“หม่อมอุ๋ย”ชี้ปท.เจ๊งก่อนจำนำข้าว-“นิพนธ์”บี้รบ.เปิดข้อมูล ชี้“ไม่ใช่เงินทักษิณ”
เสวนาจำนำข้าวระอุ! ชี้เดินหน้าต่อไทยเจ๊งยับ “นิพนธ์” จี้รบ.เปิดข้อมูลขายข้าว ชี้ไม่ได้ใช้เงินทักษิณ “หม่อมอุ๋ย” เตือนซ้ำรอยกรีซ เผยร้อง ป.ป.ช.จับโกงเป็นร้อยคดี เตรียมสาวเส้นทางการเงินหาคนผิด
วันที่ 19 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดอภิปราย “นโยบายจำนำข้าว เจ๋ง เจ๊า เจ๊ง ?” โดยเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ และ ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาเป็นวิทยากร โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ
ขายข้าวหมดยังขาดทุน 1.7 แสนล้าน ขายไม่หมดยิ่งเจ๊ง
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าว คงจะมีแต่ “เจ๋ง” กับ “เจ๊ง” ไม่มี “เจ๊า” ที่ว่าเจ๋งคือสามารถทำให้ข้าวเปลือกราคาแพง แต่ข้าวสารราคาถูก กลุ่มชาวนาที่มีข้าวเหลือขายมีความสุขมาก โรงสีก็สบาย นักการเมืองได้คะแนน เช่นเดียวกับ ชาวนาและผู้ส่งออกเวียดนามและเขมร ผู้บริโภคในประเทศก็ไม่เสียประโยชน์ แต่เจ๋งอย่างนี้คนที่กระเป๋าฉีกคือประเทศไทย และวงการข้าวไทย
“เป็นการเจ๊งสะสม ตั้งแต่ตอนจดทะเบียน ขึ้นทะเบียนข้าว การขายข้าว โรงสี ค่าเก็บข้าวที่ขณะนี้จ่ายค่าเก็บเป็นข้าว มีการเปาเกา คือ นำข้าวใหม่ไปขายหมุนเวียน ไม่เอาข้าวเก่าออกจากคลัง เพื่อให้ขายได้ราคา แล้วจัดการเอกสาร รวมถึงปัญหาช่วงการประมูล การตรวจคุณภาพข้าว การหมุนเวียนขายข้าวในคลัง นี่คือส่วนหนึ่งของการเจ๊งแบบสะสม” ดร.นิพนธ์กล่าว
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงการส่งออกว่า ควรใช้วิธีสร้างตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) ซึ่งเป็นวิธีที่โปร่งใส ได้ราคาดี แต่รัฐบาลกลับใช้ G2G ประมูล และทำ MOU อย่างผู้ซื้อรายใหญ่ๆ ในทวีปเอเชีย เช่น จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็ไม่ได้ซื้อข้าวเยอะ ระบบการซื้อขายแบบที่มีการทำ MOU ล่วงหน้า จะเห็นได้ว่าข้อมูล G2G จะเป็นความลับตลอดเวลา
“ไม่มีประเทศไหนอยากซื้อข้าวแพง ส่วนไทยก็ไม่อยากขายข้าวถูก จึงเป็นที่มาของ “นายหน้า” ที่มาจัดการเรื่องการซื้อขายดังกล่าว ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้ต้องเปิดเผย แต่รัฐบาลไม่สร้างวินัยด้านนี้ อย่างน้อย เมื่อส่งข้าวลงเรือแล้วก็ต้องประกาศราคา เพราะรัฐบาลไม่ได้ใช้เงินคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) หรือคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) แต่ใช้เงินของประชาชนบริหารประเทศอยู่” ดร.นิพนธ์ กล่าวและว่า ยิ่งถ้ารัฐบาลแลกข้าวกับรถไฟความเร็วสูง จะยิ่งเพิ่มช่องทางการทุจริตทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะเราไม่รู้อัตราแลกเปลี่ยน ผลประโยชน์จะตกอยู่กับตัวแทน
“ถ้าขายได้หมดตามที่กระทรวงพาณิชย์ระบุ จะขาดทุน 1.77 แสนล้านบาท จากเงินซื้อข้าว 3.26 แสนล้านบาท ยิ่งขายช้า ยิ่งขาดทุนมาก เพราะคุณภาพข้าวลดลงเรื่อยๆ ถ้ามองโลกในแง่ร้าย หากสะสมไปเรื่อยๆ คาดว่าจะเกิน 2 แสนล้านบาท และในปี 2556 จะขายข้าวลำบากมากขึ้น ราคาข้าวเปลือกปีหน้าจะตกต่ำกว่าปีนี้ ยิ่งรัฐมีสต็อกมาก ผู้ซื้อต่างประเทศจะยิ่งกดราคา ซึ่งรัฐบาลเรียนผูก ก็ต้องเรียนแก้เอง หรือไม่ก็ควรเปลี่ยนขายข้าวในประเทศผ่าน AFET ที่จะได้ราคาสูง โปร่งใสแข่งขันอย่างยุติธรรม” ดร.นิพนธ์กล่าว
