เวทียูนิเซฟ ระบุ ‘ตำรวจ’ จับเด็กแถลงข่าว ละเมิดซ้ำสิทธิเด็ก
เสวนายูนิเซฟเผยแนวโน้มสื่อละเมิดสิทธิลดลง ชี้ควรเลี่ยงใช้คำส่งผลทางอารมณ์ หยุดทำให้เด็กอยู่ในสมรภูมิข่าว ฉะเด็กไม่ใช่ยาบ้าที่จะจับเรียงเม็ดถ่ายรูป
วันที่ 20 พ.ย. 2555 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดมอบรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ประจำปี 2555 พร้อมจัดเสวนา 'สิทธิเด็กในสื่อมวลชนไทย' มีน.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และดร.ธีรารัตน์ พันทวี ที่ปรึกษาสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค
น.ส.เข็มพร กล่าวว่า สื่อมวลชนมีอิทธิพลในการนำเสนอข่าวจรรโลงสังคม ซึ่งระยะหลังได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเด็กมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเด็กไร้สัญชาติ เด็กแรงงานต่างด้าว จนสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนและกฎหมายในสังคมไทยได้ เช่น กรณีนำเสนอข่าวน้องหม่อง เด็กชายสัญชาติพม่า จนสามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษที่ญี่ปุ่นได้ แม้จะไม่ถือสัญชาติไทยก็ตาม อันแสดงถึงการยอมรับในสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกัน หรือการนำเสนอข่าวเด็กขาดสารอาหารในไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน ทั้งที่ไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก จนสร้างความตระหนักแก่ภาครัฐในการส่งเสริมสารอาหารที่ครบถ้วนแก่เด็ก และกลายเป็นโครงการกองทุนอาหารกลางวันในโรงเรียนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามยังพบการละเมิดสิทธิเด็กของสื่อมวลชนอยู่ ซึ่งเกิดจากหลายคนไม่มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งที่การแก้ปัญหาที่ดีควรนำเสนอข่าวให้คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบที่เด็กจะได้รับเป็นหลัก โดยเลือกนำเสนอแง่มุมที่สามารถแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ มิใช่เมื่อเกิดเหตุการณ์คิดเพียงไล่เด็กออกจากสถานศึกษา เพราะอย่าลืมว่าเด็กเป็นผู้ถูกกระทำที่ขาดทักษะความรู้ ฉะนั้นต้องมีองค์กรที่คอยควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพและกฎหมายอย่างเป็นกลาง เพื่อเด็กจะได้รับสื่อที่ดีต่อไป
"บางคนอาจบอกว่าเด็กเต็มใจให้สัมภาษณ์ เราจะอ้างความเต็มใจของเด็กไม่ได้ เพราะเด็กอาจมองไม่เห็นว่าอีกหลายปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น หรือเกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ แม้จะปิดหน้าปิดตาก็ตาม แต่ก็จำเสียงได้ ดังนั้นสื่อมวลชนต้องให้ความสนใจบริบทแวดล้อมมากกว่าปรากฏการณ์" น.ส.เข็มพร กล่าว
ด้านนายธาม กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2552 สถานการณ์ละเมิดสิทธิเด็กในสื่อมีแนวโน้มลดลง นับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น ผู้สื่อข่าวเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กมากขึ้น ทุกวันนี้ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเด็กที่มีการละเมิดมากที่สุด คือ เรื่องเอกลักษณ์บุคคล ทั้งชื่อ สกุล โรงเรียนและครอบครัว รวมทั้งในหลักมิติทางอารมณ์ ที่มักตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์เมื่อตกเป็นข่าว โดยมองว่าเด็กเป็นแหล่งข่าว เป็นอาชญากร ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดตั้งแต่วิธีการเขาไปทำข่าว ฉะนั้น นักข่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้คำเรียกที่ส่งผลทางอารมณ์ เช่น นักเรียน นักเลง
