ประชานิยมทำหนี้สาธารณะพุ่ง นักวิชาการจี้รัฐเคร่งครัดวินัยการคลัง
นักวิชาการ จี้รัฐเคร่งครัดวินัยการคลัง ระบุประชานิยมทำหนี้สาธารณะพุ่ง ด้าน รองเลขาสภาพัฒน์ฯ วอนทุกฝ่ายช่วยกันคิดใช้ประโยชน์จากโครงการประชานิยม บอกทุกรัฐบาลต้องเอาใจประชาชน
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดงานเสวนาเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเปิดงาน ตอนหนึ่งถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยว่า คนจนที่สุดในประเทศไทย 10% มีสัดส่วนการกินการใช้จีดีพีแค่ประมาณ 3 % ขณะที่คนรวยที่สุด 10% ของประเทศ มีสัดส่วนการใช้จ่ายจีดีพีถึง 31% ทำให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ในประเทศไทย และหากพิจารณาดูจะพบว่า ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมทางรายได้ สถานการณ์บ้านเมืองจะมีความไม่สงบ แตกแยกเกิดขึ้นได้ง่าย และเรื่องนี้เองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศไทย เกี่ยวโยงกันไปถึงเรื่องประชาธิปไตยด้วย
“เราเห็นตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาว่า มีประชาธิปไตยที่ยาวนาน ประชาชนได้ฟังการดีเบตเชิงนโยบาย แล้วจึงค่อยตัดสินใจเลือกพรรค ประชาชนรักพรรคไหนจ่ายเงินให้พรรคนั้น แต่ในประเทศไทยกลับหัวเป็นหาง พรรคการเมืองต้องจ่ายเงินให้คนโหวต มีพรรคไหนในประเทศที่เรากล้าพูดว่าปราศจากการซื้อเสียง ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นที่น่าหนักใจ ขณะเดียวกันเรื่องนโยบายประชานิยมก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหันมาพูดกันมากขึ้น หากไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นเหมือนกับประเทศกรีซ ที่มีหนี้สาธารณะ 189% ของจีดีพี อิตาลี มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 112% ของจีดีพี และไอแลนด์มีหนี้สาธารณะ 115% ของจีดีพี”
ดร.เสาวณีย์ กล่าวว่า ประเทศกรีซเริ่มจากนโยบายประชานิยม จึงเกิดวิกฤตทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่สามารถโทษพรรคการเมืองหรือรัฐบาลอย่างเดียวได้ เพราะการที่พรรคการเมืองออกแต่นโยบายประชานิยมที่ใช้เงินมาก เพราะประชาชนคนไทย ‘เสพติดประชานิยม’ ทำให้ทุกพรรคต้องใช้ประชานิยมในการแข่งขัน ใครแจกมากกว่ากัน ฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้ความรู้แก่ประชาชนว่าประชานิยม ที่ลด แลก แจก แถม ไม่ได้ช่วยให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี หรือพัฒนาไปได้อย่างมีคุณภาพ
“ทั้งนี้ ประเทศไทยควรจะมีนโยบายที่เหมาะสมถูกต้องกับประเทศ ที่สำคัญควรจะต้องเน้นในเรื่องวินัยการคลัง เพราะถึงแม้ขณะนี้จะมีการพูดกันว่า ประเทศไทยไม่มีปัญหา เนื่องจากหนี้สาธารณะอยู่ที่ 42% ของจีดีพี แต่เมื่อไปรวมกับการใช้เงินนอกงบประมาณ การใช้เงินรูปแบบอื่นๆ เช่น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล เชื่อว่าหนี้สาธารณะจะสูงมากกว่านี้ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันหยุดเรื่องนี้” ดร.เสาวณีย์ กล่าว
จากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำ ทางตันของสังคมไทย: คำตอบอยู่ที่ไหน?” มีนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมเสวนา
นางสุวรรณี กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน และปัจจุบันไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านการกระจายรายได้อยู่จริง แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ถือว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก อย่างไรก็ตาม หากมองความเสี่ยงของไทยในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ผ่านการเปรียบแปลงด้านโครงสร้างประชากรและโครงการประชานิยม จะพบว่า ในเรื่องนี้มีทั้งความเสี่ยงและโอกาสพร้อมๆกัน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ และหากบริหารไม่ถูกฝ่าถูกตัว ความเสี่ยงก็จะมีมาก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนตั้งตัวได้ ที่นิสิตนักศึกษากำลังจะได้รับเงินไปทำมาหากิน ไปเป็นเศรษฐีน้อย แต่หากเยาวชนไม่รู้ว่า จะทำธุรกิจแบบใดที่ไม่เอาเปรียบสิ่งแวดล้อม ไม่เอาเปรียบคนอื่น หรือคิดแสวงหาไรอย่างเดียว ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด
นางสุวรรณี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคงต้องยอมรับว่า ภาคการเมือง ทุกรัฐบาลต้องใช้นโยบายประชานิยมกันหมด เพราะประชาชนเสพติดประชานิยมกันไปเสียแล้ว ขณะที่โครงการประชานิยมบางโครงการ เช่น โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก็ไม่ได้เสียหายมากนัก ดังนั้น เมื่อทุกรัฐบาลต้องไปในแนวทางนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่นักวิชาการ ภาครัฐ เอกชนต้องมาช่วยกันคิดว่า จะใช้ประโยชน์จากโครงการประชานิยมเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริงๆ ทั้งนี้ เพราะการหยิบนโยบายไปปฏิบัติโดยที่ทำไม่ครบวงจร จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวถึงปัญหาความยากจนของไทยว่า ในปี 2531 ประเทศไทยมีจำนวนคนจนประมาณ 42% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันพบว่า คนจนมีจำนวนเหลือแค่เพียงประมาณ 7% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า คนจนมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการประชานิยมเกิดขึ้น ตรงนี้จึงเป็นข้อสังเกตหนึ่ง
“แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ กลับยังพบว่าปัญหาในเรื่องการกระจายรายได้ของไทยยังไม่ดี เนื่องจากกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 12 ล้านคน ถือครองรายได้พียงแค่ 5% ของรายได้ของคนไทยทั้งประเทศ ขณะที่กลุ่มคนรวยที่สุด 20% ถือครองรายได้ถึง 50% ของคนไทยทั้งประเทศ จึงสะท้อนว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือการกระจายรายได้ยังไม่ได้รับการพัฒนา และความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ได้นำไปสู่ที่มาของความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน”