฮาร์ด ( Bernhard-Nocht Institute of Tropical Medicine) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และการสาธารณสุขระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.อูเชเป็นบุคคลสำคัญที่ได้พัฒนาชุมชนกว่า 5 แสนชุมชนใน 19 ประเทศ ของทวีปอัฟริกา ให้มีส่วนร่วมในการให้บริการทางการสาธารณสุข โดยระหว่างดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปอัฟริกา ระหว่างปี พ.ศ.2548-2554 ได้พัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่สามารถกำหนดการรักษา โดยการกระจายยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิแก่คนในชุมชนโดยอาสาสมัครในชุมชน ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการควบคุมโรค เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพในชุมชน ส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงอย่างมาก โดยประมาณการว่าภายในปี พ.ศ.2558 ประชากรกว่า 90 ล้านคนต่อปี จะได้รับยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิอย่างสม่ำเสมอ และสามารถป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิได้ปีละกว่า 40,000 ราย ความสำเร็จเหล่านี้
ทั้งนี้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยจะมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 1 แสนเหรียญสหรัฐ โดยพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จะจัดขึ้นในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ที่มาภาพ ::: http://www.dailynews.co.th/politics/168331