MOU ซื้อข้าว กลวง ! ‘อัมมาร’ สอนภาษาทูตเรียก ตกลงแบบไม่ตกลง
ทีดีอาร์ไอเปิดห้องอบรมสื่อ “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” ดร.อัมมาร ระบุ MOU ซื้อข้าวไทย-จีน ไม่ใช่สัญญา ไม่มีพันธกรณีให้ต้องปฏิบัติตาม แปลกใจจัดพิธีใหญ่โตทำไม ย้ำชัดวันนี้รบ.ติดกับดัก ถอยยาก “ทำต่อก็เจ๊ง เลิกเจ๊งทันที” ลั่นสร้างปัญหาจงแก้ปัญหาเอง
วันที่ 22 พฤศจิกายน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดอบรมสื่อมวลชน เรื่อง "การวิเคราะห์ผลกระทบนโยบายจำนำข้าว และผลกระทบจากกรณีหนังสือด่วนที่สุด จากรมต.คลัง ถึงรัฐบาล:ข้อเท็จจริงที่รัฐบาลไม่อาจมองข้าม" ดำเนินการให้ความรู้และแนะแนวการวิเคราะห์โดย ดร.อัมมาร สยามวาลา ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
ช่วงเริ่มต้น ดร.อัมมาร กล่าวถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนล่าสุดว่า การลงนาม MOU ปกติก็ถือว่า "กลวง" อยู่แล้ว เพราะไม่ได้มีพันธกรณีให้ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะครั้งนี้ ยิ่งถือว่า กลวงเป็นพิเศษ โดยมีตัวแปรสำคัญ คือ ไม่มีระบุ ปริมาณ ราคา ช่วงเวลา แต่อย่างใด ทั้งหมดตนจึงรู้สึกว่า ไม่รู้จะเซ็นไปทำไม หรืออาจเป็นแค่พิธีกรรมเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลไทยก็เป็นได้
“ปกติ MOU ค่อนข้างกลวง เป็นบันทึกความเข้าใจ ไม่ใช่สัญญา ฉะนั้นการสร้างพิธีกรรมขึ้นมาใหญ่โต เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลไทย เขาไม่ได้ตกลงอะไรกัน ภาษาทางการทูตเรียกว่า ตกลงแบบไม่ตกลง ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ผมว่าเอกสารชิ้นนี้ควรเอาไปใส่กรอบวางไว้ห้องรัฐมนตรีได้ แต่จะเอาไปดำเนินเป็นนโยบายไม่ได้ ”
ดร.อัมมาร กล่าวถึงเจตนาของรัฐบาลไทยอีกว่า มีเจตนาขายข้าว แต่ทางรัฐบาลจีนไม่มีเจตนาจะซื้อข้าว โดยที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีแผนระบายข้าว เมื่อไม่มีผลงาน ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามหาผลงาน แม้แต่กระดาษใบนี้ก็อ้างเป็นผลงานได้
จำนำข้าว สานฝันนักการเมือง
สำหรับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ความฝันของนักการเมืองทั้งหลายประสบความสำเร็จ ทำให้ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก และเป็นครั้งแรกที่กลไกลตลาดถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง จากการที่รัฐบาลมีนโยบายซื้อข้าวเปลือกทุกเมล็ด รัฐบาลผูกขาดตลาดข้าวเปลือก ผูกขาดกระบวนการสี จ่ายค่าสี รัฐบาลทำให้ราคาข้าวเปลือกขึ้น โดยราคาข้าวสารไม่วิ่งตาม โดยวิธีการสอดแทรกเงินอุดหนุนผ่านค่าสี
“จุดขายของรัฐบาลบอกตลอดเวลาช่วยชาวนาที่จน ทีดีอาร์ไอได้ใช้เวลาค่อนข้างมากเพื่อจะบอกว่า ชาวนาที่ได้ประโยชน์จำนำข้าว "จน" จริงหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่า ชาวนาจน ได้ประโยชน์จริง แต่ได้ประมาณแค่ 2-3 หมื่นล้านบาท ขณะที่โครงการนี้ขาดทุนกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้งข้าวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาจากชาวนาจน เพราะการรับจำนำ รัฐบาลจ่ายตามจำนวนข้าว ไม่ได้จ่ายตามจำนวนศีรษะของคนจน ชาวนาฐานะดี จึงมีข้าวเข้าโครงการนี้จำนวนมาก”
