“หมอประดิษฐ์” เดินหน้าแก้สภาพคล่องโครงการ 30บ.รักษาโรค ดึงเอกชนร่วม
“หมอประดิษฐ์” เดินหน้าคุมเหมาจ่ายรายหัวโครงการ 30บาทคงที่ 3 ปี ยืนยันไม่ลดคุณภาพ บริหารแบบธุรกิจแก้สภาพคล่อง ดึง ขรก.ท้องถิ่น 4 แสนคน-ต่างด้าวเข้าโครงการ ชวนเอกชนร่วมจัดบริการ
วันที่ 15 พ.ย.55 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพ จัดสัมมนา “ชะตากรรมคนไทยหลังรัฐคุมค่าจ่ายรายหัว 3 ปี” โดยน.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่าโครงการ 30 บาทที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนปีละ 6-7 หมื่นล้านบาทและเพิ่มขึ้นเป็นปีละแสนล้านบาท อาจมากถึง 2 แสนล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสุขภาพที่มีสูงมากถึง 12-13 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งประเทศหรือ 3.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐแต่ยืนยันว่าจะไม่ลดคุณภาพการดูแลสุขภาพประชาชน จะใช้วิธีบริหารการลงทุนให้คุ้มค่า
ทั้งนี้ประชาชนที่อยู่ในโครงการ 30 บาทมี 48.5 ล้านคน พบว่ามีผู้เข้าใช้บริการปีละ 32.6 ล้านคน จำนวนนี้ใช้บริการเดือนละ 1 ครั้ง 31 ล้านคน ใช้บริการมากกว่า 1 ครั้ง 1 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง จึงต้องมีการปรับแนวคิดและขบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยในปี 2556 -2558 รัฐบาลจัดสรรงบรายหัวโครงการ 30 บาทในอัตราคงที่ 2,755.60 บาท ต่อหัวต่อปี ซึ่งเมื่อมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เต็มที่แล้ว หากเหลือจ่ายก็สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นๆ หากไม่พอ รัฐก็จะสามารถจัดสรรส่วนที่ขาดได้อย่างถูกต้อง โดยมี 6 แนวทางดังนี้
1.การอภิบาลระบบงานไม่ให้ซ้ำซ้อน กำหนดบทบาทแยกกันชัดเจน ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ ผู้กำหนดหลักเกณฑ์ มีการซื้อบริการระดับเขต 2.การบริหารกำลังคนให้มีการจ้างงานที่ดีขึ้น ไม่ให้ไหลออกสู่ภาคเอกชน จัดระบบบริการที่ประหยัดกำลังคน เช่น การรวมศูนย์คลังยา การนำระบบดิจิตอลมาใช้ในห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ลดการใช้คนที่ไม่จำเป็น 3.การสร้างประสิทธิภาพ นำการบริการแบบธุรกิจมาใช้ให้มีสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้องค์การเภสัชกรรมช่วยสต็อกยาให้โรงพยาบาลใช้อย่างเพียงพอ โรงพยาบาลไม่ต้องลงทุนเอาเงินไปซื้อยามากเกินไป มีการใช้ทรัพยากรต่างๆร่วมกันให้ถึงจุดคุ้มทุน เช่น ใช้ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนได้ และมีแนวความคิดที่จะนำเอกชนมาร่วม ตั้งแต่งานบริการพื้นฐานธรรมดาจนถึงการลงทุนต่างๆ เช่น ใช้คลินิกเอกชนแทนการลงทุนสถานพยาบาลปฐมภูมิ นำเอกชนเข้ามาร่วมในหน่วยล้างไต ประชาชนจ่ายค่าบริการที่ถูกลง พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ได้ค่าแรงมากขึ้น
4 เพิ่มรายรับ เช่น จัดระบบบริการข้าราชการส่วนท้องถิ่น 4 แสนคนทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มที่ยังขาดระบบดูแล เช่น จัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับสิทธิเป็นไปตามกฎหมาย อยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคม ทั้งนี้เพื่อป้องกันควบคุมโรคและแก้ไขปัญหาประชากรต่างด้าว 5.การบริหารการลงทุนเพื่อให้เกิดศูนย์รักษาเชี่ยวชาญ สร้างชื่อเสียงให้ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในภูมิภาคนี้ และบริการดุจเครือญาติระดับโลก ลงทุนระบบเอ็กซเรย์ดิจิตอล ซึ่งลดค่าใช้จ่ายการซื้อฟิล์มรังสีเดือนละหลายแสนบาท โดยจะทดลองนำใช้ในบางพื้นที่ในปีหน้า เพื่อเป็นต้นแบบ การลงทุนแต่ละเรื่องจะมีผลผลิตปรากฎออกมาอย่างชัดเจน
6.การประเมินผล โดยพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารระบบการดูแลด้านสุขภาพของประเทศเป็นระบบเดียวกันทั้ง 3 กองทุน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทฺธิผลและคุณภาพของงาน โดยทุกภาคส่วนต้องมีตัวชี้วัดเป้าหมายงานทุกกิจกรรมร่วมกันที่ชัดเจน ทั้งตัวชี้วัดทั่วไปและเฉพาะเรื่อง
น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่าว่า สธ.ได้วางแผนการจัดเป็นพวงบริการ 12 เครือข่ายให้เหมาะสมต่อการบริการที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบบริหารการเงินการคลังและกำลังคน แต่ละพวงบริการครอบคลุม 5-6 จังหวัด โดยจะให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดระหว่างโรงพยาบาลในพื้นที่ตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จนถึงโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ใช้ระบบการจัดสรรเงินรวมระดับเขตและการจัดซื้อยารวม เพื่อประหยัดงบประมาณ .
ที่มาภาพ ::: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000101383