ปาฐกถา… ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จับชีพจร ศก.ไทย อาการน่าเป็นห่วง !!
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “หนทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ยั่งยืน” ในเวทีสัมมนา Symposium “การลดความเหลื่อมล้ำ” ในโอกาสการจัดงานเฉลิมฉลองหอการค้าไทย ครบ 80 ปี ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด กล่าวถึงประเทศไทยตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี 2504 จากวันนั้นถึงวันนี้ 50 ปี โดยวันที่เริ่มต้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) อยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น วันนี้ GDP มีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท
เมื่อปี 2504 รายได้ต่อหัวต่อคนของคนไทย อยู่ที่ 2-3 พันบาทต่อปี วันนี้รายได้ต่อหัวต่อคนโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 1 แสนบาทต่อปี
“ประเทศไทยได้ชื่อว่า มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน เป็นหนึ่งใน 6 ประเทศในโลกนี้ ที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยมากเกินกว่า 5% ได้มากกว่า 4 ทศวรรษ และเป็นเพียง 1 ใน 7 ของประเทศที่สามารถมีการเติบโตเกิน 5 % ต่อเนื่องมากว่า 25 ปี”
เมื่อมองจากภาพนี้ เราจะเห็นว่า ประเทศไทยนั้นก้าวมาไกลมาก ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นโดยลำดับ มีคนถามว่า อะไรเป็นเหตุสำคัญให้ไทยเติบโตได้ขนาดนี้
"ในความเห็นของผม การส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ การทำคัตเตอร์ของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้มีความสามารถในเชิงแข่งขัน การทำ FTA คือสิ่งสำคัญ และเมื่อมองไปข้างหน้า AEC กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ผมมองเป็นโอกาสของคนไทย ไม่ว่าภาคธุรกิจหรือประชาชน มองไปข้างหน้าราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่ดี เพราะความขาดแคลน ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า เราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้อย่างไร ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด"
ส่งสัญญาณศก.ไทยไม่ยั่งยืน
ขณะที่เรามองไปข้างหน้าเราเห็นโอกาส อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อมองกลับหลังมา เราก็เห็นหลายๆ สิ่ง มีอาการสะท้อนว่า บางสิ่งบางอย่างเริ่มไม่ถูกต้อง บางสิ่งบางอย่างกลายเป็นจุดอ่อนของประเทศไปเสียแล้ว
มีคำถามเกิดขึ้นมาว่า การเติบโตกว่า 50 ปี นั้น เราจะรักษาการเติบโตเหล่านี้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร เพราะมีอาการหลายอย่างที่เริ่มบอกว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ยั่งยืน
ยกตัวอย่างง่ายๆ อดีตเราเน้นส่งออก ไม่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ การส่งออกนั้นช่วยสินค้าไทยติดตลาดโลกได้ แล้วนำสิ่งนั้นมากระตุ้นการเติบโตจากภายใน แต่เมื่อเรา "โหม" พึ่งแต่การส่งออก พอเศรษฐกิจโลกตกสะเก็ด มีปัญหา สัญญาณเริ่มชี้แล้วว่า การส่งออกไทยมีปัญหา ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่สร้างการเติบโตให้กับประเทศ
....เราจะเอาอะไรมาทดแทน ?
หรือจะหันกลับมาอาศัยตลาดในประเทศ ซึ่งก็มีคำถามว่า ตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา เราละเลยกับการสร้างความเข้มแข็งภายใน ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน เกษตรกรยากจน แล้วตลาดในประเทศจะสามารถรองรับ หรือทดแทนการส่งออกได้อย่างไร ?
“การสร้างตลาดในประเทศให้มีอำนาจซื้อทดแทนการส่งออก ไม่ใช่การแจกเงินให้คนบริโภค เพราะสิ่งเหล่านั้นบริโภคไปแล้วก็หมดไป มันไม่ได้สร้างฐานอะไรเลยในอนาคตข้างหน้า"
ขณะที่เรามุ่งเน้นการเติบโต เน้นภาคอุตสาหกรรม แต่ภาคเกษตรซึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ที่นี่ เราละเลยการปฏิรูป เราละเลยการสร้างความเข้มแข็งอย่างจริงจัง ความเหลื่อมล้ำ ก็เริ่มปรากฏ สถิติฟ้องว่า ยิ่งเราโตเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำก็มีมากเท่านั้น ไม่เฉพาะประเทศไทยขณะนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ผลิตสินค้า เน้น“เอาง่ายเข้าว่า”
ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด กล่าวถึงสัญญาบางตัว ที่เราผลิตสินค้าเพื่อส่งออก แต่ความง่ายของการผลิตสินค้าที่เน้นส่งออกอย่างเดียว โดยไม่พยายามพัฒนาสินค้า จึงมีผลทำให้สินค้าส่งออกไทยมีปัญหา แพงขึ้น เพราะต้นทุนสูงขึ้น และไม่สามารถแข่งสินค้าระดับบนได้ เพราะไม่มีการพัฒนาเชิงวิทยาการ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีดีไซต์ เรื่องเหล่านี้ ต้องอาศัยการสร้างเป็นเวลาสิบๆ ปี จู่ๆ จะให้เคลื่อนไปสู่การผลิตสินค้าระดับสูง จึงไม่ใช่ของที่ทำได้ภายใน 1-2 ปี
“ผลผลิต เช่น ข้าว ควรทำข้าวให้มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่าขึ้นมา ใช่ทำปีนี้ ปีหน้าได้ อย่างน้อยคุณต้องมีความเป็นเอก เรื่องเทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับข้าว ในเมื่อเราคุยนักคุยหนาว่า เราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ทำไมผลิตภาพการผลิตของเราสู้เวียดนามไม่ได้”
พบอาการของโรค เยาวชนไทยอ่อนแอ
ประเด็นทางด้านสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนนั้น อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า ประเทศจะเข้มแข็งในอนาคตข้างหน้าได้ เยาวชนของเราต้องเข้มแข็ง แต่วันนี้เยาวชนของเราสอบเทียบโอเน็ต พีเน็ต ตกเกือบทุกหมวด เยาวชนไทยวันนี้ชอบสิ่งมัวเมา ชอบความสนุกสนาน ไม่คิดถึงอนาคต ไม่คิดถึงสังคม เสี่ยงต่อการติดยา มีอัตราการท้องก่อนวัยอันสมควรสูงเป็นลำดับแรกๆ ของโลก
“เวลาสำรวจการคอร์รัปชั่นเป็นอย่างไร เยาวชนไทยส่วนใหญ่รับได้ หากโกงแล้วเราได้ดีด้วย สิ่งเหล่านี้มันเป็นอาการของโรค ที่มันเกิดขึ้นมาควบคู่กับการอยู่ดีกินดี การเจริญเติบโตทางวัตถุ ขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็สอนไม่ทันโลก เห็นได้จากการเรียนการสอน แบบเรียนการสอน กับสิ่งที่ต่างประเทศกำลังอบรมสั่งสอนเด็กของเขาอยู่ จุดเริ่มต้นขั้นที่ 1 เราก็แพ้แล้ว
หากการศึกษาของเราไม่ดีพอ ไม่เข้มแข็งพอ ไม่ทันสมัยพอกับโลกข้างหน้า เราจะเอาอะไรไปแข่งขันกับชาวโลก สัญญาณเหล่านี้เป็นอันตรายที่บอกเราว่า บางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง บางสิ่งบางอย่างต้องแก้ไข ต้องทำบางสิ่งบางอย่างให้เติบโต และมีความเจริญในอนาคตอย่างยั่งยืนให้ได้”
ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ยั่งยืน อย่างน้อยมีเงื่อนไข 3 ประการ 1.ต้องสมดุล 2.ต้องมีความพอดี สมเหตุสมผล ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และ 3.ภูมิคุ้มกัน ที่ดีที่สุด รากต้องแข็งแรง
“ในอดีตเราเอาง่ายเข้าว่า อยากให้ GDP เพิ่ม เราก็ระดมทุกอย่างเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย แล้วส่งออก การโหมเอาความง่ายเข้าว่า ไม่พัฒนาเทคโนโลยี ไม่พัฒนาวิชาการ ผลคือ เมื่อมีการเพิ่มต้นทุนต่อหน่วยเพียงเล็กน้อย บางรายก็อยู่ไม่ได้
ขณะที่ภาคการเกษตรทั้งภาค ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนใหญ่ของ GDP ค่อยๆ ถดถอย เหลือ 7-8% ของ GDP โดย 2 ใน 3 ของประชากรไทย หรือกว่า 40 ล้านคนเป็นแรงงานภาคเกษตร แปลว่า เค้กก้อนนี้ถูกแบ่งโดยคน 40 ล้านคน!!
ที่บอกว่า... ประเทศไทยมีการจ้างงานเกือบเต็มที่ จริงๆ ตัวเลขนั้นหลอก แสดงว่า ประชาชนกว่า 40 ล้านคน มีการว่างงานแฝง หากเราเพิ่มศักยภาพเต็มที่จะต้องไม่ใช่ตัวเลข 7-8% ต่อ GDP
"ทรัพยากรมนุษย์เป็นสมบัติ ไม่ใช่ภาระของชาติ แต่วันนี้คน 40 ล้านคน ความยากจนของเขากลับเป็นภาระของประเทศ"
ส่วนการพัฒนาแบบรวมศูนย์ การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางนั้น ก็ทำให้เงินสู่ท้องถิ่นเหลือกระปิดกระปอย งบประมาณแผ่นดิน 2 ล้านล้านบาท จำนวนมหาศาล แต่ไปซ้ำซ้อนตามกระทรวง ต่างคนต่างทำ ทำอย่างไรถึงจะเชื่อมระหว่างกระทรวง โครงการต่างๆ เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง แล้วเราจะมีเงินเหลือพอ
อีกทั้งการที่มหาวิทยาลัยกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ สาธารณสุขเข้าไม่ถึงคนต่างจังหวัด เพราะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ นั้นก็แตกต่างจากประเทศจีนที่ขณะนี้กำลังเปลี่ยนโมเดลจากการกระจุกตัวสู่การกระจาย
ทำไมเราถึงคิดไม่เป็น เพราะสิ่งเหล่านี้พอเกิดขึ้นมากขึ้นๆ คนย้ายจากชนบทสู่ในเมือง รายได้ไม่เพิ่มขึ้น มีเงินออมไม่พอ ไม่มีเงินใช้จ่าย ไม่มีเงินส่งบุตรหลานเรียนหนังสือ ไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาล ความเหลื่อมล้ำนับวันยิ่งถ่างตัวออกๆ
มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Price of Inequality หรือ ราคาของความไม่เท่าเทียม เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มีการระบุว่า สหรัฐฯ ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดขณะนี้มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก หลายสิ่งหลายอย่างของนโยบายรัฐบาล ออกมาเพื่อคนรวยที่สุด 1% ทำให้เกิดการเรียกร้องจากคน 99% ว่า บางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง
เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 คนก่อคือ ธนาคาร คนรวย แต่คนที่กระทบคือคนยากจน ไม่มีบ้าน ตกงาน แล้วก็เริ่มชุมนุม เรียกว่า “ขบวนการยึดวอลล์สตรีท” (Occupy Wall Street) ไม่เพียงแค่สหรัฐฯ เท่านั้น ยังลุกลามไปอีกหลายประเทศ
บางสิ่งบางอย่างประชาชนลุกขึ้นมาบอกว่า บางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง ถึงเวลาแก้ไข
โจเซฟ สติกลิตซ์ ยังเปรียบ ประชานิยมขยายตัว เหมือนการรดน้ำที่ใบ ไม่รดน้ำที่ราก ต้นไม้ไม่โต ไม่แข็งแรง วันหนึ่งต้นไม้นี้ก็ต้องตาย
หัวใจแก้เหลื่อมล้ำให้คนได้มีโอกาส
“ในเมืองไทยเราเห็นว่า มีอาการ ถึงเวลาเข้าไปแก้ไข อดีตที่ผ่านมาเน้นแก้ไขความไม่เท่าเทียมที่รายได้ หัวใจต้องแก้ไขที่โอกาส ให้คนเข้าไม่ถึงได้มีโอกาส ทั้งโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีอย่างทั่วถึง มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาล โอกาสสร้างตัว ซึ่งก็ยังไม่พอ เพราะ "โอกาส" แม้จะเท่ากันแล้ว แต่ "ความสามารถ" ของแต่คนไม่เท่ากัน
