นายกฯอบต.-นักวิชาการ แนะปรับโครงสร้างท้องถิ่น-ภูมิภาค ระบุบทบาทกำนัน-อปท.ให้ชัด
นายกฯ อบต.-นักวิชาการแนะปรับโครงสร้างบริหารส่วนท้องถิ่น-ภูมิภาค ลดความซ้ำซ้อน ระบุบทบาทกำนัน ผญบ.-อปท.ให้ชัดเจน ชี้ 15 ปีกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังไม่แท้ มี กม.หลายตัวจ่อคิวรอแก้
จากกรณีการชุมนุมเคลื่อนไหวของกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ในประเด็นลดวาระการดำรงตำแหน่งจากอายุ 60 ปีเหลือ 5 ปี ซึ่งล่าสุดนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) รับปากว่าพรรคเพื่อไทยจะยับยั้งร่างฯดังกล่าวไม่ให้เข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเตรียมให้ มท.ยกร่างฯใหม่ใให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีวาระเช่นเดิม
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ซึ่งกล่าวว่าระบบโครงสร้างการบริหารงานส่วนท้องถิ่นเองถูกออกแบบให้เป็นตัวแทนประชาชน จึงต้องมีวาระสั้นและเลือกตั้งบ่อย ซึ่งแตกต่างจากระบบโครงสร้างของกำนันผู้ใหญ่บ้านถูกออกแบบให้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นตัวแทนรัฐไม่ใช่ตัวแทนประชาชน จึงควรมีระยะเวลายาวกว่า และข้อดีของการอยู่ในตำแหน่งยาวคือจะสามารถดูแลพื้นที่ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ทั้งนี้ควรถามความคิดเห็นของประชาชนด้วยว่าต้องการให้เป็นเช่นใด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามอบต.ส่วนท้องถิ่นก็จะยังสามารถทำงานร่วมกันกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านส่วนท้องที่ได้”
ด้านอาจารย์ณรินทร์ เจริญทรัพยานนท์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีหรืออยู่จนครบอายุ 60 ปีไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ควรพิจารณาความเหมาะสมของบริบทในแต่ละท้องที่ แต่สิ่งสำคัญคือบทบาทหน้าที่ของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน เพราะมีการใช้อำนาจคาบเกี่ยวระหว่างอำนาจการบริหารส่วนท้องถิ่นกับการบริหารส่วนภูมิภาค
“บางคนบอกว่ากำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนกระทรวงมหาดไทยที่ไปอยู่ในท้องถิ่น ขณะที่ส่วนท้องถิ่นเอง เช่น อบต. แม้จะเป็นนิติบุคคล แต่ก็ยังต้องถูกกำกับดูแลจากกระทรวงมหาดไทยอยู่ดี ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ดังนั้นจึงควรมีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านก่อน หากให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านดูแลเรื่องการปกครอง เช่น ความปลอดภัยก็ชัดเจนระดับหนึ่ง แต่หากจะให้ดูแลเรื่องการบริหารด้วย เขาจะบริหารร่วมกับส่วนท้องถิ่นอย่างไร แล้วอบต.ควรต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเขาเข้ากันได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ลำบาก ซึ่งสถานการณ์ก็แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่”
นักวิชาการด้านการปกครอง ยังกล่าวว่าขณะนี้มีกฎหมายท้องถิ่นหลายฉบับที่กำลังเป็นที่เรียกร้องให้มีขึ้น หรืออยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข เช่น ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จังหวัดจัดการตัวเอง การยกสถานะองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นเทศบาลตำบล ฯลฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าของการกระจายอำนาจสู่ในสังคมไทย อย่างไรก็ดีพบว่า15 ปีของการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นในปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำ ทั้งกระจายอำนาจทางการเมือง บริหาร และการเงิน เช่น บางท้องถิ่นได้รับโอนภาระงานมากแต่งบประมาณกลับได้รับช้า ส่งผลต่อการประสิทธิภาพการพัฒนาท้องถิ่น ขณะที่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นท้องถิ่นต้องรับผิดชอบเอง
เช่นเดียวกับนายนพดล ซึ่งให้ความเห็นว่า ขณะนี้ส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้รับการกระจายอำนาจที่มากพอ โดยอำนาจการบริหารประเทศส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง
“ถือว่างานหลายๆอย่างและการกำกับดูแลหลักยังอยู่ที่ส่วนภูมิภาค ส่วนราชการเดิม หากจะการกระจายอำนาจจริง ก็ควรลดบทบาทของส่วนภูมิภาคลงเช่นเดียวกับต่างประเทศ ” นายนพดลกล่าว .