กมธ. พัฒนาการเมืองฯ จี้ กสท.ออกเกณฑ์คุมวิทยุชุมชนปลุกปั่น-หมิ่นสถาบัน
กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จี้ กสท.เร่งออกกติกาคุมวิทยุชุมชนสร้างความแตกแยก-หมิ่นสถาบัน-โฆษณาเกินจริง ‘พ.อ.นที’ แจงยังไม่มีอำนาจสั่งปิด ชี้คลื่นเสียงธรรมต้องอยู่ในกติกา วชช.
วันที่ 21 พ.ย. 55 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย ศรีหล้า เป็นประธาน เรียกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน มาชี้แจงหลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
พ.อ.นที ชี้แจงในประเด็นวิทยุชุมชนว่า การดำเนินงานจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กรอบของแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ.2555 และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555-2559 โดยกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุรายเดิมที่ขอยื่นสัมปทาน คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส ต้องปฏิบัติตามประกาศของกสทช. โดยแจ้งความจำเป็นและรายละเอียดตามสัญญาสัมปทานก่อน เพื่อ กสทช.พิจารณาเห็นชอบให้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการตามระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะดำเนินการได้ ม.ค.56
ส่วนวิทยุชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตทดลองออกอากาศชั่วคราว 7,000 สถานี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพกำลังส่งและอุปกรณ์ทางเทคนิคให้อยู่ในกรอบกฎหมายและป้องกันการรบกวนคลื่นวิทยุด้วยกันเอง รวมถึงคลื่นวิทยุการบินด้วย ขณะที่อีก 700 สถานีที่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการจะต้องหาวิธีควบคุมต่อไป
“วิทยุชุมชนไม่สามารถได้รับใบอนุญาตได้ทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ในแง่ของเทคนิค เพราะการมีวิทยุชุมชนถึง 7,000 สถานี จะทำให้ประชาชนรับฟังวิทยุอื่นไม่ได้ แต่จะให้ปิดสถานีเลยนั้นก็ลำบาก เพราะฉะนั้นต้องจัดเข้าสู่ระบบและพยายามหาคลื่นความถี่ชุดใหม่ ผลักดันวิทยุชุมชนบางส่วนเข้าสู่ระบบดิจิตอล”
ประธานกสท. กล่าวอีกว่า กรณีศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ในฐานะมูลนิธิเสียงธรรมและพระสายวัดป่าทั่วประเทศไม่เห็นด้วยที่กสทช.ออกประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองออกอากาศประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงบังคับให้ผู้ประกอบการวิทยุทั้งรายเดิมและใหม่ลดกำลังส่งเหลือ 500 วัตต์ ลดเสาสูงเหลือ 60 เมตร และรัศมีกระจายเสียง 20 กิโลเมตร โดยอ้างว่าเป็นสถานีวิทยุไม่แสวงหาผลกำไรและมุ่งเผยแพร่ธรรมะแก่พุทธศาสนิกชนนั้น จึงไม่ควรจัดอยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะหลักเกณฑ์ตั้งขึ้นใช้เป็นแผนบังคับการดำเนินงานวิทยุชุมชนทั้งหมด แต่หากยังยืนยันคงต้องยื่นหนังสือให้กสทช.พิจารณาเป็นกรณีไป เพราะหากปล่อยให้สถานีวิทยุมีกำลังส่งมากเกินไป อาจทำให้สัญญาณรบกวนการทำงานของสมองมนุษย์และรบกวนคลื่นการบินได้
พ.อ.นที ยังกล่าวว่า สำหรับมาตรการกำกับดูแลสถานีวิทยุชุมชนที่สร้างความแตกแยกในสังคม หมิ่นสถาบันหลักของชาติ และโฆษณาเกินจริง จะอาศัยกฎหมายตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ดำเนินการเคร่งครัด ผ่านการร้องเรียนของเครือข่ายภาคประชาชน แต่ยังไม่มีอำนาจในการสั่งปิดถาวร เพราะต้องรอการออกหลักเกณฑ์รองรับ ยกเว้นกรณีการสั่งปิด 18 สถานีวิทยุชุมชนที่รบกวนวิทยุสื่อสารคลื่นการบิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางอากาศได้ อาศัยอำนาจตามกฎหมายของพ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.กังวลต่อการออกหลักเกณฑ์การควบคุมวิทยุชุมชนที่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองและหมิ่นสถาบันสำคัญของชาติ เพราะอาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนในท้องถิ่นที่รู้ไม่เท่าทันสื่อได้ ยิ่งกสท. ขาดอำนาจการใช้กลไกในการควบคุม ฉะนั้นจึงควรดึงแนวร่วมภาคประชาชนเป็นหน่วยเฝ้าระวังการกระทำความผิดของวิทยุชุมชน พร้อมจัดตั้งสายด่วนร้องเรียน ทั้งนี้ได้ขอให้ประธานกสท. เร่งจัดส่งแผนแม่บทและแผนดำเนินการทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของวิทยุชุมชนแก่กมธ. ด้วย.