ข้อพึงระวังของ "ม. 21" เสียงเตือนในความสำเร็จของ พ.ร.บ.ความมั่นคง
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เผยแพร่บทความที่ชื่อ "ความสำเร็จภายใต้กฎหมายความมั่นคง?" วิพากษ์มาตรการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังตีปี๊บความสำเร็จจากการเปิดช่องทางให้ผู้ที่อยู่ในขบวนการก่อความไม่สงบได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในสังคมโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี
ทว่ามาตรการดังกล่าวนี้ก็ยังมีข้อควรระวังหลายอย่างอยู่เหมือนกัน
นับเป็นเสียงเตือนจาก "ผู้รู้กฎหมาย" เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐใช้กฎหมายเกินขอบเขตแห่งเจตนารมณ์ กระทั่งกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ในพื้นที่ แทนที่จะลดเงื่อนไข!
ความสำเร็จภายใต้กฎหมายความมั่นคง?
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ประกาศผลความสำเร็จในการทำงานเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการอบรมแทนการดำเนินคดี ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) โดยมีผู้จบหลักสูตรการอบรมมาแล้ว 2 คน คือ นายรอยาลี บือราเฮง และ นายยาซะ เจะหมะ ทั้งสองคนเป็นผู้ต้องหาและได้รับสารภาพในความผิดที่ถูกกล่าวหา โดยยอมรับว่ากระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยินยอมเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 แทนการถูกดำเนินคดี
นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นการสร้างบรรยากาศที่จะเอื้อให้หลายคนที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มของขบวนการก่อความไม่สงบอย่างหลงผิดและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้มีช่องทางหรือหาทางออกให้กับตัวเอง
กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ฉีกแนวกว่ากฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับมาแล้ว ทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพราะเปิดพื้นที่ให้ผู้กระทำความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงแต่กลับใจได้มีโอกาสเข้ามอบตัว หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วพบว่าผู้ต้องหานั้นๆ กระทำไปเพราะหลงผิดและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเห็นว่าการกลับใจของผู้นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง
ในกรณีอย่างนี้ หากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เห็นชอบ ก็สามารถส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล และหากศาลเห็นสมควร เมื่อสอบถามผู้ต้องหาแล้วสมัครใจเข้าร่วมอบรม ก็อาจสั่งให้ผู้ต้องหานั้นเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดไว้เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินคดี
ผลในทางกฎหมายในกรณีนี้ คือ สิทธิในการนำคดีมาฟ้องเกี่ยวกับความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นอันระงับไป ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 39 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ต้องหาเอง
เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นต้องการให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือผู้ที่มีหมายจับ ไม่ว่าจะเป็นหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือตาม ป.วิอาญา ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อที่จะยุติการก่อเหตุรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบ อันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการสร้างบรรยากาศหรือเปิดพื้นที่ให้กับคนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐได้มีโอกาสเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา จึงเป็นความปรารถนาดีของรัฐที่มีต่อฝ่ายที่หลงผิดและเข้าสู่ขบวนการ ไม่ว่าที่ยังอยู่ในพื้นที่หรือที่กำลังหลบหนีอยู่ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ยุติทั้งความคิดและการกระทำ
เท่ากับว่ารัฐได้เปิดหนทางให้แล้ว และหากพวกเขาเข้าสู่กระบวนการนี้ก็มีโอกาสที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ในกรณีที่ไม่มีอาชีพ ทางการก็อาจหาอาชีพให้โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอให้ยุติการก่อเหตุรุนแรง หยุดสร้างความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง ร่วมกันพัฒนาชาติและสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่อไป
แต่ข้อสรุปนี้จะเป็นความคาดหวังที่ยังห่างไกลความจริงของรัฐหรือไม่ เพราะเมื่อดูทางฝ่ายขบวนการแล้วยังไม่ปรากฏสัญญาณใดที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการตอบรับการหยิบยื่นทางออกเช่นนี้ให้ จะเห็นว่าทุกครั้งที่ปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรง ก็มีการคาดเดาเอาว่าเป็นการตอบโต้ของขบวนการ เหตุผลที่มักพูดกันก็คือ เพราะฝ่ายขบวนการเห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังทำงานประสบผลสำเร็จ มีประชาชนให้ความร่วมมือมากขึ้น เช่น การมีแกนนำระดับปฏิบัติการที่เคยอยู่ร่วมขบวนการเข้ามอบตัว (93 ผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าแสดงตัวกับแม่ทัพภาคที่ 4 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส) เพราะทนกับแนวทางการทำงานของขบวนการไม่ได้ จึงขอยุติการใช้อาวุธเพื่อจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ความสำเร็จของฝ่ายรัฐดังว่านี้ ว่ากันว่าทำให้กลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงไม่พอใจ และพยายามเรียกคนหรือเรียกคะแนนคืนด้วยการสร้างเหตุรุนแรงต่อเนื่องไม่เลิก
เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 10 นี้ ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐที่มีทหารเป็นฝ่ายนำ กับฝ่ายขบวนการที่ไม่มีตัวตนและไม่เปิดเผยตนเอง รัฐได้ทุ่มเททั้งงบประมาณและกำลังพลเข้าไปในพื้นที่สามจังหวัด ในขณะที่ฝ่ายขบวนการแทบจะไม่ได้ลงทุนอะไรมากนัก อาศัยอุดมการณ์การต่อสู้โดยใช้ศาสนาและประวัติศาสตร์ในการปลูกฝังจิตวิญญาณ โดยมีชีวิตของคนในสามจังหวัดเป็นตัวประกัน
ต่างฝ่ายต่างต่อสู้ทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ช่วงชิงการนำมวลชน และแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าโดยใช้วิธีการทุกอย่าง ประชาชนในสามจังหวัดจึงเปรียบเสมือนอยู่ระหว่างเขาควาย ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็มีสิทธิถูกทิ่มแทงทั้งสิ้น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐมีอำนาจกำหนดทั้งทางการทหารและการเมือง ยิ่งมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ยิ่งเป็นแรงเสริมให้มีการใช้อำนาจมากขึ้น แต่ดูเหมือนยิ่งใช้อำนาจมากเท่าใดก็ยิ่งเปิดจุดอ่อน คือกลับไปช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายขบวนการมากขึ้นเท่านั้น เพราะข้อสรุปที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ กฎหมายอาจเป็นเครื่องมือในปราบปรามอาชญากรรมและควบคุมสังคมได้ก็จริง แต่สำหรับการต่อสู้กับอุดมการณ์ ความคิด และจิตวิญญาณนั้น การใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างเดียวไม่น่าจะได้ผล
เพราะอีกฝ่ายมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐ แต่สำหรับอีกฝ่ายทั้งความคิดและการกระทำไม่ได้ยอมรับอำนาจรัฐตั้งแต่แรกแล้ว
การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงกำลังจะกลายเป็นสิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ คือทั้งกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประสบกับความล้มเหลว แม้เจ้าหน้าที่จะประกาศมาโดยตลอดว่าประสบความสำเร็จก็ตาม
อันที่จริงแล้วการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในอำนาจรัฐเป็นเรื่องเดียวกันกับความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างบรรยากาศหรือเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกลับเข้ามาร่วมมือกับรัฐ อาจกล่าวได้ว่าเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการในเวลาเดียวกัน
การบังคับใช้กฎหมายที่มุ่งแต่เพียงให้ได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ จึงเป็นการทำลายความชอบธรรมของตัวกฎหมายเอง เพราะการใช้อำนาจของรัฐต้องอาศัยกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อใดที่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง หรือใช้อำนาจตามกฎหมายไปละเมิดสิทธิหรือปฏิบัติจนเกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจที่จะกระทำได้ การกระทำเช่นนั้นไม่ต่างอะไรกับการทำลายกฎหมายที่ให้อำนาจมานั่นเอง
จากการใช้กฎหมายพิเศษที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหามากมาย แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายจะดี แต่ฝ่ายที่นำกฎหมายไปปฏิบัติต้องเข้าใจเจตนารมณ์ ระวังไม่ให้การใช้กฎหมายกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สร้างปัญหาให้คนในพื้นที่ จริงอยู่ที่ว่าหลักการของกฎหมายให้โอกาสกับผู้ที่กระทำความผิดได้มีช่องทางในการเข้าสู่กระบวนการอบรม แทนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เรื่องนี้ควรใช้กับผู้ที่กระทำความผิดจริงแต่หลงผิดเพราะถูกชักจูง หรือได้กระทำเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ ที่สำคัญต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ต้องหาเองด้วย เพราะเป็นสิทธิทางกฎหมายที่คุ้มครองตัวเขาเอง
หากผู้ต้องหาไม่ยอมเข้ากระบวนการ ก็ควรจะยอมรับในการตัดสินใจของพวกเขา ไม่พึงใช้วิธีการคุกคามจนผู้ต้องหาหรือครอบครัวไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ ไม่ควรปฏิบัติต่อผู้ต้องหาโดยไม่ให้เกียรติและไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ยอมเข้าร่วมกับผู้ที่ไม่ยอมเข้าร่วม เพื่อแสดงตัวอย่างให้บุคคลอื่นได้เห็น อันเป็นลักษณะของการบังคับในทางอ้อม
ที่สำคัญต้องใช้กฎหมายฉบับนี้กับผู้ที่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าได้กระทำความผิดจริง ทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร ไม่ใช่ว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด แต่ถูกบังคับให้รับสารภาพหรือถูกซัดทอดจากบุคคลอื่น หรือว่าถูกออกหมายจับอันมาจากข้อมูลการข่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ซึ่งในหลายกรณีเป็นผลสืบเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
และในกรณีที่คนเหล่านั้นขอใช้สิทธิในการต่อสู้คดี รัฐก็ควรเปิดโอกาสหรือให้ความสะดวกกับผู้ต้องหาได้พิสูจน์ความผิดของตนเอง และใช้สิทธิต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอดีตที่ให้บทเรียนมาแล้ว
หวังว่ากฎหมายความมั่นคงจะไม่สร้างปัญหาเหมือนที่ผ่านมา มิฉะนั้นแล้วก็อาจจะต้องมานั่งออกแบบกฎหมายในสามจังหวัดกันต่อไปอย่างไม่จบสิ้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แม่ทัพภาคที่ 4 ถ่ายภาพร่วมกับผู้สำเร็จการอบรมแทนการถูกฟ้องคดี 2 รายแรก อันเป็นกระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เมื่อ 29 ต.ค.2555 ที่ศาลจังหวัดนาทวี
ขอบคุณ : ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เอื้อเฟื้อภาพ