ไทยเป็นเลิศ คว้าทอง 'คอร์รัปชั่น' คุ้มสุดได้ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ
ดร.เดือนเด่น เผยสาเหตุคนไทยไม่แคร์เรื่องโกง เพราะประเทศเหลื่อมล้ำ ปากท้องต้องมาก่อน ขณะที่สื่่อไม่มีเสรีในการให้ข้อมูล แนะปัดฝุ่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้
วันที่ 22 พฤศจิกายน หอการค้าไทย และภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น จัดสัมมนาเรื่อง "หลากมุมคิด หลายมุมมอง:คอร์รัปชั่นกับสังคมไทย" ในงาน 80 ปี หอการค้าไทย ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี โดยมี ดร.อุทิศ ขาวเธียร ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมเสวนา
ดร.อุทิศ กล่าวว่า ปัจจุบันค่านิยมของสังคมไทยอยู่ในสภาพที่วางเฉยต่อเรื่องคอร์รัปชั่น แม้คนส่วนใหญ่จะรับรู้ว่ามีการคอร์รัปชั่น หรือมีโครงการที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นก็ตาม ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ สามารถยอมรับได้ ถ้าตนเองได้รับประโยชน์ด้วย ค่านิยมเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุหลักให้นักการเมืองยังคงทุจริตต่อไป มีการออกประชานิยมที่แอบแฝง ซ่อนเงื่อนของการทุจริตคอร์รัปชั่นไว้ เพราะไม่มีที่ไหนในโลกคอร์รัปชั่นแล้วคุ้มเท่ากับเมืองไทย ได้ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ
“ประเทศไทยมีวิวัฒนาการเรื่องการคอร์รัปชั่นเป็นที่สุดในโลก ชนิดที่ว่าได้เหรียญทอง หรือวางทฤษฎีได้เลย เราทุจริตกันจนกฎหมายเล่นงานได้ยากมาก และถึงขั้นองค์กรอิสระที่หน้าที่เกี่ยวกับป้องกัน ปราบปรามเรื่องนี้ถูกเบียดเบียน แทรกแซง โดนฟ้อง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ผมเชื่อว่าหากสังคมรู้เท่าทัน มีการจัดการศึกษาที่ดี สามารถพัฒนาคนไทยให้รู้จักก่อร่างสร้างตัว โดยสุจริต ยุติธรรมได้แล้ว จะมีผลต่ออนาคตและการแข่งขันของประเทศไทยอย่างมาก”
เปิด 2 สาเหตุไทยไม่แคร์คอร์รัปชั่น
ด้าน ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมีแนวโน้มแย่ลง ยิ่งระยะหลังที่มีการใช้ประชานิยม ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ รูปแบบใหม่ในการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยใช้เงินงบประมาณ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เช่น โครงการรับจำนำข้าว นอกจากเงินแสนล้านบาทที่หายไปและอาจกระทบต่อความมั่นคงทางการคลังแล้ว ยังจะมีผลต่อการล้มสลายของระบบเศรษฐกิจของไทย เพราะขณะนี้พบว่า พ่อค้าข้าวส่วนหนึ่งเริ่มเจ๊ง ไม่อาชีพทำ ขณะเดียวกันชาวนาก็เร่งปลูกข้าวโดยเน้นแต่ปริมาณ ไม่สนใจเรื่องคุณภาพ ทำให้กลไกทั้งระบบบิดเบียน เสียหายทั้งระบบ
ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงสาเหตุที่คนไทยไม่แคร์เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น โดยส่วนตัววิเคราะห์ว่ามาจาก 2 สาเหตุคือ
1.ประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูง คนต้องจึงเห็นแก้เรื่องปากท้องเป็นอันดับแรก ทำให้เพรี่ยงพร้ำต่อประชานิยม ไม่สนใจเรื่องคอร์รัปชั่น
2.ความไม่รู้เท่าทัน ที่ผ่านมาเราจะรับรู้ข้อมูลเมื่อสื่อรายงาน แต่ปัจจุบันคือ ข้อมูลน้อยเหลือเกิน รัฐบาลปิดบังหมด อีกทั้งสถิติในการรับชมสื่อของคนไทยพบว่า ร้อยละ 95 ดูโทรทัศน์ แต่โทรทัศน์ของไทยไม่เป็นอิสระจากการเมือง ช่อง 3 สัมปทานของ อสมท ช่อง 5,7 กองทัพบก ช่อง 9 รัฐวิสาหกิจ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ หากจะให้ไปคุ้ยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นก็คงไม่ได้สัมปทาน ฉะนั้น สื่อจึงไม่เสรี
“ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ มีผู้รับสื่อประเภทนี้ร้อยละ 50 และแม้คนไทยมักจะพูดว่า หนังสือพิมพ์เสรี อยากจะพูดหรือวิจารณ์รัฐบาลอย่างไรก็ได้ แต่ข้อมูลที่ให้มานั้นจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องพิจารณา เพราะหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการล้มสลายจากอินเทอร์เน็ต รายได้ทุกแห่งตัวเลขแทบจะติดลบ ซึ่งหากเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับที่โปรรัฐบาล จะพบว่าในจำนวนโฆษณาสามหน้าครึ่ง จะมีโฆษณาของรัฐบาลอยู่สามหน้า อีกครึ่งหน้าเป็นของเอกชน ดังนั้นจึงเห็นชัดเจนว่า รัฐบาลกำลังซื้อสื่อ โดยใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ ทำให้สื่อไม่เสรี"
ส่วนช่องทางอินเทอร์เน็ต ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ครัวเรือนไทยนั้นยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แค่ 10% ทั้งที่ช่องทางนี้เป็นแห่งข้อมูลที่สกัดกั้นได้ยาก รัฐบาลไม่สามารถปิดหูปิดตาได้ ฉะนั้น การปฏิรูปสื่อ โครงสร้างสื่อ เชื่อว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อขีดความสามารถในการรับรู้ข้อมูลที่เท็จจริงของคนไทยอย่างมาก
เสนอปัดฝุ่นกฎหมายข้อมูลข่าวสาร
เมื่อถามถึงแนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นให้สังคมลดลง หรือล้มหายไปนั้นในช่วงอายุคนนั้น ดร.เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า ยุทธศาสตร์ในการต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องมาจากฐานล่าง ไม่สามารถตั้งองค์กรอิสระอะไรมาแก้ปัญหานี้ได้ เพราะสุดท้ายองค์กรเหล่านี้ก็ยังอยู่ภายใต้เงื้อมมือของรัฐบาล โดยในระยะยาวการแก้ปัญหาเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา ที่จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่สุด
“แต่ในระยะสั้นนั้นเห็นว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ 1.การนำกฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการมาปัดฝุ่น ให้สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะหากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลข้าวต่างๆ เปิดเผยออกมาสู่สาธารณะชน เชื่อว่า 60 ล้านคนจะช่วยตรวจสอบได้ และน่าจะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่จะช่วยเปลี่ยนสังคมไทย
และ 2.องค์กรอิสระที่สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จะต้องทำให้มีความอิสระทางโครงสร้าง ไม่อยู่ภายใต้อานัสของนักการเมือง รวมถึงทำให้มีความอิสระทางด้านงบประมาณ เช่นเดียวกับองค์กร watch dog ในต่างประเทศที่มีงบประมาณเป็นของตนเอง ไม่ต้องแบ่งเงินของรัฐบาล ทั้งนี้เชื่อว่าน่าจะทำงานได้มากกว่านี้”
ขอบคุณภาพประกอบ: คมชัดลึกและอินเทอร์เน็ต