วิพากษ์อนาคตศก.ไทยอีก 5 ปี 'ดี-ดับ' ยุคประชานิยม
หมายเหตุ-นักเศรษฐศาสตร์จากรั้วมหาวิทยาลัย นักวิจัย ข้าราชการและภาคเอกชน ร่วมเสวนาในโครงการ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ Friedrich Ebert Stiftung Thailand (FES) เพื่อวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการ
ไทยจำเป็นต้องเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การวิเคราะห์อนาคตทางเศรษฐกิจจึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน ทั้งในเรื่องโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ การเมือง และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
โดยในส่วนของโครงสร้างสังคม พบว่า ไทยอยู่ในยุคที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัย เนื่องจากพัฒนาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ทำให้มีประเด็นที่ต้องคิดว่า จะใช้ความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงวัยเหล่านี้ได้อย่างไร อีกทั้งเมื่อปัจจุบันพบว่า มีการเปลี่ยนอาชีพ ทำให้การทำงานไม่ตรงกับการศึกษา ส่งผลให้การวางแผนกำลังคนของชาติทำได้ยากขึ้น และนอกจากนี้การสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมโยงและการถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างประเทศ มีผลต่อ ความเชื่อในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ทำได้หรือไม่ควรทำเกิดขึ้น
รศ.ดร.ชโยดม กล่าวต่อว่า ส่วนด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชาติมหาอำนาจ นอกจากน้ำมันจะหมดไปแล้ว ปัญหาความไม่สงบในอิหร่าน อิสราเอลก็จะทำให้โลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ยกตัวอย่างในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ที่เรากำลังพูดขณะนี้ไม่ว่าจะอาเซียน อาเซียนบวกสาม อาเซียนบอกหก รวมถึงเรื่องความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership:TPP) ที่จะเข้ามานั้น มีรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่า ชาติที่สนใจ TPP นั้น อาจจะต้องคำนึงถึงเรื่อง security ด้วย เพราะมีสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง มีอะไรที่เริ่มไปไกลกว่าเศรษฐศาสตร์ เข้ามามีองค์ประกอบสำคัญ
หรือกรณีประเทศที่ไม่ได้อยู่ไกลจากเราเท่าไหร่นัก เช่นกรณีจีน-ญี่ปุ่น ที่มีปัญหาในเรื่องหมู่เกาะ ซึ่งสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ มีการเผาโรงงานของญี่ป่นในประเทศจีน กระทบกระเทือนเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ
ด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หากมองดูความสัมพันธ์ในอาเซียน หรืออาเซียนบวกทั้งหลาย จะพบว่า เครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศจะมีความสำคัญมากขึ้น แต่คงต้องเผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนทางโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น หากไม่มีพลังงานทดแทนเข้ามา ทำให้มองว่าได้ว่าอนาคตการจัดสรรทรัพยากร การผลิตอาจต้องมีการย้ายถิ่นฐาน และที่เราชอบพูดกันว่า จีนและอินเดียจะโตได้อย่างยั่งยืนแค่ไหน ปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นแล้วว่า จีนเริ่มที่จะสะดุด เริ่มที่จะชะลอตัวลงแล้ว
นอกจากนี้ยังต้องมองในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงด้านการดำเนินนโยบายของชาติพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะด้านการเงิน อเมริกาปั้มเงินมหาศาลเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด จนเกิดคำถามว่า ไม่กลัวในเรื่องเงินเฟ้อกันแล้วหรือไม่อย่างไร
รศ.ดร.ชโยดม กล่าวอีกว่า สำหรับอนาคตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ตนอยากสรุปว่า ขี้นอยู่กับการตั้งเป้าหมายของไทยว่า จะให้ความสำคัญกับ GDP Growth, Income Inequality อยู่หรือไม่ หรือจะตั้งเป้าหมายอยู่ที่ความสุข Happiness ซึ่งค่อนข้างมองไปไกลมาก GDP Growth ที่เป็นเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนเดียวเท่านั้น
ขณะเดียวกัน การมองอนาคตของเรานั้น คิดว่าจะมองเฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ และจะมองแค่ประเทศไทยอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ต้องมองประเทศรอบข้างด้วย โดยเฉพาะองค์ประกอบที่เป็นกติกา ข้อตกลงทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ความพร้อมของกฎหมายภายในประเทศไทยที่จะมารองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอย่างไร ความพร้อมของภาครัฐที่จะให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอย่างไร หรือภาครัฐยังให้ความสนใจกับการเมืองภายในประเทศอยู่!
