ครม.เคาะค่าจ้าง 300บ.ทั่ว ปท.1ม.ค.56-สอท.ชงเยียวยาผู้ประกอบการ
ครม.ไฟเขียวค่าจ้าง 300บ.ทั่วปท. 1 ม.ค.56 อนุมัติจำนำมันสำปะหลัง 10 ล้านตัน เลื่อนเก็บภาษีดีเซล สอท. เคาะมาตรการช่วยผู้ประกอบการลดผลกระทบค่าจ้าง ประธานระบุเสียงแตกเป็นธรรมดาองค์กรใหญ่
วันที่ 20 พ.ย.55 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ทั่วประเทศที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ม.ค.56 โดยมอบให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้กับภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)
ขณะเดียวกันได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กู้เงินในประเทศประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 4 พันล้านบาท เพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่ครบกำหนด โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน พร้อมทั้งเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ในปี 2565 โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ได้เห็นชอบให้การเคหะแห่งชาติกู้เงินประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 17,400 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนและชำระหนี้เดิม ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ
ครม.ยังอนุมัติเป้าการจำนำมันสำปะหลัง 10 ล้านตันโดยอนุมัติวงเงิน 39,825 ล้านบาท ในโครงการแทรกแซงราคามันสำปะหลัง ตั้งแต่ 1 ธ.ค.55 - มี.ค.56 และเห็นชอบขยายเวลาการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย. ออกไปจนถึงสิ้นปี 2555 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
วันเดียวกัน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) กล่าวภายหลังการประชุมระดมความคิดเห็นผลกระทบและเสนอแนวทาง มาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท 1 ม.ค.ปีหน้า ว่าได้รวบรวมมาตรการเยียวยาจากผู้ประกอบการ ทั้ง 5 ภูมิภาค โดยมีข้อเสนอ สอท.ต่อรัฐบาล ได้แก่
1.มาตรการบรรเทาและเยียวยา 1.1จัดตั้งกองทุนการจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ 1.2มาตรการลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด(Cash Expenses) ประกอบด้วย ลดเงินสมทบประกันสังคม ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเหลือฝ่ายละ 2.5% เป็นเวลา 3 ปี ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษีได้ 2 เท่า คืนภาษีขาย VAT 7% ทันที 3 ปี (เฉพาะ SMEs) ลดภาษี โรงเรือน ภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ 50% เป็นเวลา 3 ปี 1.3มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ไม่ใช่สินเชื่อ) 50% เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตให้ทันสมัย 1.4 มาตรการด้านภาษี(ตาม พรบ.ของกระทรวงอุตสาหกรรม) การขยายฐานภาษีนิติบุคคลสำหรับ SMEs ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เป็น 0.1%
2.ควรมีเกณฑ์ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เหมาะสมเชิงพื้นที่ ตามจังหวัดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากก่อน 80-90% จำนวน 29 จังหวัด 70-79% จำนวน 25 จังหวัด 60-69% จำนวน 11 จังหวัด 50-59% จำนวน 5 จังหวัด อุตสาหกรรม รัฐควรช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นก่อน เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เป็นต้น ขนาดโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง
"การปรับขึ้นค่าแรง เป็นนโยบายหลักที่รัฐบาล ใช้ในการหาเสียง เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องต่างๆของผู้ประกอบการอาจไม่ได้รับความสนใจ แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยา เนื่องจากผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี หลายแสนราย ต่างได้รับผลกระทบ และเรื่องนี้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ"
ที่มาภาพ ::: http://www.rsunews.net/index.php/news/detail/428