ดร.ประสาร แนะแบงก์ไทย รุกคืบเปิดสาขากลุ่มประเทศ CLMV
ผู้ว่าแบงก์ชาติติงรัฐรอบคอบเจรจา "TPP" ยึดหลักได้ประโยชน์สูงสุด ยอมรับไทยเสียเปรียบภาคการเงิน ระบุกำลังร่างเกณฑ์คุณสมบัติ “ธนาคารพาณิชย์ภูมิภาคอาเซียน” เล็งอีก 2-3 ปี ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ผ่านเกณฑ์ออกไปตั้งสาขาในทุกประเทศอาเซียนได้
(15 พ.ย.) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถา เรื่อง “โอกาสและศักยภาพทางการเงินของไทยในยุค AEC” ในงานจุฬาฯวิชาการ 2555 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร. ประสาร กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการค้า การบริการ และการลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีเป้าหมายคือการรวมกลุ่มด้านการเงินเข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการรวมตัวด้านเศรษฐกิจที่แท้จริงในปี 2015 แต่ด้วยความอ่อนไหวของภาคการเงิน ประกอบกับการที่ประเทศสมาชิกยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างอยู่มาก การรวมตัวด้านการเงินจึงเป็นไปในรูปแบบที่ยืดหยุ่น โดยตั้งเป้าหมายของการรวมกลุ่มด้านการเงินไว้เป็นปี 2020 เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลาปรับตัวและเตรียมพร้อม
ผู้ว่าฯธปท. กล่าวต่อว่า การค้าและการลงทุนใน AEC ต้องการการสนับสนุนจากความร่วมมือด้านการเงินที่จะเกิดขึ้นใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การชำระเงิน คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีการเชื่อมโยงระบบการเงินเพื่อรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการ
2.การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน ถ้าไม่ปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ระบบชำระเงินที่ร่วมมือกันก็เปล่าประโยชน์ โดยต้องหาจุดสมดุลระหว่างความสะดวกของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และ การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศ ในปี 2020 อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากประเทศอื่นมาลงทุนในประเทศเราได้มากขึ้น และในทางตรงกันข้ามนักลงทุนไทยก็มีโอกาสในการลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น
3.การเปิดเสรีภาคธนาคาร มีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีการซื้อขายกันมากขึ้น ทั้งนี้ ขณะนี้ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศในอาเซียนกำลังหารือกันเพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่จะดำเนินกิจการในประเทศสมาชิกอื่น หรือที่เรียกว่า Qualified ASEAN Banks (QAB) โดยหวังว่าการสร้างกฎเกณฑ์ที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ของประเทศสมาชิกสามารถไปดำเนินกิจการในแต่ละประเทศได้สะดวกขึ้นกว่าปัจจุบัน ทั้งในด้านการจัดตั้งและในรูปแบบของธุรกิจภายในปี 2020
ดร.ประสารได้กล่าวถึงธนาคารไทยว่า อยากให้ธนาคารไทยมองว่าการเปิดเสรีภาคธนาคารเป็นโอกาสมากกว่าข้อเสีย คือเป็นโอกาสดีที่ภาคธนาคารจะได้ทยอยปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาศัยช่วงจังหวะที่อาเซียนกำลังรวมกลุ่มเป็น AEC และตักตวงผลประโยชน์จากเงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ที่เคลื่อนย้ายโดยเสรี นอกจากนี้ ธนาคารไทยควรหาตลาดที่เหมาะสมกับจุดแข็งของตนเอง (Niche market) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศได้โดยไม่แพ้ธนาคารต่างชาติ ส่วน ธนาคารไทยใดที่ยังไม่ได้ไปวางรากฐานในประเทศอาเซียน ก็ควรจะถือโอกาสนี้ออกไปเปิดสาขานอกพรมแดนไทย ซึ่งตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) เป็นตลาดเกิดใหม่ที่กำลังต้องการผู้นำทางที่จะนำพาธุรกิจไทยและขยายฐานลูกค้าของธนาคารเอง
และ 4. การพัฒนาตลาดทุนร่วม ที่จะทำให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากจะลดการพึ่งพาระบบธนาคารในการระดมเงินออมและจัดสรรเงินทุน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเงินโดยปริยายอย่างไรก็ตาม ตลาดทุนในแต่ละประเทศของอาเซียนมีขนาดเล็ก การเชื่อมโยงตลาดทุนทั้ง 8 แห่งในอาเซียน จะทำให้อาเซียนมีเงินทุนมหาศาลเพื่อจะรองรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประชาคม โดยจะมีขนาดถึง 1.98 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
ผู้ว่าฯธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดทุนได้เกิดการเชื่อมโยงกันขึ้นแล้วในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คือ ที่รู้จักกันในชื่อว่า ASEAN Linkage โดยเริ่มจากการเชื่อมโยงของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และมาเลเซียในเดือนกันยายน และได้เชื่อมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และในอนาคตคาดว่าตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ในอาเซียน จะเชื่อมโยงเข้าหากัน ทำให้ตลาดอาเซียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะสามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลกได้มากขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น ธุรกิจระดมทุนได้ถูกลง และยังป้องกันปัญหาการถูกลดบทบาท (marginalized) ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ยังกล่าวถึง ท่าทีของรัฐบาลที่สนับสนุนกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ว่า ถ้า TPP เข้ามาใน AEC ด้วยก็จะเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น เท่าที่ศึกษาพบว่า ประเทศไทยจะมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ ซึ่งคงต้องมีการหารือร่วมกันอีกหลายรอบว่าข้อตกลงที่จะทำนั้นประเทศได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แต่ยอมรับการเปิดเออีซีจะเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคได้มากกว่า เพราะมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียง และมีความยืดหยุ่น
ขณะที่ภาคการเงินที่จะเปิดเสรีตามข้อตกลงของ TPP ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบและดูความเชื่อมโยงกับการเปิดเออีซีด้วย
"สถาบันการเงินไทยเราแข็งแกร่งสามารถรับมือกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยได้ก็จริง แต่หากออกไปแข่งขันในต่างประเทศยังเสียเปรียบในด้านฐานทุน เทียบกับสหรัฐแล้วเรายังสู้ไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า จากการที่ภาคการเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การเจรจาด้านนี้คงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง" นายประสารกล่าว