เชื่อนักกม.ไทยงานชุก ไม่ตกงาน เปิดเสรี AEC ปี’58
บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชื่อดัง ชี้ “จีน- พม่า” ตลาดวิชาชีพกฎหมายใหญ่ที่น่าสนใจ แนะก่อนเปิด AEC ไทยต้องรีบปฏิรูประบบกฎหมายครั้งใหญ่ รวมถึงปฏิรูปด้านภาษี และสังคม
วันที่ 16 พฤศจิกายน ในงานจุฬาฯวิชาการ 2555 มีการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “เปิดเสรีอาเซียน : โอกาสและความท้าทายของวิชาชีพกฎหมาย” ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาชีพนักกฎหมายยังไม่ถูกเปิดให้เคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี แต่อาชีพทนาย นักกฎหมายต่างชาติ จะตามไปกับการลงทุนเสมอ ซึ่งจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ เจ้าของทุนมาตั้งสำนักงานแล้วให้นักกฎหมายในท้องถิ่นมาทำงานด้วย กับประเทศไทยเป็นคนตั้งสำนักงานท้องถิ่น มีหัวหน้าเป็นคนไทยแล้วให้นักกฎหมายต่างชาติเข้ามาทำงาน ซึ่งมีวิธีการปกป้องวิชาชีพกฎหมายไทย เช่น การไม่ให้คำว่า Lawyer กับนักกฎหมายต่างชาติ หรือเวลาทำงานจะต้องประกบกับนักกฎหมายไทย เป็นต้น
ส่วนลักษณะงานบริการด้านกฎหมาย เช่น ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา กรมราชทัณฑ์ หรือข้าราชการในกฤษฎีกา นั้น คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จะไม่ถูกนักกฎหมายต่างชาติแย่งงาน เพราะเรามีสิทธิที่จะไม่เปิดตลาด เนื่องจากอาชีพเหล่านี้เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของรัฐ แต่งานที่จะถูกแย่งคืองานของภาคเอกชน
“ปัจจุบันมีที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นคนต่างชาติอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นลักษณะไม่ผูกพัน (unbound) ทำให้เรายังไม่สามารถกำกับดูแลได้ จึงต้องการการแก้ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวในอนาคตมาช่วย หรืออาจแก้ พ.ร.บ.ทนายความของเราเอง”
คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมนิสิตที่จบจากนิติศาสตร์จุฬาฯ ให้ออกไปแข่งขันในระดับอาเซียนด้วยว่า ขณะนี้ได้เตรียมการทั้งในเรื่องภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาบาฮาซา เพราะบางส่วนของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์พูดภาษาบาฮาซา ในเรื่องหลักสูตรนั้นก็ได้เปิดวิชากฎหมายอาเซียนในระดับชั้นปีที่ 4 มากว่า 3 ปีแล้ว รวมถึงกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคด้วย
“ด้านวิธีการเรียนการสอน ได้เน้นสอนให้นักศึกษารู้จักวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ อย่างน้อยสามแง่มุม ในห้องสมุดมีฐานข้อมูลนิติศาสตร์ระดับนานาชาติ โดยสนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม”
เร่งแก้กม.ทนายความ
ด้านศาสตราภิชานบุญมา เตชะวณิช อุปนายกฝ่ายวิชาการ สภาทนายความ กล่าวถึงการกำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพกฎหมาย ในส่วนของการกำกับดูแลมาตรฐานคนที่จะมาเป็นทนายความนั้น ขณะนี้สภาทนายความได้หารือกันแล้วว่า จะแก้ พ.ร.บ.ทนายความในส่วนใดบ้าง โดยได้ส่งร่างไปที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนี้เงียบหายไปในขั้นตอนของรัฐสภา
“แนวทางการแก้ เช่น ให้คนต่างด้าวสามารถสอบใบอนุญาตทนายความได้ แต่ต้องสอบเป็นภาษาไทย ในส่วนใบอนุญาตก็เห็นว่า ควรจะแยกเป็นใบอนุญาตทนายความ กับใบอนุญาตที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศอย่างละใบ เพื่อกำกับจรรยา-มรรยาทของทนายต่างประเทศ” อุปนายกฝ่ายวิชาการ สภาทนายความ กล่าว พร้อมแสดงความเป็นห่วงในอนาคต หากมีสำนักงานทนายความต่างประเทศมาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ควรให้เข้ามาตั้งแบบหุ้นส่วนกับทนายไทย ไม่ใช่มาเป็นนายจ้าง
เรียนรู้กม.เบื้องต้นประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล อดีตเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา กล่าวถึงผลกระทบจาก AEC ต่อวิชาชีพกฎหมายไทย ส่งผลให้คนในวิชาชีพกฎหมายควรต้องรู้พื้นฐานระบบกฎหมายของแต่ละประเทศว่า อิงระบบCommon Law หรือระบบประมวลกฎหมายเพื่อเป็นฐานทำความเข้าใจ ควรรู้แนวกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเพื่อนบ้านเพื่ออาจให้ความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับนิติกรรม สัญญา ควรรู้แนวกฎหมายเศรษฐกิจเพื่อให้รู้บรรยากาศของการค้าขายและการลงทุน และควรรู้แนวกฎหมายการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุนทั้งขาเข้า-ขาออก เพื่ออาจให้ความเห็นเบื้องต้นกรณีมีข้อพิพาท
“โอกาสของนักกฎหมายไทยจาก AEC คือจะมีงานเข้ามากขึ้น มีโอกาสร่วมทุนหรือร่วมจัดกลุ่มสำนักงานกับสำนักงานกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน และอาจจำเป็นต้องว่าจ้างนักกฎหมายต่างชาติเข้ามาทำงานเพื่อให้ความเห็นกฎหมายในประเทศที่คนไทยจะไปลงทุน”
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า AEC เป็นโอกาสให้นักกฎหมายไทยก้าวออกไปสู่ระดับนานาชาติ แต่เราต้องปฏิรูประบบกฎหมายครั้งใหญ่ รวมถึงปฏิรูปด้านภาษี และสังคม
“ปัจจุบันสำนักงานกฎหมายใหญ่ที่สุดของจีนได้ควบรวมกับสำนักงานกฎหมายใหญ่ของออสเตรเลีย ดังนั้นจีนจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดวิชาชีพกฎหมายใหญ่ที่น่าสนใจในอนาคต ส่วนตลาดใหญ่สำหรับอาเซียนในวันนี้คือพม่า” ศ. (พิเศษ) กิติพงศ์ กล่าว พร้อมกับเชื่อว่า นักกฎหมายไทยที่มีความรู้ด้านภาษา จะไม่ตกงานอย่างแน่นอน