ส่วนหนังสือด่วนสุด ของกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 18 กันยายน 2555 เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ดร.อัมมาร กล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศไม่เลิกจำนำข้าวเด็ดขาดนั้น ทำให้กระทรวงการคลัง "ปวดหัว" เกิดสภาพคล่อง ‘พร่อง’ ไป เนื่องจากรัฐบาลมีแต่ซื้อเข้ามา ไม่ระบาย
“ที่การกระทรวงการคลังต้องทำจดหมายฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการบอกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ว่า ต้องหาเงินเองแล้ว รัฐบาลไม่ค้ำประกันเงินกู้ รวมทั้งต้องการควบคุมวงเงิน เปรียบเหมือนกุญแจตู้เซฟอยู่ในมือกระทรวงการคลัง ไม่ได้เปิดอ้าซ่าอีกต่อไปแล้ว เป็นงบปลายปิด”
ทั้งนี้ ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เลวร้ายสุด คือ สิ่งที่เลวร้ายกว่าขณะนี้ เมื่อเลิกโครงการจำนำข้าว ใช่จะดีขึ้น ตนไม่เสนอให้รัฐบาลเลิกโครงการนี้ เพราะไหนจะเรื่องราคาข้าวตก ข้าวล้นตลาด ฯลฯ เมื่อรัฐบาลสร้างปัญหาจงแก้ปัญหาเอง เพื่อได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ
“ทำต่อไปก็เจ๊ง เลิกเจ๊งทันที รัฐบาลติดกับแล้ว ถอยไม่ได้ แม้ตู้เซฟอาจจะเปิด แต่อาจไม่มีเงินเหลืออยู่ในตู้เซฟแล้ว กระบวนการทั้งหมดก็จะกระทบ”
นาปรังปีหน้า ตัวใครตัวมัน !
ขณะที่ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงหนังสือกระทรวงการคลัง ต่อโครงการรับจำนำข้าวนั้น วัตถุประสงค์แท้จริงนั้น เพื่อบอกว่า กระทรวงการคลังไม่มีเงิน เงินหมดแล้ว และรัฐบาลจงระบายข้าวที่รักษาไว้ในโกดังอย่างเป็นระบบ
“ขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังวิ่งหาเงินช่วย ธ.ก.ส.อย่างอุดตลุด โดยไปนำเงินของรัฐวิสาหกิจวางแผนจะกู้เพื่อลงทุน ประมาณ 7 หมื่นล้านบาทมาโป๊ะเงินก้อนนี้ ที่เหลือ ธ.ก.ส. ก็ต้องไปกู้เอง โดยรัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน หมายความว่าจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น”
ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ในนาปี ธ.ก.ส. อาจยังไม่เจอกับสภาพคล่องรุนแรง เพราะมีเงินเข้ามาบางส่วน จากการที่รัฐบาลขายข้าวในประเทศได้ แต่สำหรับนาปรัง ปี 2556 ตอนนั้นตัวใครตัวมัน เรื่องสภาพคล่อง
พร้อมกันนี้ ดร.นิพนธ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการที่รัฐบาลคืนเงินค่าระบายข้าวสารจากโครงการรับจำนำ นาปี และนาปรัง 2554/2555 จำนวน 41,950 ล้านบาทนั้น โดยไม่เปิดเผยรายละเอียด เป็นระบบที่มั่วมาก จึงอยากจะถามว่า ชำระค่าข้าวคืน ธ.ก.ส.กองไหน คลังไหน ข้าวชนิดไหน เพราะหากไม่มีการระบุรายละเอียด ประชาชนก็ไม่มีทางรู้ผลกำไร ขาดทุน จากโครงการนี้ รวมทั้งจะปิดบัญชีไม่ได้
ด้านดร.วิโรจน์ กล่าวถึงผลเสียจำนำข้าว เปรียบเหมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า เพราะชาวนาที่ขนข้าวมาที่โรงสีจะพบว่า เหมือนผีหามเข้าป่าช้า ไม่มีทางเลือก ถูกโรงสีกดราคาสูงกว่าราคาตลาดนิดหน่อย อีกทั้งจากการศึกษาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ชาวนาได้ส่วนแบ่งน้อยมาก 10 บาท จาก 100 บาท
“การรับจำนำข้าวทุกเมล็ด โดยไม่มีทิศทางระบายข้าว ยังไม่นับรวมทุจริต ก็ใช้เงิน 3-4 แสนล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมหาศาล”
เอกสารประกอบ:“รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว”