นักวิชาการหวั่นไทยเจอโขดหินก้อนใหญ่ มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เชื่อหลังเข้าสู่ AEC ไทยเจอโขดหินก้อนใหญ่จากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ดร.สุทธาภา ชี้กรีซรัดเข็มขัด เปลี่ยนผู้นำจีน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลาง ปัจจัยภายนอกกระทบศก.ไทยแน่ 2-3 ปีข้างหน้า
วันที่ 15 พฤศจิกายน ภายในงานจุฬาฯ วิชาการ'55 มีเวทีเสวนา เรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ถึงยุค AEC” ณ ห้อง 202 ชั้น 2 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นวิทยากร รวมทั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ดร.ปรเมธี กล่าวถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่โดยรวมแล้วไม่ถือว่า เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับประเทศไทย เพราะไทยมีประสบการณ์จากการเปิดเสรีทางการค้ามาหลายกรอบความร่วมมือแล้ว โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเองก็ได้มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับ AEC ให้ครอบคลุมประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักไว้แล้ว แต่การจะเป็นประชาคมเต็มตัวนั้นยังต้องใช้เวลาอีกมาก
“แรกๆ ที่เราเริ่มคุยกันเรื่องนี้ ก็มีวาดภาพว่า เปิดเสรีในทุกอย่าง ทั้งสินค้า บริการ และแรงงาน และทุกอย่างจะไหล ส่วนการนี้ก็คงเป็นการเริ่มต้น แต่การเข้าสู่ภาคประชาคมที่ดีมากๆ นี่ค่อนข้างยากและใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น ในปีที่เริ่มต้นนี้เป็นแค่ก้าวหนึ่งที่เข้าสู่ทางเดินเท่านั้น”
ส่วนเรื่องของสินค้าส่งออกนั้น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า สินค้าหลายๆ ตัวมีความพร้อม เช่น อาหารแช่แข็ง ผลไม้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาพยนตร์ เป็นต้น ส่วนสิ้นค้าที่ยังไม่ค่อยพร้อมมากนัก ได้แก่ สิ่งทอและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ส่วนในภาคบริการ ธุรกิจสุขภาพและท่องเที่ยวของไทยถือว่าได้เปรียบเพื่อนบ้านสูง
ด้าน ดร.สุทธาภา กล่าวว่า ปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบระบบเศรษฐกิจไทยหลังเข้าสู่ AEC นั้น ความเสี่ยงระยะใกล้ช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ได้แก่ มาตรการรัดเข็มขัดของกรีซ การเปลี่ยนผู้นำของจีน และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยในระยะกลางที่อาจสร้างความเสี่ยงได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและภาระหนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้วที่อาจทำให้ไม่สามารถเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของไทยได้อีกอย่างน้อย 15 ปี ในระยะกลางไทยและอาเซียนจึงอาจต้องปรับตัวเพื่อซื้อขายกันเองภายในเอเชียมากขึ้น
สำหรับธุรกิจที่น่าเป็นห่วง ดร.สุทธาภา กล่าวว่า คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากมีลักษณะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายที่แข็งแรง ทำให้อาจแข่งขันกับธุรกิจโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ในอนาคตไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสุขภาพยังมีแนวโน้มเจริญเติบโตได้ดี ส่วนธุรกิจอาหารก็ยังเติบโตได้เช่นกัน แต่อาจต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ช่วงท้ายของการเสวนา รศ.ดร.ชโยดม กล่าวด้วยว่า การเข้าสู่ AEC ในปี 2558 นี้จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ความท้าทายจริงๆ อยู่หลังจากนั้น โดยเฉพาะปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
“เรารวมแม่น้ำเป็นสายเดียว เราคิดว่าเราจะแล่นเรือได้ กลับพบว่า เรือดังกล่าวอาจจะชนโขดหินที่เกิดมาจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐานของสินค้า เราส่งสินค้าไปขายบ้านเขา เขาบอกไม่ได้มาตรฐานของเขา มาตรฐานอุตสาหกรรม มาตรฐานทางด้านสุขอนามัยของคน พืช และสัตว์ของเขา หรือมาตรฐานสินค้าฮาลาล เป็นต้น ตรงนี้เป็นเรื่องเกี่ยวการกีดกันหรือการปกป้องด้วยมารตการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งปัจจุบันเยอะมากและเริ่มใช้กันแล้วในประเทศกลุ่มอาเซียน เพราะฉะนั้น แม่น้ำสายใหญ่ แต่โขดหินก้อนใหญ่ขึ้นกว่าเดิม” คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว