ถอดโมเดลการเรียนรู้จากภัยธรรมชาติ...ของคนบนเกาะชวา
จากเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้พัดเข้าถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 100 คน และสร้างความเสียหายในวงกว้างมากมายนั้น ถือเป็นเครื่องเตือนใจได้เป็นอย่างดีว่า...
ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกไปแล้ว
"อินโดนีเซีย" อาจเป็นประเทศที่ประสบกับเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้งที่สุดก็ว่าได้ เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคงหนีไม่พ้นคลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าถล่มจังหวัดอาเจะห์ (Aceh) เมื่อปลายปี 2547
หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดแผ่นดินไหวที่เกาะไนแอส (Nias Island)
ตามมาถัดมาอีก 1 ปีกว่าๆ ผู้คนบนเกาะชวามากกว่า 6,000 ต้องจบชีวิตลงจากแผ่นดินไหวและสึนามิ
และล่าสุดในปี 2553 ภูเขาไฟเมราปี (Mount Merapi) ได้เกิดระเบิดขึ้น ทำลายบ้านเรือนที่เพิ่งได้รับการฟื้นฟูจากภัยธรรมชาติครั้งก่อนๆ ลงอีกครั้ง
ทั้งหมดอาจเนื่องมาจากอินโดนีเซียตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่ยังมีพลังงาน จึงทำให้เกิดภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง และชีวิตของประชาชนชาวอินโดนีเซียก็มักตกอยู่ในความเสี่ยงเสมอๆ
ในทางตรงกันข้าม ภัยธรรมชาติอันรุนแรงเหล่านี้ได้ช่วยให้อินโดนีเซียเรียนรู้ที่จะเตรียมตัวและการรับมือกับมันมากขึ้น ชุมชนต่างๆ เองก็มีความพร้อมมากขึ้น
หลังจากสึนามิครั้งประวัติศาสตร์ไม่กี่เดือน อินโดนีเซียได้จัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเพื่ออาเจะห์และไนแอส (Multi Donor Fund for Aceh and Nias: MDF) เพื่อประสานงานกับผู้บริจาคทั้งหลาย โดยนำเงินเหล่านั้นมาก่อสร้างสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้ประสบภัย จำนวนเงินบริจาคทั้งสิ้นประมาณ 655 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีธนาคารโลกรับหน้าที่เป็นผู้ดูแล
การเกิดขึ้นของ MDF ช่วยสร้างมาตราฐานในการรับมือภัยธรรมชาติให้กับอินโดนีเซีย โดยได้แบ่งการทำงานอออกเป็นขั้นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติตลอดกระบวนการฟื้นฟู
ในขั้นแรก ต้องสร้างและซ่อมแซมบ้านเรือนเสียก่อน จากนั้นให้ความสำคัญกับระบบสาธารณูปโภค และสุดท้ายคือการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
การดำเนินงานเหล่านี้มีรัฐบาลเป็นผู้นำและมีชุมชนเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความแข็งแรงของอาคาร ตลอดจนการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในภาระงานของ MDF นอกจากนี้ MDF ยังได้สร้างโมเดลจำลองสำหรับการรับมือภัยธรรมชาติขึ้นด้วย ซึ่งได้รับการทดสอบจริงอย่างรวดเร็วในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกาะชวาในปี 2549
ขณะที่มูลนิธิเพื่อการก่อสร้างใหม่ของชวา (Java Reconstruction Fund: JRF) ถึงถือกำเนิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับ MDF ในอาเจะห์ มีฐานะเป็นองค์กรรัฐที่มีหุ้นส่วนเป็นผู้บริจาคหลายราย JRF ใช้วิธีแบ่งการดำเนินออกเป็นระยะๆ ผสานกับความร่วมมือที่แข็งแรงจากชุมชนเช่นเดียวกับ MDF และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
การดำเนินงานของ JRF ทั้งช่วยซ่อมแซมบ้านเรือน จนชุมชนสามารถอยู่อาศัยได้ มีการฝึกทักษะวิชาชีพ และการช่วยเหลือด้านเงินกู้ จนกระทั่งผู้ประสบภัยสามารถกลับมาทำมาหากินได้ตามปกติ JRF ทำแม้กระทั่งการชดเชยค่าเสียหายให้กับห้างร้านที่เหลือรอดเพื่อที่จะสามารถสร้างตัวได้ใหม่อีกครั้ง
ตอนที่ภูเขาไฟเมราปีระเบิดเมื่อปี 2553 JRF สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านการฟื้นฟูได้ดีอีกเช่นกัน ภาระงานของ JRF จึงถูกขยายให้ครอบคลุมถึงผู้ประสบภัยจากภูเขาไฟระเบิดด้วย
จนมีการกล่าวกันว่า มีนั่งร้านของ JRF ที่ไหน หมายความว่า ที่นั่นจะได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
MDF - JRF ในฐานะแบบอย่างการทำงานของรัฐบาล
อินโดนีเซียไม่เคยประสบกับภัยธรรมชาติร้ายแรงเช่นในยุคนี้มาก่อน แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่ชาวอินโดจะมี MDF และ JRF คอยจัดการกับพิบัติภัยเหล่านั้น และไม่นานมานี้ รัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้รับเอาโมเดลการทำงานแบบ MDF/JRF มาใช้ในการบริหารราชการด้วย เช่น การอาศัยความร่วมมือจากผู้นำชุมชนในบรรเทาความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
เมื่อพูดถึงภัยธรรมชาติในอนาคตที่ระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดตั้งมูลนิธิอำนวยความสะดวกเพื่อภัยพิบัติและการฟื้นฟู (Indonesia Multi Donor Fund Facility for Disaster Recovery: IMDFF-DR) ขึ้นภายใต้โครงสร้างการทำงานแบบ MDF/JRF นั่นเอง
IMDFF-DR การบริหารงานผ่าน 2 องค์กรสำคัญ อย่างสหประชาชาติและธนาคารโลก รวมถึงประเทศผู้ให้การสนับสนุนจากทั่วโลกก็กำลังทยอยเข้าร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น นิวซีแลนด์ที่ได้บริจาคเงินแก่ IMDFF-DR เพื่อใช้เป็นทุนเริ่มต้น
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์จากอินโดนีเซียสามารถจุดประกายให้กับประเทศต่างๆ ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติเช่นเดียวกันได้เป็นอย่างดี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พฤสจิกายนที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้จัดการประชุมนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจาก MDF และ JRF และนี่คือบทเรียน เป็นการเรียนรู้ผ่านการฟื้นฟูอันเจ็บปวดจากความโหดร้ายของภัยธรรมชาติ ซึ่งทำให้เราต้องมั่นใจได้ว่า มรดกแห่งการเตรียมความพร้อมนี้จะสามารถยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต
ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
อินโฟกราฟฟิก: การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
ภัยพิบัติส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้มีความเสี่ยง อุทกภัยปึ 2555 ส่งผลอย่างไร เมื่อเทียบกับภัยธรรมชาติอื่นๆ ทั่วโลก
ที่มา:http://www.worldbank.org/en/country/thailand