ใต้เงียบฉี่-ดีกรีรุนแรงอ่อน...กลุ่มป่วนพักร้อนหรือรัฐแก้ตรงจุด
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วงนี้ ไม่ค่อยมีปรากฏเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวัน หรือเป็นข่าวนำทางวิทยุโทรทัศน์ สาเหตุสำคัญไม่ได้เป็นเพราะการเมืองในส่วนกลางร้อนแรงกว่า แต่ทว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นน้อยลงอย่างน่าประหลาดใจ
นับเฉพาะเดือน พ.ย. ผ่านมา 14 วัน มีถึง 4 วันที่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย คือวันที่ 2, 5, 8 และ 10 พ.ย. ซึ่งในแง่จำนวนวันถือว่าไม่น้อยทีเดียว
ขณะที่เหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่ชี้ชัดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ ก็มีเพียงเหตุคาร์บอมบ์และโชเล่ย์บอมย์ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 3 พ.ย. เหตุลอบวางระเบิดรถตำรวจ สภ.โสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 พ.ย. และเหตุการณ์ยิงครูที่ อ.ยะรัง เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นเหตุยิงรายวันซึ่งฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักว่ามาจากความขัดแย้งส่วนตัวมากกว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ป่วนใต้
หลายฝ่ายแม้แต่ทหารเองก็ยังเช็คข่าวซักถามกันเพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนใต้ ทำไมถึงเงียบผิดปกติ หลายเสียงหวั่นเกรงว่าจะเป็นการพักรบเพื่อรอก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในเร็ววันนี้...
พื้นที่"พูดคุยสันติภาพ"เพิ่มขึ้น
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ช่วงนี้ค่อนข้างนิ่งเพราะมีสัญญาณดีหลายอย่าง สังเกตเห็นได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คึกคักอย่างมาก มีโครงการซื้อขายพัฒนาที่ดิน ก่อสร้างที่พักอาศัย บ้านจัดสรร คอนโดมีเนียม และศูนย์การค้าหลายแห่ง โดยเฉพาะใน จ.ปัตตานี ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนเล็งเห็นความสงบ จึงรีบฉวยโอกาสลงทุนและเปิดตัวโครงการต่างๆ
พล.อ.เอกชัย ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิด "สัญญาณดีๆ" ที่ชายแดนใต้ ก็คือการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งด้านหนึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลที่มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ดำเนินการ มีการเจรจาลับๆ กันเยอะมาก ทั้งจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และหน่วยอื่นๆ ขณะที่ภาคประชาสังคมเองก็มีเวทีในลักษณะ "พูดคุยสันติภาพ" มากขึ้นเช่นกัน ทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบมีพื้นที่เคลื่อนไหวน้อยลง
"แม้แต่สถาบันพระปกเกล้าก็มีการเปิดหลักสูตร 4 ส.ภาคใต้ (หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข) ซึ่งคัดเลือกเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ในมิติต่างๆ ที่เป็น 'ตัวจริง' มาศึกษากึ่งฝึกอบรมดูงานร่วมกัน รุ่นแรกจำนวน 30 คน และมีแผนจะเปิดรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งคนเหล่านี้จะกลายเป็นเครือข่ายพูดคุยสันติภาพที่ขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ"
แต่กระนั้น พล.อ.เอกชัย ก็ยอมรับว่า เหตุรุนแรงจะยังคงมีอยู่และเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพราะในช่วงเวลาของการพูดคุยสันติภาพ (peace dialogue) ย่อมมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยหรือต้องการสร้างเงื่อนไขเพื่อต่อรอง ก็จะใช้วิธีก่อเหตุรุนแรง แต่จะน้อยลงและลดทอนพลังไปในที่สุด
"จ่ายเยียวยา"ได้ใจชาวบ้าน
ความเห็นของผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า สอดคล้องกับมุมมองของภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่าง นายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ที่เห็นว่า เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ยังคงมีอยู่ แต่เบาบางลง ซึ่งมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ
1.ภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวในประเด็นพูดคุยสันติภาพมากขึ้น และ
2.ศอ.บต.สามารถนำนโยบายของรัฐบาลมาปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมๆ กับสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการจ่ายเงินเยียวยา
"จุดนี้ทำให้เห็นว่ารัฐกำลังทบทวนความจริงบางอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกทิ้ง" ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุ
นายสิทธิพงศ์ กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะมีผลคือ ขณะนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับหน้าที่ดูแลปัญหาภาคใต้และงานด้านความมั่นคงเองแล้ว จึงเป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้ฝ่ายความมั่นคงต้องทบทวนนโยบาย ขณะที่การทำงานของฝ่ายทหารและตำรวจก็จะถูกตรวจสอบมากขึ้นจากฝ่ายการเมืองด้วย
ส่วนความสำเร็จจากการนำมาตรการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) มาใช้เพื่อให้กลุ่มผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเข้ามอบตัวและรับการฝึกอบรมเป็นเวลา 6 เดือนแทนการถูกฟ้องคดีอาญา ซึ่งล่าสุดมีผู้สำเร็จการอบรมไปแล้ว 2 คนนั้น นายสิทธิพงศ์ มองว่า มาตรการตามมาตรา 21 ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าส่งผลให้พื้นที่มีเหตุการณ์รุนแรงเบาบางลงหรือไม่ เพราะสถิติผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เข้าสู่กระบวนการยังน้อยมาก
ผลจากทลายแก๊งน้ำมันเถื่อน
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารจาก กอ.รมน.มองในมุมที่ต่างออกไปว่า เรื่องการเจรจาหรือพูดคุยสันติภาพน่าจะมีผลน้อยต่อสถานการณ์ เพราะไม่มีความชัดเจนว่าเป็นการเปิดโต๊ะพูดคุยกับผู้ก่อเหตุตัวจริงหรือผู้นำระดับสูงของขบวนการก่อความไม่สงบหรือไม่ ประกอบกับการพูดคุยเจรจาที่ไม่ได้มีอำนาจรัฐรองรับชัดเจนย่อมเห็นผลยาก
ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจาก กอ.รมน.มองว่า ประเด็นที่น่าจะส่งผลต่อสถานการณ์จนเงียบลงค่อนข้างมาก คือการทลายเครือข่ายค้าน้ำมันเถื่อนและสินค้าผิดกฎหมายรายใหญ่ที่ จ.ปัตตานี เมื่อกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเครือข่ายธุรกิจเถื่อนรายนี้มีเงินหมุนเวียนต่อเดือนมากกว่า 500 ล้านบาท และพบหลักฐานการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกสี ทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วย คาดว่าการทำลายเครือข่ายดังกล่าวทำให้เงินทุนสนับสนุนสำหรับก่อเหตุรุนแรงหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลแบ่งแยกดินแดน หรือการสร้างสถานการณ์เพื่อให้กิจกรรมผิดกฎหมายทำได้ง่ายขึ้นก็ตาม
กลุ่มป่วน"พักร้อน"รอเอาคืน
ด้านแหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานใน จ.นราธิวาส กล่าวในทำนองเดียวกันว่า สาเหตุที่สถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างสงบในช่วงนี้ เป็นเพราะปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงที่ทลายรังโจรซึ่งมีทั้งกลุ่มก่อความไม่สงบ ผู้ค้าน้ำมันเถื่อน กลุ่มอิทธิพล และกลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจริงจัง การปิดล้อมจับกุมก็กระทำเยอะมาก ส่งผลให้ฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐต้องหยุดพักเพื่อรอดูท่าที หรือรอโอกาสที่จะก่อเหตุใหม่อีกครั้ง
"หลังจากนี้ สายข่าวของเราเองก็แจ้งเตือนมาว่าน่าจะเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายไม่ต่ำกว่าร้อย ต้องมีเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่ก่อความเสียหายอย่างหนักเกิดขึ้น เหมือนจะเอาคืนจากช่วงที่หยุดพักไป" แหล่งข่าวจากฝ่ายตำรวจ คาดการณ์
ขณะที่ชาวบ้านไทยพุทธที่ไม่ขอเอ่ยนาม กล่าวว่า ทุกวันนี้คนร้ายน่าจะรอโอกาสและจังหวะในการก่อเหตุรุนแรงรอบใหม่ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกตรวจตราทั้งบนท้องถนนและในชุมชนอย่างเข้มงวด ทำให้กลุ่มคนร้ายขยับตัวยาก จะขนย้ายอาวุธก็ยากขึ้น แต่หากพ้นช่วงคุมเข้มนี้ไปหรือเจ้าหน้าที่เผลอไผลหย่อนยาน ก็จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีกอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับ นายอับดุลเลาะ ฮะยียามา นายกสมาคมปัญญาชนมุสลิม ที่บอกว่า ช่วงนี้น่าจะอยู่ในวาระที่ฝ่ายผู้ก่อการพักผ่อน เพราะขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้ก่อเหตุอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนรอมฎอนต่อเนื่องถึงช่วงรายอเกิดเหตุหนักมาตลอด กำลังคนที่ใช้จึงน่าจะมีความอ่อนล้า ประกอบกับเจ้าหน้าที่ก็บุกหนัก ทำให้ช่วงนี้ต้องหยุดพักก่อน
"แต่ก็ใช่ว่าเขาจะหยุดพักเฉยๆ ผมเชื่อว่าเป็นการรอจังหวะมากกว่า หลังจากนี้ต้องระวัง เพราะอาจมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้น เนื่องจากสภาพการณ์จริงในพื้นที่ยังไม่ได้สงบ และทุกๆ ปีก็เป็นลักษณะนี้มาตลอด มีหนัก มีเบา มีขึ้น มีลง" นายอับดุลเลาะ กล่าว
ใต้สงบโยงงบประมาณ?
ส่วนกลุ่มที่เห็นต่างออกไปอีกก็ยังมีไม่น้อย เช่น นายมุกตาร์ ซีกะจิ ผู้ประสานงานกลุ่มผู้เห็นจากต่างรัฐจาก จ.นราธิวาส จำนวน 93 คนที่เข้าแสดงตัวต่อแม่ทัพภาคที่ 4 และโฆษกพรรคประชาธรรม ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ยังเกิดขึ้นปกติ ต่อเนื่อง และมีเหตุร้ายรูปแบบต่างๆ เกิดอยู่เรื่อยๆ ยังไม่ได้เบาบางลง
"สำหรับผมถือว่าสถานการณ์ปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" มุกตาร์ ระบุ
ขณะที่ นายอิรฟาน สุหลง อดีตผู้สมัคร ส.ส.ยะลา พรรคเพื่อไทย เห็นว่า น่าจะเป็นเพราะผ่านช่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ไปแล้ว เพราะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะงบประมาณ
"ทุกๆ ปีเมื่ออยู่ระหว่างเดือน ก.ย. ช่วงการพิจารณางบประมาณ เหตุการณ์ก็จะหนักขึ้น แต่พอผ่านเดือน ก.ย.มา เหตุการณ์ก็เบาลง คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อเงินสามารถแบ่งส่วน แบ่งประโยชน์ให้กับคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างลงตัว เหตุการณ์ก็เบา แต่ถ้าไม่ลงตัว เหตุรุนแรงก็ยิ่งหนัก" เขากล่าว
แม้จะมีหลากหลายทัศนะ แต่สิ่งที่สรุปได้ตรงกันประการหนึ่งก็คือยังมีงานหนักอีกมากมายที่รอทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน...หากต้องการสันติสุขอย่างยั่งยืน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พี่น้องมุสลิมขายของคึกคัก ยิ้มแย้มต้อนรับผู้ไปเยือน
2 บรรยากาศในย่านการค้ากลางเมืองยะลา (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)