อดีตอธิบดีคต. ห่วงสต็อกข้าวล้น-ภาระหนี้เกินตัว
"วิจักร วิเศษน้อย" ถอดบทเรียนมองจำนำข้าว หวั่นก่อหนี้ก้อนโต ฉะรบ.ทำให้เกษตรกรเคยตัว ทำนาไม่เน้นคุณภาพ ชี้ไม่ควรใช้จีทูจีขายข้าวเป็นหลัก เชื่อไม่มีประเทศไทนให้ราคาสูง
วันที่ 15 พฤศจิกายน นายวิจักร วิเศษน้อย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "การแก้วิกฤตปัญหาการเกษตรระดับชาติ ในมิติทาสงการศึกษารูปแบบใหม่" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายในงาน "จุฬาฯวิชาการ 2555" ณ ศาลาพระเกี้ยว ถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลปัจจุบันว่า ในฐานะผู้เคยดูแลสต็อกข้าวของรัฐบาลในสมัยรัฐบาลปี 2553 มาก่อนรู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ข้าวไทยในขณะมาก เพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูง และก่อภาระหนี้ก้อนโต อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเดินหน้าโครงการต่ออีกไม่รู้จบ
"รัฐบาลกำหนดราคาข้าวสูงราคาเดียว แล้วปล่อยให้ข้าวไหลเข้าสต็อกของรัฐบาล เท่ากับว่ารัฐบาลกำลังผูกขาดข้าวในท้องตลาด จนขณะนี้ผมว่าว่าไทยมีสต็อกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งต่างกับสต็อกของอินเดียและจีนที่แม้จะมีสต็อกใหญ่ แต่ก็เป็นสต็อกที่กำหนดสินค้าคงคลังขั้นต่ำ (safety stock) เพื่อรองรับประชากรจำนวนมากของในประเทศ แต่ไทยเก็บเพื่อรอขาย โดยไม่เข้าใจว่าข้าวเป็นสินค้าที่ปล่อยช้าก็เน่า ปล่อยเร็วอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็ราคาไม่ดี เปรียบเสมือนการเก็บน้ำในเขื่อน ยิ่งเก็บเข้ามาก เขื่อนก็ยิ่งพัง ยิ่งแตก มีแต่เจ๊ง อีกอย่างรัฐบาลก็ไม่ใช่พ่อค้า จะเก่งมาจากไหนอยู่ๆ จะมาทำการค้าขายเอง"
นายวิจักร กล่าวถึงเรื่องการระบายข้าวของรัฐบาลต่อว่า การที่รัฐบาลมุ่งเน้นระบายข้าวแบบจีทูจีนั้น ตนเห็นว่าจีทูจี ไม่ใช่วิธีที่จะนำมาระบายหรือขายข้าวหลักๆ ควรใช้เป็นวิธีขายเสริมไปกับกลไกการระบายแบบอื่น เพราะจีทูจีเป็นการขายข้าวในราคาเป็นมิตร จะไปกราบให้ประเทศไหนมาซื้อข้าวในราคาแพง คงไม่มีใครยอมซื้อ ส่วนตัวเลขการขายข้าวที่รัฐบาลเคยประกาศว่าขายข้าวไปได้มาก และเหลือข้าวในสต็อก 4 ล้านตันนั้น พบว่า เป็นฝีมือการขายของพ่อค้ามาโดยตลอด ส่วนของจีทูจีนั้นมีน้อยมาก
"ผมไม่อยากให้ภาระหนี้สูงไปกว่านี้ ไม่อยากให้สถานการณ์ข้าวไทยแย่ เพราะงบประมาณล้วนมาจากภาษีประชาชน"
อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวต่อว่า ข้อเสียของโครงการรับจำนำข้าว ที่เห็นเด่นชัด ได้แก่
1.เป็นนโยบายที่ทำให้เกษตรกรเคยตัว เหมือนให้เกษตรกรกินยาเสพติด
2.ขณะนี้รัฐบาลมีสถานะเหมือน "ขี่หลังเสือ จะลงก็ลำบาก" เลิกนโยบายได้ยาก
3.ทำให้เกษตรกรทำนาโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพข้าว
"ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ภาระทางการเงินการคลังของประเทศ รัฐบาลควรนำงบประมาณจำนวนมากจากโครงการนี้ไปทำวิจัย เพื่อพัฒนาพันธุ์และคุณภาพข้าว รวมถึงเพิ่มและพัฒนานักวิจัยและนักการศึกษาด้านการเกษตรให้มากขึ้นจะคุ้มค่าและเป็นการพัฒนาในระยะยาวมากกว่า"