เหลื่อมล้ำสูง! การศึกษาไทย รัฐทุ่มงบฯอุ้มเด็กเล็กน้อยกว่าเด็กโต
นักวิชาการ เปิดความเหลื่อล้ำทางการศึกษา เด็กกรุงฯ โอกาสดีสุด อีสาน-ใต้เข้าถึงการศึกษาน้อย ไอคิวต่ำสุด ขณะที่ค่านิยมแข่งขันกันเป็นเลิศทางวิชาการยังรุนแรง ถ่างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นจนแก้ยาก เสนอรัฐเร่งแก้ปัญหาแบบบูรณากาเ
(19 พ.ย.) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สำนักงานปฏิรูป สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet) จัดสนทนาสาธารณะ “จน-รวย ในโรงเรียน : สู่ระบบการศึกษาที่มองเห็นความเหลื่อมล้ำ”
นายแบ๊งค์ งามอรุณโชติ เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet) เผยแพร่รายงาน “การสำรวจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย-ข้อค้นพบเบื้องต้นและข้อ เสนอแนะ” พบสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปี 2554 ที่น่าสนใจหลายด้านดังนี้ จากตัวชี้วัดด้านจำนวนปีที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา ในภาพรวมปัจจุบันพบว่า ในแง่เพศ โดยเฉลี่ยเพศหญิงมีระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษามากกว่าเพศชายเล็กน้อย ในแง่พื้นที่พบว่า ประชากรในกรุงเทพมหานครและภาคกลางสามารถเข้าถึงการศึกษามากกว่าประชากรในภาค อื่น ๆ โดยภาคอีสานและภาคใต้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยที่สุด นอกจากนี้ในภูมิภาคเดียวกันนั้น ประชากรในพื้นที่ตัวเมืองหรือเขตเทศบาล มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาดีกว่าพื้นที่นอกเขตเทศบาล
จากตัวชี้วัดด้านงบประมาณที่รัฐลงทุนกับการศึกษา พบว่า การจัดสรรงบประมาณไปยังเด็กเล็กหรือระดับอนุบาล น้อยกว่าเด็กโตหรือระดับอุดมศึกษา โดยพบว่าในปี 2552 งบประมาณทางการศึกษาต่อหัวที่รัฐจัดสรรให้ในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 34,419 บาทต่อคน ส่วนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ที่ 24,066 บาทต่อคน ซึ่งการจัดสรรในลักษณะนี้ไม่เป็นธรรมเพราะเป็นการจัดสรรให้แก่คนจำนวนน้อย เนื่องจากผู้ที่มีโอกาสศึกษาต่อจนถึงระดับมหาวิทยาลัยจะทยอยลดลงอยู่ที่ ระดับร้อยละ 54.8 เท่านั้น ซึ่งตามทฤษฎีแล้วผลตอบแทนจากการลงทุนกับผู้มีอายุมากจะน้อยกว่าลงทุนกับผู้ มีอายุน้อย
จากตัวชี้วัดด้านผลลัพธ์ด้านการศึกษา พบว่า เด็กภาคใต้และอีสานมีไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่เด็กกรุงเทพมหานครและภาคกลางมีระดับไอคิวสูงสุด ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ระดับชั้นการศึกษาก็พบว่า เด็กในวัยการศึกษาชั้นต้นจะมีค่าไอคิวต่ำและจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในวัยที่เรียนระดับสูงขึ้น สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณที่ลงทุนด้านการศึกษาแก่เด็กเล็กน้อยกว่าเด็ก โต
และจากข้อมูลผลสอบวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ของ TIMSS (2550) และ O-NET (2552) พบว่าคะแนนสอบของเด็กทุกภาคต่ำกว่าเด็กกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าเด็กต่างจังหวัด และอยู่โรงเรียนสังกัดการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท. และ กทม.) มีคุณภาพทางการศึกษาต่ำกว่าเด็กในเมืองอย่างเห็นได้ชัด
ผู้เสนอรายงานกล่าวว่า ในภาพรวม ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่ได้รับการศึกษาสูงและต่ำเทียบเคียงกับค่าเฉลี่ย ของสังคมนั้นยังค่อนข้างคงที่ คือความเหลื่อมล้ำไม่ได้ลดลงมาก
ทั้งนี้ นายแบ๊งค์ได้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้วยว่า รัฐควรจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาแก่เด็กเล็กให้มากขึ้นกว่าเด็กโต เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้และภาคอีสาน หรือพื้นที่นอกเขตเทศบาล โดยจำเป็นต้องบูรณาการหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเพื่อช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นภาระของกระทรวงศึกษาธิการเพียงหน่วยงานเดียว
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสารคาม กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดจากสภาวะของการแข่งขัน การจัดอันดับและการสร้างผู้แพ้ผู้ชนะในระบบการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นเลิศ ทางวิชาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ไขยากเพราะได้กลายเป็นค่านิยมของคนทั้งสังคมไปแล้ว วิธีแก้ต้องคืนอำนาจการจัดการการศึกษาไปให้ชุมชน และทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการคิดจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของ ชุมชนนั้น ๆ
“การแข่งขันทางวิชาการโดยใช้แบบทดสอบ รวมถึงมหกรรมการประกวด แข่งขันทางวิชาการต่าง ๆ ทั้งในระดับเขตพื้นที่ หรือระดับภาค เหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นที่ไปถ่างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น และนำมาสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดเพี้ยนของรัฐบาล เช่น นโยบายโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนย้ายตัวเด็กจากชนบทเข้าสู่เมืองมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้พ่อแม่เด็กในชนบทต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าพ่อแม่เด็กในเมือง เพื่อให้ลูกของตัวเองเป็นผู้ชนะในระบบการศึกษา” ร.ศ.ดร.ประวิต กล่าว