"ทุกวันนี้เด็กถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อสื่อคุ้นชินกับวัฒนธรรมการละเมิดด้านอื่นๆ ภายในประเทศ อีกภาคส่วนที่สำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังและเป็นผู้จัดฉาก ได้แก่กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ โรงพยาบาล ที่มักจับเด็กมานั่งใส่หมวกปิดหน้าแล้วแถลงข่าว ทั้งที่เป็นสิ่งที่ผิดต่อ พ.ร.บ.สิทธิเด็กฯ ทำให้เด็กตกอยู่ในสมรภูมิข่าว กลายเป็นตัวแสดง และกลายเป็นหลักฐานของการจับกุม ทั้งที่เด็กไม่ใช่ยาบ้าที่จะมาจับเรียงเม็ดแล้วถ่ายรูป" นายธาม กล่าว และว่า สื่อต้องไม่ทำให้เด็กและผู้ชมเชื่อว่า ทุกสิ่งในจอโทรทัศน์เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรปฏิบัติตาม นอกเหนือจากสื่อ บริบทแวดล้อมทั้ง กระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ต้องมีกรอบ มีหลักเกณฑ์เพื่อปกป้องสิทธิความเป็นเด็กมากกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่ดร.ธีรารัตน์ กล่าวว่า มีคำกล่าวที่ว่า ผู้ใดคุมสื่อ ผู้นั้นคุมความคิดของคนในสังคม สะท้อนให้เห็นว่า คนเห็นความสำคัญของสื่อ และสื่อมีอิทธิพลสูงมาก แต่ไมได้หมายความว่า ทุกคนในสังคมทราบถึงอิทธิพลนี้ อันเป็นที่มาของปัญหาในสังคมที่เกิดจาก ความไม่รู้ ความรู้ไม่จริง รู้ไม่เท่าทันสื่อ และรู้แต่ไม่นำพา
"ในสังคมปัจจุบันทุกคนล้วนเป็นสื่อโดยไม่รู้ตัว ผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย เท่ากับว่าทุกคนล้วนเป็นผู้ทรงอิทธิพลในสังคม ทำให้คุมกันยากขึ้น เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลักในสังคมที่ทุกวันนี้ก็ทำงานด้วยความไม่รู้ ขาดข้อมูลด้านสิทธิเด็ก ทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.สิทธิเด็กฯ ปี 2546 จะเห็นได้ว่าผู้สื่อข่าวจึงมีกกระโจนเข้าหาเด็กในฐานะที่เป็นเหยื่อ จำเลย และผู้ถูกกระทำทันที เพื่อให้ข่าวขายได้ แต่หลักคิดง่ายๆ สำหรับการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก คือ สิ่งที่ไม่ควรทำกับเด็กและเยาวชนให้นึกว่าเด็กนั้นเป็นลูกหลานของตนเอง"
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวต่อว่า เสรีภาพของสื่อ จะต้องยึดหลักว่าต้องมีขอบเขต ไม่ใช้เสรีภาพไปละเมิดสิทธิของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสื่อเล็กสื่อใหญ่ สื่อเก่าหรือสื่อใหม่ การนำเนอข่าวต้องไม่ทำให้กระทบทั้งสังคมและทางจิตใจของเด็ก สถาบันและองค์กรควบคุม ก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้สื่อมีประสิทธิภาพ
"เด็กแต่ละช่วงวัยมีความรู้เท่าทันสื่อไม่เท่ากัน แต่ล้วนต้องการการพัฒนาที่ถูกที่ถูกทาง ที่คนในสังคมต้องพิถีพิถัน ทุกอย่างที่สื่อถึงเด็กไม่ว่าจะผ่านช่องทางใดต้องเป็นของดีมีคุณภาพ ช่วยพัฒนา ไม่ละเมิด หรือทำให้เสื่อมเสีย สื่อจึงต้องสร้างความรู้ในสังคม มีวุฒิภาวะเพียงพอ มีสำนึกที่ดี และคนในสังคมต้องเข้มแข็งขึ้น ทั้งสื่อและผู้เสพสื่อต้องตั้งคำถามกับตนเองว่านำเสนอข่าวและเสพข่าวแต่ละชิ้นแล้วได้อะไร" ดร.ธีรารัตน์ กล่าว และว่า องค์กรที่ควบคุมและดูแลกำกับนโยบาย ทั้ง รัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี กสทช.และองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ไม่รู้ต้องทำให้เขาใจ ผิดต้องแก้และทำให้เป็นตัวอย่าง
"จากนี้ต้องสร้างพื้นที่สื่อดี เพื่อผลักดันสังคมสีดำ สร้างน้ำดี ผลักดันน้ำเสีย สร้างสังคมคุณภาพให้เพิ่มมากขึ้น สนับสนุนและให้รางวัลกับคนทำดี ทั้งนี้ สังคมต้องเรียนรู้ว่าผู้ละเมิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย"