เครือข่าย 7 จว.ลุ่มน้ำโขงจี้รัฐทบทวนเขื่อนไซยะบุรี กสม.เรียกร้องเปิดเผยอีไอเอ
เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำโขง ยื่น กมธ.สิ่งแวดล้อมจี้ รบ.ทบทวนเขื่อนลาวไซยะบุรี ระบุกฟผ.-4บริษัทไทยอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน หวั่นกระทบวิถี 7 จว.ริมโขงเหมือนเขื่อนจีน กสม.เรียกร้อง รบ.เปิดเผยอีไอเอ
วันที่ 15 พ.ย. 55 คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จัดสัมมนา ‘เขื่อนไซยะบุรีเดินหน้า อนาคตแม่น้ำโขง’ ณ อาคารรัฐสภา 2 จากกรณีการอนุมัติก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีเมื่อ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) โดยมีเสียงคัดค้านว่าขาดการศึกษาวิจัยผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงผลกระทบข้ามพรมแดน
นพ.นิรันดร์พิทักษ์วัชระ กรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่าภาคเอกชนควรคำนึงถึงหลักสิทธิชุมชน ธรรมาภิบาล และนิติธรรม รวมถึงรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 83 ที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง และมาตรา 84 ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจในระบบทุนที่เสรีและเป็นธรรม มิเช่นนั้นอาจทำลายเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีชุมชนได้ ทั้งนี้หวั่นว่าเขื่อนไซยะบุรีอาจซ้ำรอยกรณีการสร้างเขื่อนปากมูล ที่ทำลายวิถีชุมชน ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน
กรรมการ กสม.ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)โครงการเขื่อนไซยะบุรี สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน พร้อมวางแผนนโยบายการจัดการพลังงานอย่างมั่นคงในอนาคต เพื่อป้องกันความผิดพลาดเหมือนในอดีต ทั้งยังฝากถึงนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ล้มเลิกแนวคิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ให้ส่งเสริมการสร้างพลังงานทดแทนจากลมและแสงอาทิตย์จะส่งผลดีมากกว่า
นายมนตรี จันทวงศ์ อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 ม.ค. 54 ที่ให้ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ซึ่งกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด เมื่อ 29 ต.ค. 54 โดยยึดเพียงจดหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว ที่แจ้งว่ากระบวนการได้สิ้นสุดแล้ว และการสร้างเขื่อนเป็นอำนาจอธิปไตยของลาว เป็นการตีความไม่ถูกต้อง เพราะกฟผ. อ้างหนังสือลาวฉบับเดียวเท่านั้น นอกจากนี้การลงนามของกฟผ.ดังกล่าวยังขัดต่อเงื่อนไขไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั่วถึงด้วย จึงจำเป็นต้องแปลและเปิดเผยรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ (เอฟเอส) อีไอเอ แลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้เป็นภาษาไทยใหม่ เพื่อประชาชนจะได้เข้าถึงตามสิทธิรธน.พร้อมจัดศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเขื่อนไซยะบุรี
ขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่กฟผ. ปฏิเสธการเผยแพร่ข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาธุรกิจ ถือว่าเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายไทย อีกทั้งการสร้างเขื่อนยังไม่มีกลไกตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขายในสัญญาเดียวกัน กรณีกฟผ. กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด ซึ่งมีหุ้นในบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ถึง 12.5%
ขณะที่นายนิวัติ ร้อยแก้ว กลุ่มรักเชียงของ กล่าวว่าภายหลังจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทำให้ 7 จังหวัดที่อาศัยแม่น้ำโขงหาเลี้ยงชีพ ทั้งทำเกษตร ประมง ได้รับผลกระทบจากการกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ฉะนั้นหากเกิดเขื่อนไซยะบุรีขึ้นจะยิ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงของแม่น้ำตามธรรมชาติ และการวางไข่ของสัตว์น้ำอพยพ ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินการตามขั้นตอนที่เคยประกาศให้มีการศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อน แต่ไม่สามารถจัดการได้ สะท้อนว่ารัฐบาลห่วงใยคนรวยมากกว่าคนจน
“รัฐบาลปัจจุบันอย่าพูดถึงประชาธิปไตย คุณกลัวการรัฐประหาร แต่กลับรัฐประหารแม่น้ำโขงเมื่อ 7 พ.ย. 55 เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลลาวและไทยร่วมมือกับกลุ่มทุนในไทยฉีกรธน. แม่น้ำโขงแล้ว” นายนิวัติ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัด ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่สนับสนุนโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและให้หาวิธีระงับหรือทบทวนในระดับนโยบาย ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
ซึ่งโครงการดังกล่าว มี 4 บริษัทจากไทยร่วมลงทุน โดยจัดตั้ง บริษัท ไฟฟ้าไซยะบุรี พาวเวอร์จำกัด ขึ้นดำเนินการ ประกอบด้วย 1.บริษัท ช.การช่าง จำกัด ถือหุ้น 57.5%2.บริษัท นที ชินเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทลูกปตท.) ถือหุ้น 25%3. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (บริษัทลูกกฟผ.) ถือหุ้น 12.5%4. บริษัท พี.ที.คอนสตัคชั่นแอนด์อิริเกชั่น จำกัด ถือหุ้น 5%ซึ่งมีแหล่งเงินกู้ของโครงการมูลค่า 115,000 ล้านบาท จากธนาคารสัญชาติไทย คือ ธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย, กรุงไทย และไทยพาณิชย์.