ปีนี้อีสานแล้งสุดรอบ 10 ปี - กบอ.อนุมัติ 60 ล้านบ.ช่วยเกษตรกรหาอาชีพทดแทน
กษ.ชี้ปีนี้ปริมาณน้ำอีสานต่ำสุดรอบ 10 ปีแล้งหนัก เร่งแผนปลูกพืชฤดูแล้ง กบอ.อนุมัติงบ 60 ล้านบ.ช่วยเกษตรกรหาอาชีพทดแทน
วันที่ 15 พ.ย. 55 ที่กรมชลประทาน(ปากเกร็ด) มีการประชุมชี้แจงแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2555/56 โดยนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งปีนี้พบว่า ปริมาณน้ำฝนปี 2555 ทั้งประเทศลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 18 โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงถึงร้อยละ 29 และเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีบางส่วนเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภาคเหนือ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 33 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงถึงร้อยละ 55 โดยมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ 55,268 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 น้อยกว่าปี 2554 จำนวน 14,245 ล้านลบ.ม.
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้กรมชลประทานไม่สามารถส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวนาปรังได้ จึงได้ประกาศแจ้งให้งดการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในบางพื้นที่ เช่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หนองหวาย ลำตะคอง ห้วยหลวง มูลบน ลำแซะ และปราณบุรี
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2555/56 ทั้งประเทศจำนวน 16.62 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 13.99 ล้านไร่ พืชไร่-ผัก 2.63 ล้านไร่ โดยในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 23 จังหวัดจำนวน 9.6 ล้านไร่ ประกอบด้วยข้าวนาปรัง 9.17 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก ประมาณ 0.43 ล้านไร่ โดยกำหนดการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1.96 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.36 ล้านไร่ พืชไร่-ผัก 0.60 ล้านไร่ โดยจะส่งเสริมให้เกษตรปลูกพืชตามแผนที่กำหนด
ทั้งนี้มีนโยบายด้านการจัดสรรน้ำ โดยการจัดสรรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยให้ความสำคัญการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการประปาก่อน รองลงมาคือ รักษาระบบนิเวศทางน้ำ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม การขับไล่น้ำเสีย , การเกษตรกรรม และการอุตสาหกรรม และให้ความสำคัญในการจัดสรรน้ำแก่พื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายจากฤดูนาปีและพื้นที่ประสบอุทกภัย รองลงมา คือ พื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่รอบเวรการส่งน้ำ ,พื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย เช่น การปลูกพืช-ผัก
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน กล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 55 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 5.5 หมื่นล้านลบ.ม. เป็นน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ 31,469 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 16,490 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 4,000 ล้านลบ.ม. ภาคกลาง 1,080 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันตก 23,800 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,100 ล้านลบ.ม. และภาคใต้ 5,670 ล้านลบ.ม. โดยภาพรวมสถานการณ์ปกติดี ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากมีปริมาณน้ำน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2546
ด้านนายวิทยา อธิปอนันต์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลผลิตนาปรังช่วงหน้าแล้งในเขต 23 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 700-800 กก./ไร่ ขณะที่บางพื้นที่ได้ผลผลิตมากถึง 1,000 กก./ไร่ ทั้งนี้ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังปี 2555/56 (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ทั้งประเทศอยู่ที่ 11 ล้านตัน ซึ่งไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงโครงการจำนำข้าวซึ่งราคาอาจมีผลดึงดูดให้เกษตรกรไม่ปฏิบัติตามแนวทางการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ประธานคณะกรรมการทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ข้าวนาปรังปี55/56 กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯมีโครงการจัดระบบปลูกข้าวปีละ 2 ครั้งอยู่แล้ว และหากเกษตรกรปลูกหลายครั้งโครงการรับจำนำข้าวก็มีเกณฑ์ให้ขายข้าวได้ 2 ครั้ง/ปี/แปลง/ราย ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งเสริมกัน จึงเชื่อว่าโครงการรับจำนำจะไม่ส่งผลต่อการจำกัดปริมาณการใช้น้ำในแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง
ด้านปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุมวางแผนเรื่องดังกล่าวร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกบอ.มีความเป็นห่วงเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งขาดแคลนน้ำ โดยได้สั่งให้กระทรวงเกษตรฯระดมเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เกษตรจังหวัดไปถึงเกษตรตำบลลงสำรวจปริมาณน้ำแต่ละพื้นที่ว่าสามารถรองรับการปลูกพืชของเกษตรกรได้มากน้อยเพียงใด พร้อมกับทำความเข้าใจแก่เกษตรกรเรื่องแนวทางการปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับต้นทุนน้ำและรับฟังข้อเรียกร้องเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง
โดยกบอ.ได้อนุมัติงบประมาณเกือบ 60 ล้านบาทจำนวน 2 โครงการ เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืช จำนวนเงิน 34 ล้านบาท และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำมาก ไม่สามารถเพาะปลูกได้ เช่น ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง เพาะเห็ด จำนวนเงิน 27 ล้านบาท โดยขณะนี้มีเกษตรกรในภาคอีสานจำนวน 20,000 รายที่ต้องการให้กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมอาชีพอื่นแทน
อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีเกษตรกรกว่า 4 แสนรายที่ที่ได้รับความเสียหายจากฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 55 – ปัจจุบัน โดยมีพื้นที่เกษตรที่เสียหาย 3.59 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปี 3.58 ล้านไร่ พืชไร่ 9,641 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 2,060 ไร่ โดยทางราชการจะช่วยเหลือเป็นเงินสดตามระเบียบกระทรวงการคลัง คือ ข้าว 606 บาท/ไร่ พืชไร่ 837 บาท/ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 912 บาท/ไร่ และการฟื้นฟูผลไม้ 287 บาท/ไร่
ทั้งนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชในช่วงหน้าแล้งหันมาปลูกพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อยแทน