เตือนดึงดันเดินต่ออีก 8 ปีหนี้ท่วม 62.8% ของ GDP เดินตามรอยกรีซ
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า แม้โครงการจำนำข้าวอาจจะไม่เจ๊ง แต่จะทำให้ประเทศไทยเจ๊ง เพราะโครงการนี้มีความเหลวแหลกเยอะ ที่ ดร.นิพนธ์ คำนวณไว้ว่าจะขาดทุน 1.7 แสนล้านนั้นเป็นการคำนวณต้นทุน แต่หากคำนวณจากรัฐบาลที่รัฐบาลมี พบว่าข้าวนาปี ฤดูกาล 2554/2555 จำนวน 6.95 ล้านตัน ข้าวนาปรัง 14.69 ล้านตัน รวม 21.64 ล้านตัน ใช้เงินในการรับจำนำตลอดฤดูกาลผลิต 3.3 แสนล้านบาท
“คณะกรรมการประเมินความเสียหาย ประเมินภายหลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำ 3 เดือน พบว่า ต้นทุนรายจ่ายทั้งหมดในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จ่าย รายจ่ายในการสีข้าว ขนส่งข้าวสารไปยังโกดังกลาง ค่าเก็บข้าว ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากหนี้ที่ยังค้างอยู่ หักลบจากรายได้การขายข้าว ข้าวที่ยังไม่ได้ขายออก โดยคำนวณเสมือนว่าขายออกในราคาตลาด รวมแล้วสูญเสียงบประมาณไปแล้ว 3.2 หมื่นล้านบาท” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า เมื่อข้าวในสต็อกเหลือจำนวนมากเช่นนี้ต้องใช้เวลาในการระบายกว่า 3 ปี ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากเงินต้น 1.06 แสนล้านบาท อีกประมาณ 4.5-5 พันล้านบาท ส่งผลให้คุณภาพข้าวลดลง น้ำหนักข้าวลดลง มูลค่าข้าวที่ขายได้จะลดลง รวมค่าเก็บข้าวสารในโกดัง ผลสูญเสียของข้าว 6.95 ล้านบาท น่าจะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 4.5 หมื่นล้านบาท หากดำเนินการต่อในโครงการปีหน้าทั้งสิ้นกว่า 33 ล้านตัน จะสูญเสียปีละ 2.1 แสนล้านบาท
ในส่วนหนี้สาธารณะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ขณะนี้มีอยู่ 44.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) คาดว่า สิ้นปีเมื่อรวมพันธบัตรที่ออกเพิ่มเติม หนี้ค้างจ่าย ธกส. และเงินกู้นอกงบประมาณแล้ว คาดว่าจะเพิ่มเป็น 49.9 % ของ GDP และสิ้นปี 2562 เมื่อรวมหนี้ขาดทุนจากการจำนำข้าวแล้ว ยอดหนี้สาธารณะจะรวม 61% ของ GDP และถ้ารวมงบประมาณขาดดุลอีกปี ละ 1 แสนล้านบาท จากปี 2555 – 2562 หนี้สาธารณะรวมจะเพิ่มเป็น 65.8 % ของ GDP ซึ่งเกินเพดานหนี้สาธารณะที่ควรจะเป็น และจะนำประเทศไปสู่ประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น กรณีของประเทศกรีซ
“ความตั้งใจช่วยชาวนาเป็นความตั้งใจที่ดี แต่ต้องเป็นความตั้งใจที่ “เป็นมวย” หน่อย ผมว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้คิดไม่เป็น คนที่คิดเป็น คิดลึกพอก็ไม่ว่าอะไร ไม่ห้าม และยังเดินตามไปด้วย ถึงจุดๆ หนึ่งนโยบายนี้คงต้องหยุด ถ้าจะทำนโยบายใหม่ก็ควรดูด้วยว่านโยบายที่มีอยู่เดิมเป็นอย่างไร แล้วจึงคิดและทำให้ดีกว่า ไม่ใช่แค่ให้มากกว่า ต้องให้เงินถึงมือชาวนาจริง และเป็นจำนวนเงินที่ชาวนาจนและชาวนารวยได้ไม่ต่างกันมากนัก และใช้เงินน้อยที่สุด แต่งบประมาณที่ลงไปกับจำนำข้าวขณะนี้ถามว่าชาวนารายย่อยได้เท่าไหร่ ถ้าทำทั้งทีและเสียเงินมากกว่า แต่ชาวนาย่อยกลับไม่ได้และเสียงบประมาณประเทศชาติมาก” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ทุจริตพุ่งยื่นร้อง ป.ป.ช.นับร้อยคดี-เตรียมสาวเส้นทางการเงินจับโกง
ด้าน ดร.สิริลักษณา กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าว ไม่ว่าจะเจ๋งหรือเจ๊ง ก็มีคน “เจี๊ยะ” แน่นอน โดยที่คดีเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว ขณะนี้เข้าสู่กระบวนการของ ป.ป.ช.จำนวนมาก กว่า 100 คดี ต่างกับโครงการประกันราคาที่มีคดีมายัง ป.ป.ช.เพียงคดีเดียว เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่มีการทุจริตทุกขั้นตอน แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาอุดรูรั่ว ก็เป็นการแก้ปัญหาจากปลายเหตุ ทั้งที่ต้นเหตุคือนโยบายนี้ส่งเสริมการทุจริต มีการออกใบรับรองเกษตรกรไม่ถูกต้อง มีการจำนำข้าวข้ามเขต การรักษาข้าวไม่ได้คุณภาพ ทั้งหมดนี้รัฐบาลเองก็ยอมรับว่าไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส
“คดีที่เข้ามาในกระบวนการ ป.ป.ช.ส่วนมากมาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มาก ส่วนคดีที่ร่วมมือกันเป็นพรรคพวก กลุ่ม 5 สิงห์ 5 เสือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ขณะนี้ ป.ป.ช.มีหลักฐานแล้ว แต่อยู่ในรูปคดียังไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช.มองว่าการปราบปรามเป็นเรื่องปลายเหตุ แต่ต้องการป้องกันการทุจริตมากกว่า จึงพยายามติดตามและสร้างฐานข้อมูลเครือข่ายทุจริตนี้อยู่ ตอนนี้มีเครื่องมือบางอย่างที่ติดตามเส้นทางของเงินได้ หลายคนอาจบ่นว่า ป.ป.ช.ย่อมาจาก เป็นไปอย่างช้าๆ แต่เราจะเริ่มมิติใหม่” ดร.สิริลักขณากล่าว
ดร.สิริลักษณา กล่าวอีกว่า ในหลายประเทศเห็นพ้องกันว่า การอุดหนุนภาคเกษตร จะทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมหาศาล และจะพบปัญหาเรื่องการเก็บรักษา การดูแลผลผลิต มูลค่าการเก็บรักษา ที่เกินกว่าต้นทุนการผลิตในแต่ละปี และเกินงบประมาณประเทศ หลายประเทศจึงเจรจาที่จะเลิกอุดหนุน รวมถึงไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ปลูกอ้อย หรือมันสำปะหลังมาปลูกข้าว
“รัฐบาลควรตอบคำถามให้ได้ว่าขายข้าวไปในราคาเท่าไหร่ สูงหรือต่ำกว่าตลาดโลก เพราะหากขายต่ำกว่า ก็ต้องตอบคำถามต่อว่า นำเงินภาษีคนไทยไปอุดหนุนต่างประเทศเพื่ออะไร หรือหากขายสูงกว่าตลาดโลก นับว่ารัฐบาลเก่งมาก แต่ประเทศผู้ซื้อก็คงต้องตอบคำถามประชาชนในประเทศให้ได้เช่นกัน ว่ามาอุดหนุนรัฐบาลไทยในราคาแพงทำไม หรือว่ามีโครงการอะไรตอบแทนกัน ท้ายที่สุด อยากถามว่าข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยกับ ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลังได้หรือไม่” ดร.สิริลักษณากล่าว
ดร.สิริลักขณา กล่าวทิ้งท้ายว่า ท้ายที่สุดจำนำข้าวมีทั้งคนที่ได้และเสีย แต่ที่เสียแน่นอนคือประเทศชาติ ส่วนคนจำนวนมากที่ได้นั้น ได้เพียงเล็กน้อย แต่กลุ่มคนที่ทุจริตได้อย่างมหาศาล