ฉะนั้น จะทำอย่างไรถึงจะสามารถพัฒนาความสามารถของคน โดยเฉพาะคนยากจน ควบคู่ไปด้วย โดยการพัฒนาประเทศ เน้นการพัฒนาที่โอกาส ความสามารถ ให้มีทักษะเพื่อไปประกอบอาชีพ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
การช่วยคนจน โดยการให้เงินสม่ำเสมอในช่วงสั้น อาจดูดี เป็นความเห็นอกเห็นใจ แต่ในระยะยาวแล้ว เขาเหล่านั้นไม่มีทางเลยที่จะแข็งแรงได้ หากลูกหลานไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งการขจัดความเหลื่อมล้ำ ทำได้โดย 1.ให้ลงทุนในเยาวชน เพราะเยาวชนคืออนาคต 2.การช่วยด้านสวัสดิการประชาชน อย่าหว่านไปทั่ว ให้ดูว่าตรงไหนต้องการอะไร โดยเฉพาะที่ยากจนที่สุดให้ซอยความช่วยเหลือลงไปสู่คนกลุ่มเหล่านั้น"
เน้นรดน้ำที่ใบ รากก็ไม่แข็งแรง
นอกจากการช่วยเหลือเหล่านี้แล้ว ตัวการสำคัญ คือนโยบายรัฐบาล เพราะสามารถเลือกได้ทำอะไรที่จะไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ หากเลือกการพัฒนาแบบกระจุกตัว ภูมิภาคก็ไม่ได้ประโยชน์ หากเน้นการรดน้ำที่ใบ ราก็ไม่แข็ง คนจนยืนขึ้นมาไม่ได้
ทั้งนี้ อดีตรองนายกฯ ยังขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็ขอให้ภาคเอกชนลุกขึ้นมาส่งเสียงให้ดังให้ภาครัฐเน้นนโยบายที่นำไปสู่การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการคอร์รัปชั่น หัวใจสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่คนมองข้ามไป
"การคอร์รัปชั่นทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล การคอร์รัปชั่นนำไปสู่การบิดเบือนนโยบาย ไปสู่พวกพ้อง ญาติโกโหติกา คนรู้จัก เพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่าง เป็นการกระจายทรัพยากรไปสู่กลุ่ม ซึ่งไม่ควรที่จะได้ นโยบายภาครัฐจะถูกบิดเบือนไปมาก ไม่สร้างความเติบโตที่เท่าเทียม แต่เป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้ถี่ห่างมากยิ่งขึ้น"
สุดท้ายศาสตราภิชาน ดร.สมคิด ทิ้งท้ายว่า เราควรให้ความสำคัญที่รากฐาน เริ่มตั้งแต่การอบรมสั่งสอนเด็ก เยาวชน ให้รู้จักดีชั่ว มีครอบครัวที่อบอุ่น เข้มแข็ง ขณะทีชุมชนก็ต้องสามารถช่วยตัวเองได้ ภาคเอกชน พัฒนาให้มีความสามารถทางการแข่งขัน มีธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส
สำคัญที่สุด นโยบายภาครัฐ เพราะสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ แต่หากภาครัฐไม่เน้นการให้ความสำคัญที่การสร้างรากฐาน เน้นโยกย้ายบุคลากร ขาดความโปร่งใส ก็เหมือนเสาบ้านที่เริ่มผุ อะไรๆ ก็จะตามมา โดยสิ่งที่จะตามมานั้นก็คือ สมรรถนะบกพร่องทั้งประเทศ ประเทศแข่งขันไม่ได้ ภาครัฐไม่เข้มแข็ง รัฐวิสาหกิจแบกหนี้ ผูกขาด แต่ไม่พัฒนา จะไปพัฒนาก็สร้างม็อบเป็นภูมิคุ้มกัน เอกชนไม่ทำตัวเองให้เข้มแข็ง ประชาชนไม่พัฒนาตัวเอง เด็กไม่มีการศึกษาที่ดีพอ ก็จะเกิด สมรรถนะบกพร่องทั้งประเทศ….