...ซึ่งผมว่า ความพร้อมของเราในเรื่องนี้มีไม่มากนัก
ทั้งนี้ ผมอยากฝากทิ้งท้ายด้วยว่า การเปิดเวทีเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงใดๆ เพราะหากเราอยู่เฉย เปรียบเสมือนกับเรากำลังถอยหลัง ในขณะที่ชาติอื่นๆ ได้มีการเจรจากันไปแล้ว และหากมองภาพการเจรจาให้เป็นบวก การเจรจาก็จะช่วยกระตุ้นในภาคเอกชนคิด พัฒนาตนองไปอย่างรวดเร็ว หากไม่เช่นนั้นภาคเอกชนของเราอาจอยู่นิ่งและคิดว่ารัฐจะปกป้องตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ การเจรจาที่ผมว่านี้ไม่ได้หมายความว่า เจรจาไปแล้วต้องหาข้อยุติได้ หรือต้องยอมเขาเสมอไป
เสนอปฏิรูปภาครัฐ การเมือง ขรก.ต้องมองการณ์ไกล
ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อกาพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ ‘กับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือ middle income trap ค่อนข้างเป็นที่แน่นอน แม้ในอดีตเคยพัฒนาตนเองได้ดี ยกระดับจากประเทศที่ยากจนมาเป็นประเทศระดับกลางได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นไม่สามารถยกระดับที่สูงต่อไปได้ ทำให้ติดกับดัก และหากวิเคราะห์แล้ว จะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาลักษณะเช่นนี้ จะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำ การเสื่อมถอยของทรัพยากรธรรมชาติ สภาวะโลกร้อน (climate change)
สำหรับสาเหตุที่ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ดร.สมชัย กล่าวว่า มีสาเหตุค่อนข้างมาก แต่หากคลี่ปมดูจะพบประเด็นสำคัญๆ เช่น -แรงงานไทยขาดแคลนอย่างรวดเร็วตามโครงสร้างประชากรในอนาคต ทำให้แนวโน้มค่าแรงในระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะการใช้แรงงานต่างชาติราคาถูก เป็นเพียงการต่อลมหายใจชั่วคราวเท่านั้น
-การศึกษา ไม่สามารถผลิตแรงงานคุณภาพที่ตรงกับความต้องการตลาดได้ โดยเฉพาะมีทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยีต่ำ
-การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคยากกว่าแต่ก่อน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนมากขึ้น ตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่รวดเร็วและพลิกผันตลอดเวลา
-นโยบายการคลังก็มีข้อจำกัดจากความสามารถในการจัดเก็บภาษีที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะเจอข้อจำกัดในการใช้จ่ายเพื่อเพิ่ม growth potential ของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure)
-การใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยิ่งเร่งให้ภาครัฐมีข้อจำกัดเร็วขึ้น
-ภาคธุรกิจเอกชนก็อ่อนแอ ขาดการมองการณ์ไกล แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก ไม่สามารถเป็นตัวนำในการลงทุน
-มีข้อจำกัดในการเพิ่มระดับการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจบางประเภท เช่นธนาคาร ธุรกิจตลาดทุน การศึกษาพื้นฐาน หรือมี missing market ในเรื่องที่สำคัญเช่น การพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้มาตรฐานและตรงความต้องการตลาด
ดร.สมชัย กล่าวว่า จากสาเหตุปัญหาดังกล่าว การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องการการคิดใหม่ เพื่อเพิ่ม Long-term growth ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนทางสภาพแวดล้อม ในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจมหภาค
และจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหา ดร.สมชัย เห็นว่า หากจำเป็นต้องเลือก ก็สามารถเลือกได้ให้ 3 ทางเลือก หรือจะทำควบคู่กันสุดแท้คือ 1. ลดการส่งออก ทั้งนี้เพราะการส่งออกมากเป็น ‘อาการ’ ของปัญหามากกว่าสาเหตุ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดี ในขณะที่การส่งออกทำให้ภาคธุรกิจต้องรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพตลอดเวลา
2. ปรับนโยบายอุตสาหกรรม ซึ่งเท่ากับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยวิธีการก็เช่น ลดการปกป้องและผูกขาดในภาคธุรกิจสำคัญ เช่นธุรกิจบริการมูลค่าสูง เพิ่มนวัตกรรมในภาคเกษตร/อาหาร ทั้งนี้เชื่อว่าหากดำเนินนโยบายถูกต้องแล้ว จะช่วยลดการพึ่งพิงการส่งออกได้
3. เพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น เพราะการพัฒนาประเทศจะหวังพึ่งในเรื่องค่าแรงราคาถูกไม่ได้อีกต่อไป แต่ทั้งนี้ เมื่อการปรับขึ้นค่าแรงเป็นการฝืนกลไกตลาด จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ที่สำคัญต้องมีมาตรการอื่นรองรับ เช่นปฏิรูปการศึกษา การฝึกฝีมือแรงงาน ลดการผูกขาด
ขณะที่ หัวใจสำคัญในการจัดการเศรษฐกิจประเทศไทย ดร.สมชัย เห็นว่า ต้องจัด ‘องคาพยพ’ (institutions) ในการจัดการเศรษฐกิจประเทศไทยเสียใหม่ โดยการปฏิรูปภาครัฐ การเมือง ราชการ ต้องมองการณ์ไกลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถระดมสรรพกำลังและเดินตามแผนงานที่วางแนวทางไว้อย่างชัดเจนได้ ในขณะเดียวกันหากจะมีการแทรกแซงเกิดขึ้น ก็ต้องแทรกแซงอย่างชาญฉลาด มีจังหวะและระยะเวลาหยุดที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าสุดท้ายแล้ว ภาคธุรกิจจะยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้จริงๆ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือภาครัฐเอกชนให้เกิดขึ้นด้วย
ปรับปรุงการศึกษา-เพิ่มผลิตภาพภาคบริการ
ขณะที่ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ธนาคารโลก กล่าวถึงสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถลดความยากจนจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว สัดส่วนคนจนเมื่อปี พ.ศ.2537 อยู่ที่ประมาณ 20% ของคนทั้งประเทศ แต่ในปี พ.ศ.2553 สัดส่วนคนจนกลับลดลงเหลือเพียงแค่ 7.75% เท่านั้น
ทั้งนี้ แม้จะสามารถลดความยากจนลงได้ แต่ ดร.กิริฎา กลับระบุว่าปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยยังคงปรากฏอยู่ เนื่องจากพบว่า สัดส่วนของรายได้ประชาชนกลุ่มที่รวยที่สุด20% แรกของประเทศและกลุ่มที่จนที่สุด 20% ของประเทศ มีสัดส่วนรายได้ห่างกัน 7-8 เท่า และหากวิเคราะห์เป็นรายภาคจะพบว่า ภาคเหนือ มีความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุด รองลงมาคือภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ ประการสำคัญ ผลการศึกษายังพบว่า ในภาคที่มีความเหลื่อมล้ำสูง โอกาสและผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สาธารณะสุข การคมนาคม จะออกมาแย่ กว่าภาคที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ
ดร.กิริฎา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ซึ่งหากไทยต้องการหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง และมีการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม เห็นว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงในเรื่องการศึกษา กำลังแรงงานของไทยต้องมีทักษะและองค์ความรู้ เพื่อสามารถประกอบกิจการทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ รวมถึงต้องยกความสามารถในการผลิตของภาคบริการไทยให้สูงขึ้น เนื่องจากพบว่า ภาคบริการของไทยเป็นภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่ มีการจ้างงานในอัตราสูง แต่กลับมีผลิตภาพต่ำกว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
ประชานิยม สร้างระบบผูกขาด
ปิดท้ายที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงโอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ.2560 ว่า ต้องมองเป็น 2 ส่วนคือ ผลกรรมของเหตุการณ์ปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
ซึ่งผลกรรมที่ว่านี้ ตนคิดว่ามากจากกรณีที่นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยกำลังถูกสั่นคลอน มีความไม่มั่นใจในเรื่องทิศทางการเงินว่า ควรจะฟังใคร ที่ไหน อย่างไรดี และถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้คิดว่านโยบายการเงิน น่าจะบริหารยากกว่าเดิมแน่นอน ขณะเดียวกันนโยบายการคลัง สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องวินัยทางการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณที่ไม่ถูกตรวจสอบ หรือตรวจสอบได้ยาก เรื่องนี้อาจเป็นปัญหากัดกร่อนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบัน และขยับไปถึงอนาคตได้หากทิศทางยังเป็นแบบเดิม
ส่วนด้านนโยบายเศรษฐกิจจุลภาค รายสาขา ภาพที่เห็นในขณะนี้เหมือนกับว่า นโยบายเศรษฐกิจรายสาขา กำลังไปสร้างอำนาจการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น นโยบายด้านพลังงาน ด้านโทรคมนาคมมีผู้เล่นน้อยราย คำถามคือ บทบาทของรัฐในการกำกับดูแลนโยบายตรงนี้เป็นอย่างไร
และที่น่าสนใจไม่ต่างกันคือ นโยบายจำนำข้าว นอกจากมีผลกระทบ ทำลายโครงสร้างตลาดแล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ กำลังจะกลายเป็นว่านโยบายด้านการเกษตร กำลังกลับไปสู่ทิศทางที่สนับสนุนให้มีการผูกขาดในระบบมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร มีบริษัทผู้ค้าข้าว ส่งออกข้าวรายใหม่เกิดขึ้นมา และเหลือเชื่อว่าใช้เวลาไม่นานก็จะกลายเป็นผู้ส่งออกระดับนำได้
ทั้งนี้ เมื่อนโยบายด้านการเกษตร พลังงานซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของเราถูกผูกขาดมากขึ้น ก็เป็นภาพที่น่าอันตรายในอนาคต
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำนั้น แม้มีข้อดีอยู่ แต่ที่ต้องพึงสังเกตถึงผลกระทบในระยะสั้นด้วย เอสเอ็มอี จะล้มหายไปมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ โดยส่วนตัว คิดว่านโยบายทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันมีผลกระทบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจพอสมควร
ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า ในภูมิภาคจะมีการสร้างสมดุลใหม่ น้ำหนักจะเปลี่ยนไปบ้าง ลาว กัมพูชา พม่า จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยดูเหมือนหาทิศไม่เจอว่า เราจะขยับไปทางไหน ประเทศไทยอาจประมาท
“รัฐบาลอาจมีความเชื่อมั่นในระบบการเมือง เศรษฐกิจที่บริหารโดยคนกลุ่มน้อย ซึ่งแม้จะมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง ควบคุมทิศทางได้ แต่ถามว่าตรงนี้น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอุปถัมภ์ ขณะที่ประชานิยมทำให้การพึ่งพากันระดับฐานล่างน้อยลง พึ่งนักการเมืองโดยตรงมากขึ้น” รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าว พร้อมมองว่า สังคมไทยต้องก้าวข้ามตรงนี้ไปให้ได้ จะทำอย่างไรให้คนระดับล่างเข้าใจ มีการนำเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะมากขึ้น มีนโยบายการกำกับดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการกระจายอำนาจมากขึ้น