ไทยผลิตนักวิจัยด้านข้าว-พันธุ์ข้าวน้อย แพ้หลุดลุ่ย 'อินโดฯ-เวียดนาม'
ผู้บริหารซีพี-ปราชญ์ชาวนา เห็นพ้อง แนวทางสร้างความยั่งยืนข้าวหอมฯ ต้องเพิ่มงบพัฒนาคุณภาพ ผลิตนักวิจัย ระบุพื้นที่ปลูกข้าวลดลง แนะปฏิรูประบบที่ดินใหม่ ให้เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตร
วันที่ 16 พฤศจิกายน ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับชมรมนิสิตเก่าเทคโนโลยีทางอาหาร จุฬาฯ (Food Tech Chula Alumni) จัดงานเสวนาทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร ในหัวข้อ "ความยั่งยืนของข้าวหอมมะลิไทย" ณ ห้อง 208 อาคารมหามกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด นายเชาว์วัช หนูทอง ประธานเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี และนายบรรเทา เกตุอูม เกษตรกรดีเด่นบ้านข้าวนาคำใต้ จ.สุรินทร์ ร่วมเสวนา
นายสุเมธ กล่าวว่า ในเชิงพาณิชย์ ข้าวหอมมะลิไทยในเวทีโลก เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวหอมมะลิเวียดนาม พันธุ์ KDM และข้าวผกามะลิของกัมพูชาแล้ว พบว่า ความยาวเมล็ดข้าวไทยได้เปรียบที่สุด เนื่องจากมีเมล็ดยาวกว่า รวมถึงท้องข้าว ความขาว ความใสและความบริสุทธิ์ของข้าวไทยสูงกว่า โดยเฉพาะข้าวในเกรดภาคอีสานกลุ่มอุบลฯ มีคุณภาพดีที่สุด ข้าวหอมที่สุด ขณะที่กลุ่มภาคอีสานอื่นๆ ภาคเหนือ ภาคกลางมีคุณภาพไล่ลำดับเกรดลงมา ส่วนความนุ่มเหนียวของข้าว พบว่าข้าวหอมมะลิของกัมพูชากับไทยมีความใกล้เคียงกันมาก
"ผมว่างบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพข้าว และพันธุ์ข้าว ยังน้อยมาก มีไม่ถึงร้อยล้านบาท ประเทศไทยยังผลิตนักวิจัยด้านข้าวและพันธุ์ข้าวน้อยมาก เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม"
นายสุเมธ กล่าวถึงการส่งออกข้าว โดยพิจารณาจากตัวเลขสภาหอการค้า และกรมศุลกากร 9 เดือนที่ผ่านมาแม้จะมียอดส่งออกลดลงจากปีที่แล้ว 7.6% แต่ก็ทำให้ราคาขายต่อหน่วยก็สูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ
สำหรับการสร้างความยั่งยืนของข้าวหอมมะลิ นายสุเมธ กล่าวว่า ต้องทำ 2 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างการผลิต ขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าวมีน้อย ในแต่ละปีลดลง โดยเฉพาะภาคอีสาน เกษตรกรหันไปปลูกอ้อย ยางพาราและไม้ยืนต้นอื่นๆ มากกว่า ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิลดลงหรือทรงตัว
"ประเทศไทยเป็นระบบฟาร์มขนาดเล็กเฉลี่ยไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งเป็นปัญหาในการจะพัฒนาระบบการเกษตรให้ทันสมัย สามารถลงทุนได้ เช่น เครื่องอบข้าวและพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะระบบสหกรณ์ไทยที่ทำงานไม่ได้ ต่างกับระบบสหกรณ์ของประเทศอื่นๆ ซึ่งกรณีนี้ต้องถามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าจะพัฒนาระบบอย่างไรให้สหกรณ์ทำงานได้ ทันสมัยมากขึ้น พัฒนาได้มากขึ้น ทั้งด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาพันธุ์ข้าว"
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า อีกด้าน คือ โครงสร้างการตลาด กระบวนการสร้างตลาดสินค้าและการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญ ต้องลงทุนในช่องทางการตลาดอย่างจริงจัง ทำให้ประเทศต่างๆ กินข้าวหอมมะลิไทย รักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ ให้ได้เหมือนที่ฝรั่งสามารถทำให้คนไทยกินแฮมเบอร์เกอร์ได้ ทั้งนี้กว่าครึ่งหนึ่งของชาวนาไทยไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ต้องเช่านาทำ ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนทั้งด้านเทคโนโลยีและพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ ดังนั้น ควรมีการปฏิรูประบบที่ดินใหม่ทั้งหมด นักลงทุนที่ดิน ก็ต้องให้ใช้ที่ดินอย่างเป็นระบบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย"
ขณะที่นายเชาว์วัช กล่าวถึงการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ผลิตข้าวอินทรีย์จะช่วยยกระดับราคาข้าวได้ เนื่องจากกระบวนการผลิตทั้งระบบ รวมทั้งปุ๋ยก็เป็นสูตรอินทรีย์ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวและลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งการสร้างความยั่งยืนของข้าวหอมมะลิ เกษตรกรต้องลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตจึงจะเพิ่มขึ้น ลดเลิกการใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลงทั้งหลาย
"ขณะนี้เครือข่ายกสิกรของผมใช้วิธีปลูกข้าวแบบนาโยน โดยเพาะเมล็ดข้าวก่อน ซึ่งข้าว 1 เมล็ด เมื่อเพาะแล้วจะแตกกอออกเป็นร้อยต้น เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วข้าว 1 กอได้เมล็ดข้าวกว่าครึ่งกิโลกรัมและสามารถปลูกได้ 1 หมื่นกอต่อไร่ โดย ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลย ใช้พันธุ์ข้าวเพียง 2 ขีดต่อไร่ ในขณะที่ชาวนาทั่วไปใช้ข้าว 3 กิโลกรัมต่อไร่ อีกทั้งยังประหยัดค่ายาคลุมหญ้าและยาฆ่าหญ้า ประหยัดเงินได้ 500 บาทต่อไร่ อายุข้าวในนาสั้นลง 10-15 วัน สามารถวางแผนหนีน้ำท่วมได้ เมื่อขายก็กำหนดราคาขายเองได้ ซึ่งมากกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนด"
ด้านนายบรรเทา กล่าวว่า ความยั่งยืนของข้าวหอมมะลิไทยจะเกิดขึ้นได้ เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนนิสัย ลดความมักง่าย โดยเฉพาะเรื่องการใช้สายพันธุ์ข้าวที่เร็ว เร่งผลผลิต
"นอกเหนือจากโครงการรับจำนำข้าวแล้ว อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วย เพราะปัจจุบันมีเกษตรกรเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ขายข้าวในโครงการรับจำนำได้ เนื่องจากข้าวผลิตข้าวได้น้อย และขายไม่ได้ราคา เนื่องจากเกษตรกรขายข้าวสด ต้องโดนหักค่าความชื้นไปจำนวนมาก"