“สภาเกษตรกรแห่งชาติ” เร่งทำแผนแม่บทจากเสียงเกษตรกร หลังถ่ายโอนภารกิจ กษ.
กษ.ส่งมอบภารกิจสู่สภาเกษตรกรแห่งชาติ ชี้ 2 ปีตามบทเฉพาะกาลยังไม่มีผลงานรูปธรรม-เน้นเตรียมพร้อมโครงสร้างองค์กร ติดเครื่องต่อเร่งทำแผนแม่บทบูรณาการสะท้อนความต้องการ-แก้ปัญหาเกษตรกร
วันที่ 16 พ.ย. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯลงนามส่งมอบภารกิจงานสภาเกษตรกรแห่งชาติให้สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยมีนายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และนายวิทยา ประจันตะเสน เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ รับมอบภารกิจ
นายฉลอง กล่าวว่าตามที่กระทรวงเกษตรฯได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 โดยจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจัดให้มีการเลือกประธานและสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด รวมทั้งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยมีประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางนั้น ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯได้เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เช่น การหางบประมาณสนับสนุน จัดหาสถานที่ทำการของสำนักงานสภาเกษตรแห่งชาติ และจัดทำหลักเกณฑ์ดำเนินการเรื่องต่างๆด้านกฎหมาย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัดสามารถสามารถดำเนินงานด้วยตนเองต่อไป
บัดนี้ตามที่พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ลงในประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2553 ซึ่งกำหนดให้กระทรวงเกษตรฯรับหน้าที่ดูแลและดำเนินการแทนสภาเกษตกรฯในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกแล้ว จึงได้ส่งมอบภารกิจให้แก่สภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจะโอนอำนาจและภารกิจทุกด้านรวมทั้งส่งมอบเรื่องระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลของสภาเกษตรกรฯ และส่งมอบงบประมาณในปี 2555 และปี 2556 กว่า 200 ล้านบาท ให้แก่สภาเกษตรกรฯเพื่อนำไปบริหารงานต่อไป โดยกระทรวงเกษตรฯพร้อมให้การสนับสนุนงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัดต่อไป
ด้านนายสิทธิพร กล่าวว่า แม้สภาเกษตรกรฯจะรับมอบการถ่ายโอนภารกิจมาแล้ว แต่นโยบายการทำงานของสภาเกษตรกรฯและกระทรวงเกษตรฯจะยังดำเนินการสอดคล้องควบคู่กันไป โดยนับจากนี้ ภารกิจสำคัญของสภาเกษตรกรฯ คือ การเร่งจัดทำแผนแม่บทด้านการเกษตรแบบบูรณาการจากล่างสู่บน โดยการรับฟังข้อเรียกร้องและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน-ระดับจังหวัด เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีโดยตรง และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้จะเน้นแก้ไขโครงสร้างปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ เพื่อลดต้นทุนเพิ่มคุณภาพผลผลิตรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เนื่องจากรัฐบาลจะไม่สามารถแทรกแซงราคาพืชผลได้ โดยต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ฉะนั้นการแก้ไขเรื่องปัจจัยการผลิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงผลงานที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของสภาเกษตรกรฯ เลขาธิการสภาเกษตรกรฯ กล่าวว่าการดำเนินงานของสภาเกษตรฯในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมายังอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาลจึงยังไม่มีผลงานใดที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด แต่เป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องกฎเกณฑ์และโครงสร้างต่างๆ อย่างไรก็ดีแม้หน่วยงานจะยังอยู่ในช่วงสร้างตัว แต่สมาชิกสภาเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ก็ได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมชุมชนแล้ว โดยที่ผ่านมาสภาเกษตรกรฯได้จัดเวทีเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านราคาผลผลิต, จัดทำข้อเสนอราคายางพาราตกต่ำต่อนายกรัฐมนตรี, และตั้งคณะทำงานคอยติดตามช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวด้วย .