ทุ่มงบฯ มหาศาลปราบยาไร้ผล ผู้พิพากษา ชูใช้ Harm Reduction ลดผู้เสพ
ที่ปรึกษา ป.ป.ส. ผู้พิพากษาศาลฎีกา NGOs เห้นพ้องกัน ประเทศไทยเดินทางผิดในการปราบปรามยาเสพติดมาโดยตลอด สาเหตุมาจากความบกพร่องทางกฏหมาย การขาดความเข้าใจในการบำบัด และมายาคติของสังคม แนะ Harm Reduction อาจเป็นทางออก
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการ เนื่องในงาน “จุฬาฯ วิชาการ 2555” หัวข้อ “ยาเสพติดควรเป็นความผิดหรือไม่” ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรประกอบด้วย นายณรงค์ รัตนานุกูล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายวีระพันธ์ งามมี ผู้จัดการภาคสนาม มูลนิธิพีเอสไอ ประเทศไทย เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D) และดร.ดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานศาลฎีกา โดยมีศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ในตอนต้น ศ.วีระพงษ์ กล่าวถึงปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน เหยื่อของยาเสพติดมีตั้งแต่ผู้เสพเอง ผู้บริสุทธิ์ทั่วไป กระบวนการยุติธรรม ตลอดจนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่งบประมาณที่รัฐทุ่มไปในแต่ละปีก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น อาจจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องหันมาทบทวนเรื่องยาเสพติดกันเสียใหม่
นายณรงค์ กล่าวถึงงบประมาณที่รัฐทุ่มลงไปนั้นสามารถแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ตัวกฎหมาย มีพระราชบัญญัติ 6-7 ฉบับที่ได้กำหนดเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเอาไว้ ดังนั้น ต้องแก้กฎหมายให้ “ผู้เสพ” บางพวกเป็น “ผู้ป่วย” เพื่อที่จะได้บำบัดรักษาตามนั้นตอนต่อไป
ส่วนการกำหนดความผิดและบทลงโทษทางอาญานั้น ที่ปรึกษา ป.ป.ส. กล่าวว่า ยังมีความจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะกฎหมายยึดทรัพย์และกฎหมายห้ามไม่ให้บังคับขู่เข็ญผู้อื่นเสพยามีความสำคัญที่สุด เนื่องจากหากไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว การเสพยาเสพติดก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของคนในสังคมและถือเป็นการกระทำส่วนบุคคลได้
ด้านนายวีระพันธ์ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดของไทยในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างการพยายามสร้างมายาคติให้คนเกลียดกลัวยาเสพติดและผู้เสพ จนผู้เสพที่บำบัดหายแล้วต้องกลับสู่วังวนนั้นอีกครั้ง เพราะสังคมไม่ยอมรับ เจ้าหน้าที่บำบัดใช้แต่กำลังบังคับ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของยาเสพติดเพียงพอ
“ขณะที่การจับผู้เสพไปขังคุกซึ่งทำให้เสี่ยงติดเชื้อ HIV ด้วย เนื่องมาจากการลักลอบเสพแบบไม่ถูกสุขลักษณะ และความไร้มาตรฐานในการกำหนดระดับความร้ายแรงของยาเสพติดแต่ละชนิด โดยเฉพาะบุหรี่ที่มีสถิติทำให้คนตายมากกว่ากัญชาและกระท่อมแต่กลับผิดกฏหมายน้อยกว่า เป็นต้น” ผู้จัดการภาคสนาม มูลนิธิพีเอสไอฯ กล่าว และว่า แนวทางการแก้ไข คือ กฎหมายต้องแยกแยะ “การใช้ยา (drug use)” กับ “การติดยา (drug dependence)” ออกจากกันเสียก่อน และไม่ปฏิบัติต่อผู้เสพเยี่ยงอาชญากรหากเขาไม่ได้ก่ออาชยากรรม เพราะจะทำให้ทุกอย่างยิ่งแย่ลง
ส่วน ดร.ดล กล่าวถึง “Legalization” หรือ การทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย “Decriminalization” หรือ การลดหรือยกเลิกโทษทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับการเสพยาเสพติด และ “Harm Reduction” คือการมองการเสพยาเสพติดเฉพาะในทางสาธารณะสุขนั้นเหมาะสมที่สุดที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบัน มีการนำมาใช้จริงแล้วและประสบความสำเร็จในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะออสเตรเลีย
ดร.ดล กล่าวว่า Harm Reduction ของออสเตรเลียจะครอบคลุมตั้งแต่การประเมินปริมาณการใช้ยาที่เหมาะสมแก่ผู้เสพ การแจกเข็มใหม่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ตั้งศูนย์แจกเมทาโดน (Methadone) ที่ช่วยบรรเทาอาการลงแดง และทำข้อตกลงกับตำรวจในพื้นที่ไม่ให้จับกุมผู้ใช้ยาบริเวณศูนย์นั้น ตลอดจนจัดทำวารสารที่ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ใช้ยา โดยผลการวิจัยหลังจากเริ่มโครงการต่างๆ พบว่า Harm reduction ไม่มีผลทำให้มีผู้หันมาเสพยาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งสวนทางกับกรณีของสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลไปเพื่อการปราบปราม แต่จำนวนผู้เสพกลับมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันประเทศไทยเองก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวบ้างแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งยังต้องรอดูกันต่อไป
“ไม่ใช่ไปบอกเขาว่าอย่าเสพ ต้องไปบอกว่า ทำอย่างไรไม่ให้ตาย ทำอย่างไรให้ถูกสุขลักษณะ นั่นคือสิ่งที่เขาทำ ถามว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่ สังคมยังไม่ทราบ นักกฎหมายยังไม่รู้ บอกตำรวจเมื่อไรก็ส่ายหัวเมื่อนั้น บอกไม่ได้ๆ แต่สาธารณะสุขหรือภาค NGOs ทำกันไปบ้างแล้ว แจกเข็มแล้วด้วยซ้ำไป ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ก่อนจะจบวาระเห็นชอบด้วยกับนโยบาย Harm Reduction ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแล้ว แต่ยังไม่ได้ออกมาเป็นกิจกรรมหรือแผนอะไรที่ชัดเจน ส่วนรัฐบาลชุดใหม่ยังเงียบอยู่” ดร.ดล กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลในช่วงท้าย
อนึ่ง ประเทศไทยใช้งบประมาณในการปราบปรามยาเสพติดผ่าน ป.ป.ส. ในปี 2554 สูงถึง 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขผู้เสพยาเสพติดโดยประมาณก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจากสถิติล่าสุด ประเทศไทยมีผู้เสพยาเสพติดอยู่ประมาณ 1.2 ล้านคน