นักวิชาการ-เอ็นจีโอ จี้นายกฯ ชะลอ TPP หวั่นเดินลงเหว
นักวิชาการ-เอ็นจีโอ จี้ 'ยิ่งลักษณ์" ชะลอ TPP หวั่นเดินลงเหว-รวมวงซดเกาเหลาชาติมหาอำนาจ แนะศึกษาข้อมูล ชั่งน้ำหนักให้ดีก่อน
วันที่ 17 พฤศจิกายน แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ จัดเสวนาวิชาการ “วิเคราะห์ TPP ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร” มี รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายจักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) รศ.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง และนายวรศักดิ์ มหัทธโนบล สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership:TPP) หากเกิดขึ้นจะเป็นการคิดและตัดสินใจทางการเมือง เหมือนเป็นการมอบของขวัญที่นายบารัค โอบามา มาเยือนไทย แต่การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก มีทั้งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่ต้องไตร่ตรองและชั่งน้ำหนักให้ดี
“ปัจจุบันนี้ด้านการทหารของอเมริกายังมีประสิทธิภาพอยู่ ในขณะที่ทางด้านเศรษฐกิจกำลังมีปัญหา จีดีพีลดลงจากปี 1950 ครึ่งหนึ่ง ตอนนี้เหลือไม่ถึง 20% และอเมริกา กำลังขยายอำนาจด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่มีเพียงประเทศจีนที่ยังไม่ยอมสยบให้อเมริกา จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์อเมริกา ที่พยายามสกัดกั้นอิทธิพลของจีนโดยเริ่มต้นจากด้านทหารและกำลังขยายไปที่ด้านเศรษฐกิจ โดยมี TPP เป็นเครื่องมือสำคัญมาจัดการกับประชาคมเอเชียตะวันออก ที่จีนกำลังผงาดขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก”
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตเศรษฐกิจโลกจะย้ายฐานจากตะวันตกมาฝั่งตะวันออก ซึ่งอเมริกาให้ความสำคัญและวิตกมาก ทั้งนี้ 10 ปีที่ผ่านมาเอเชียก็รวมกลุ่มการค้าเสรีกันได้โดยไม่มีอเมริกา
“อเมริกามองวิวัฒนาการของเอเชียอย่างวิตกกังวลว่ากำลังจะถูกลดความสำคัญลง จึงเป็นที่มาของ TPP ซึ่งเป็นการค้าเสรีอีกรูปแบบหนึ่งที่มีข้อกำหนดมากกว่าและครอบคลุมหลายสาขา คาดหวังว่าจะสามารถทำให้ประเทศตนเองกลับมามีบทบาททางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2003-2005 สหรัฐฯ เคยพยายามเจรจา FTA ที่ครอบคลุมหลายสาขามาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จึงพยายามไปทำกับ APEC แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน เนื่องจากหลายประเทศในกลุ่ม APEC ไม่ตกลง โดยเฉพาะจีน”
อเมริกาต้องการเป็นเจ้าทางศก.-ทหาร
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวต่อว่า เมื่อชัดเจนว่าอเมริกาต้องการเป็นเจ้าทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร ก็เป็นสิ่งที่ไทยต้องพิจารณาถึงผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อไทยให้ดี ผลดีต่อไทยในทางเศรษฐกิจแน่นอนว่าเหมือนจะดีขึ้น แต่ถ้าพิจารณาให้ดี เร็วๆ นี้ไทยก็กำลังเข้าร่วมใน AEC และทำมี FTA กับหลายๆ ประเทศอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า ไทยจะ ได้ประโยชน์เพิ่มจากเดิมน้อยมาก ที่ได้แน่ๆ คือประโยชน์จากอเมริกา ที่ไทยอาจส่งออกได้มากขึ้นแต่ก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย ส่วนประเทศแคนาดาและเม็กซิโก ไทยก็ส่งออกด้วยน้อยมาก
“สำหรับผลเสีย มองด้านเศรษฐกิจ TPP มีมาตรฐานสูงครอบคลุมหลายเรื่อง ในขณะที่ภาคบริการของไทยยังไม่พร้อม การหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นแล้วหรือยัง ปัญหาต่อเรื่องสิทธิบัตรยาก็ล้วนเป็นเรื่องใหญ่มาก ท้ายที่สุด TPP จะเป็นตัวที่ลดบทบาทอาเซียนลง และทำให้อาเซียนแตก เนื่องด้วยอาเซียน 10 ประเทศบ้างเข้าร่วม บ้างไม่เข้าร่วม ฉะนั้น บทบาทและท่าทีของไทยจากนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเลือกไปทางใดก็ตาม”
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไทยเราดำเนินนโยบายทางการทูตแบบ “สนลู่ลม” มาโดยตลอด ทั้งกับจีนและสหรัฐฯ แต่อนาคตไทยจะเหยียบเรือสองแคมต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะอเมริกากำลังบังคับให้ไทยเลือกข้างโดยมี TPP เป็นเครื่องมือ จึงเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไทยจะตัดสินใจให้ถี่ถ้วนต่อบทบาทและท่าทีต่อจากนี้
ในส่วนข้อสงสัยที่ว่า การดำเนินการความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกนี้ เข้าข่ายในมาตรา 190 หรือไม่นั้น รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวว่า ขณะนี้ท่าทีของไทยเป็นเพียงความต้องการจะเจรจาในข้อตกลงดังกล่าว จึงยังไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แต่หากมีการเจรจาเมื่อใดจะเข้าข่ายทันที และมีความจำเป็นที่รัฐบาลในฐานะคู่เจรจาต้องเปิดเผยกรอบการเจรจา รวมถึงท่าทีของไทยต่อสาธารณะ จากนั้นต้องนำเข้ารัฐสภาเพื่อผ่านการเห็นชอบอีกครั้ง
ฟันธง TPP นโยบายปิดล้อมจีน
นายวรศักดิ์ กล่าวว่า TPP คือการรุกคืบทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ และแท้จริงแล้ว TPP คือนโยบายที่ปิดล้อมจีน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงถดถอย ทำให้ต้องคิดในเรื่องนี้ขึ้นมา และนอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจแล้วก็ยังมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนเรื่องการตัดสินใจของไทยนั้น นายวรศักดิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่แน่ในว่า ไทยตัดสินใจเร็วไปหรือไม่ ซึ่งหากมองจากสถานการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ของไทยมักจะอิงกับสหรัฐอเมริกาตลอดมา แต่เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันจีนกำลังรุกคืบเข้ามามีอำนาจเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ เรื่องนี้จึงต้องใคร่ครวญอย่างยิ่ง
“ไทยอยู่บนหว่างเขากวาง จะเลือกข้างใดข้างหนึ่งไปเลย หรือจะยู่ตรงกลางก็แทบจะไม่ได้ แต่เมื่อไทยยังมีเวลาหายใจ เราก็ยังมีเวลาคิดตั้งรับได้มากกว่าปกติ”
หวั่นผูกขาดยา-เมล็ดพันธุ์
ด้าน รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า TPP เป็นยุทศาสตร์หลักของอเมริกาเพื่อรุกคืบประเทศต่างๆ ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งอเมริกาไม่ได้มอง TPP ในแง่การค้าที่เป็นธรรม หรือช่วยขยายโอกาสให้ภาคการผลิตเล็กๆ แต่มองผลประโยชน์ของตนเอง เพื่อกลับมาเป็นที่หนึ่งของโลก แต่ไทยต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่าการเข้าร่วมครั้งนี้จะช่วยให้ไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้มแข็งขึ้นหรือเป็นการกดดันประเทศอื่นๆ
“เท่าที่ศึกษาท่าทีของอเมริกามาตลอดเห็นชัดว่า อเมริกากำลังเดินเกม ให้ไทยตกเป็นเหยื่อ และพึ่งพิงอเมริกาต่อไป ยุทธศาสตร์ของอเมริกาก็ไม่ได้ปิดบังอะไร เห็นได้ชัดตอนหาเสียงโอบามาก็พูดทิศทางเรื่อง TPP ไว้ชัดเจน”
รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า ข้อตกลงฉบับนี้มีข้อกำหนดและผูกมัดในหลายด้าน มากจนทำให้ไทยอาจละเมิดได้โดยไม่รู้ตัว ทั้งข้อตกลงไม่ให้เพิกถอนสิทธิบัตรที่ไทยอาจเสียประโยชน์ การขยายการจดสิทธิบัตรออกไปถึง 20 ปี และเปิดโอกาสให้จดสิทธิบัตรที่อาจมีความซ้ำซ้อน รวมถึงการผูกขาดข้อมูลยา ซึ่งเป็นการกีดกันการแข่งขันในธุรกิจยา ไม่ให้เกิดการพัฒนาหรือมีคู่แข่งใหม่ๆ แต่กลับทำให้ราคายาแพงขึ้น เนื่องจากมีการกีดกันการผลิตและการพัฒนา ทั้งที่อุตสาหกรรมนี้ไทยสามารถพึ่งตนเองได้
“การผูกขาดข้อมูลยา เป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตยาสูงมาก และการผูกขาดนี้อเมริกาเป็นประเทศที่ได้เปรียบและได้ประโยชน์ที่สุด ทั้งนี้ จะเปิดให้มีการขยายการผูกขาดยา ตั้งแต่ 2 ปี 5 ปี ไปจนถึง 10 ปี ที่จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปด้วย เช่น การผูกขาด 5 ปี ต้องสูญค่าใช้จ่าย 80,000 กว่าล้านบาทต่อปี”
ขณะที่นายวิฑูรย์ กล่าวถึงผลกระทบต่อภาคเกษตร ทรัพยากรและชีวภาพว่า TPP หรือ USFTA นอกจากส่งผลกระทบต่อสิทธิทางปัญญา และสิทธิบัตรยาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเรื่องชีวภาพและพันธุ์พืช ซึ่งรัฐบาลไทยมักให้เหตุผลว่ากลัวจะตกขบวนรถไฟ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ห่วงสิทธิประโยชน์ของตนเองว่าจะถูกกำกับจากข้อกำหนดที่มากมายของ TPP ดังนั้น หากรัฐบาลยังยึดจุดยืนของประเทศมากกว่าเหตุผลด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองจริง ต้องไม่ยอมให้การค้าเสรีแบบครอบคลุมทุกเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น
“ท้ายที่สุดหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนในชาติเป็นหลัก และเจรจาให้ไทยสามารถมีอำนาจต่อรองได้ด้วย โดยเฉพาะการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิภาค ผลกระทบต่อการเปิดเสรีสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการดัดแปลงพันธุ์พืช การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการขยายสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต ทั้ง ยีสต์ เนื้อเยื่อและพันธุ์พืช ที่เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง หลายประเทศไม่กล้าทำเรื่องนี้”
วอนนายกฯ ชะลอข้อตกลง
นายจักรชัย กล่าวว่า TPP เป็นเรื่องใหญ่มาก มีนัยยะเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ ฐานการผลิต ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ มหาศาลจริงๆ แต่เรื่องนี้กลับไม่เคยมีการทำความเข้าใจ หรือหารือกับสังคมไทย
“ประเทศไทยไม่ควรหยุดนิ่งในประเด็นทางการค้า ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่งคง แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องบนฐานขององค์ความรู้ และหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส กระบวนการของการมีส่วนรวมของประชาชน ซึ่งถ้ามีกระบวนการเหล่านี้ เชื่อว่าประชาชนจะสนับสนุนรัฐบาล แต่ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน รวมถึงสหรัฐอเมริกา และหากมีกลับคำในภายหลังว่า จะไม่เดินหน้าต่อ ก็จะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ประเทศ ดังนั้น อยากให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะผ่านกระบวนการที่เหมาะสม ไม่ใช่กลัวตกขบวน”
นายจักรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นปัญหาของ TPP ที่มีความสำคัญว่า อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุน การเปิดเสรีทางด้านการเงิน ซึ่งกินความไปถึงการไหลเข้า-ออกของเงินทุน และแม้เรื่องนี้จะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาจกลายเป็นการช้อนครีมระดับบน ดูดเงินออกไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็เป็นได้
แนะชั่่งน้ำหนักข้อมูล ก่อนตัดสินใจ
ส่วน รศ.ดร.สุธี กล่าวว่าในเรื่องนี้ ส่วนตัวเห็นว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องจิตวิทยาของผู้นำประเทศไทย ที่มักจะมองโอบามาเป็นเทพ โดยเฉพาะยิ่งในช่วงที่ได้รับการเลือกตั้งบทบริบทประชาธิปไตยมาใหม่ๆ เช่นนี้ แต่ถ้าไปดูจะพบว่าเรื่อง TPP ไม่เคยเป็นประเด็นในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปิดบังข้อมูลข่าวสารคนอเมริกันสารพัด เพราะฉะนั้น หลักการเตรียมตัวในเรื่องนี้ ตนจึงคิดว่าต้องมีนำข้อมูลจำนวน ที่อธิบายถึงข้อดีข้อเสียของ TPP มาชั่งน้ำหนักดู ไม่เช่นนั้นจะเป็นการโดดลงเหว
รศ.ดร.สุธี กล่าวอีกว่า TPP ไม่ใช่เรื่องใหม่ เหมือนกันกับเอฟทีเอ เพียงแต่จะทำให้มีความเข้มข้นขึ้น มีการสร้างวาทกรรมขึ้นมาครอบงำ โดยเฉพาะเรื่องการค้าเสรี ทั้งที่ในเรื่องนี้มีการสรุปเป็นแนวคิดทางวิชาการไว้แล้วว่า การค้าเสรีคือใบอนุญาตให้ธุรกิจขนาดใหญ่กว่ามีการผูกขาด เปรียบได้กับการนำบริษัทเล็ก บริษัทใหญ่มาต่อยกันอย่างเสรี ซึ่งสุดท้ายแล้วบริษัทเล็กก็อยู่ได้ไม่ได้