แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
จำนำข้าวอวิชชา “หม่อมอุ๋ย” เตือนร้ายกว่าคอร์รัปชั่น
เวทีวิพากษ์จำนำข้าว 'นิพนธ์' แนะเผยข้อมูลระบายจริง ขู่จับโกหกไม่ยาก แจงหากรบ.อยากอุดหนุนคนจน แจกคูปองดีกว่า ด้านผู้ส่งออกเผย อยู่ในภาวะอันตราย การส่งออกหด เสียตลาดข้าวมาก
เมื่อเร็วๆ นี้ ThaiPublica จัด ThaiPublica Forum ครั้งที่ 4 หัวข้อ "ข้าว ชาวนา นักการเมือง และประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย? ณ โรงแรม VIC 3 พหลโยธิน ซอย 3 โดยมี ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนา
คนโกหกตัวเลขขายข้าว ระวังอนาคตลูกหลาน
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไป 1.46 ล้านตัน ซึ่งสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีให้ข้อมูล แต่เมื่อคำนวณข้าวในท้องตลาดพบว่ามีข้าวที่ไม่ได้อยู่ในมือรัฐบาล แม้การดูดข้าวออกจากระบบจะทำให้ราคาสูงขึ้น แต่ราคาข้าวในประเทศกลับไม่สูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจ อีกทั้ง ในท้องตลาดยังไม่มีข้าวเหลือ แสดงว่าต้องมีการแอบขโมยข้าวไปขายและขายแบบไม่เปิดเผยต่อสาธารณะชน เพราะนายกรัฐมนตรีรู้แค่ตัวเลข 1.46 ล้านตันเท่านั้น จึงเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์แถลงข้อมูล โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
"เชื่อได้ว่ามีการแอบขาย แอบระบายข้าวภายในประเทศอย่างแน่นอน โดยใช้วิธีการที่สลับซับซ้อนมาก จากเดิมใช้บริษัทเดียวมาประมูลข้าวล็อตใหญ่แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนมาใช้บริษัทนายหน้ามากินส่วนต่าง ซึ่งเป็นวิธีที่สบาย ไม่ต้องมีธนาคารมาการันตี และจะขายข้าวใหม่ออกไปหมุนเวียนในตลาด แต่เปลี่ยนบัญชีว่าขายข้าวเก่า" ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า การโกหกเกี่ยวกับการขาย การระบายและตัวเลขต่างๆ ขอเรียนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการรับจำนำไว้เลยว่า ทุกครั้งที่โกหกเรามีหลักฐานพร้อม พูดตัวเลขอะไรออกมาแล้วให้ระวัง อนาคตลูกหลานตัวเองด้วย เพราะการจับโกหกมันง่ายมาก
ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า ตัวเลขจริงของชาวนาได้รับผลประโยชน์จากโครงการ พบว่า เป็นชาวนายยากจน 18% ปานกลาง 42% ร่ำรวย 39% ชัดเจนว่า ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กบชาวนาปานกลางและร่ำรวย นโยบายนี้จึงออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ใช่ผลประโยชน์เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตรงกลุ่มชาวนาปานกลาง ที่เป็นกลุ่มชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงทางออกที่รัฐบาลควรทำ ต้องเป็นนโยบายให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างพอเพียง มีอัตราภาษีที่ดินการเกษตรที่เท่าเทียมกับภาษีที่ดินปกติ ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต และหากต้องการอุดหนุนคนจนควรทำในลักษณะคูปองคนจน ที่ไม่เฉพาะแค่ภาคเกษตรเท่านั้น เจ้าหน้าที่จะรู้ดีว่าชาวนาพยายามขอพันธุ์ข้าวอายุสั้น ปีละ 3 รอบ อย่างไรก็ตาม ทางออกที่ดีที่สุด ต้องเลิกนโยบาย ถ้าไม่เลิกคงไปไม่รอด และไม่มีทางเข็นข้าวไทยไปสู่ข้าวที่มีคุณภาพได้
แนะรัฐควบคุมใช้สารเคมี เลิกมอมเมาปชช.
ขณะที่นายเดชา กล่าวว่า ปัญหาหลักของชาวนา คือ เรื่องหนี้สิน ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน 500,000 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่การจำนำข้าวทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะค่าเช่านา ค่าสารเคมีและค่าปุ๋ยที่ทยอยขึ้นราคา ทั้งที่รัฐบาลไม่ได้เก็บภาษีค่าสารเคมีการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2535 ชาวนาจึงไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลายเป็นประโยชน์ของเจ้าของนาและพ่อค้า
"หากอยากจะช่วยชาวนา ต้องเป็นมาตรการที่เงินถึงมือชาวนาและชาวนาที่จนได้ประโยชน์จริงๆ เช่น แก้ปัญหาที่ดิน ผ่านกลไกธนาคารที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดิน เพิ่มภาษีที่ดินผู้ถือครองที่ดินมาก แต่นโยบายไปทำเช่นนั้น งบประมาณไม่ลงมาสนับสนุน ทั้งนี้ ยังมีนโยบายอีกมากที่ช่วยชาวนาได้โดยใช้เงินไม่มาก เช่นเวียดนาม มีมาตรการ 3 ลด ได้แก่ ลดต้นทุน ลดสารเคมี และลดใช้พันธุ์ข้าวระยะสั้น แต่ไทยไม่มีนโยบายลดอะไรเลย มีแต่ลดคุณภาพข้าวและเพิ่มต้นทุน"
นายเดชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลใช้งบพัฒนาพันธุ์ข้าวน้อยกว่าเวียดนามมาก ถ้ารัฐบาลต้องการช่วยชาวนาจริงๆ ใช้เงินไม่ถึงแสนล้านบาท เพราะชาวนาที่ช่วยตัวเองได้แล้วมีจำนวนมาก เช่น ชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีที่นาเป็นของตนเองและลดต้นทุนการทำนาได้มาก เป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง และสามารถสู้กับการแข่งขัน AEC ได้
"มาตรการที่ดีที่สุด คือ ลดต้นทุน ไม่ใช้สารเคมีและยาค่าแมลง ซึ่งทำได้ไม่ยาก ตัวอย่างที่ทำได้ดีก็มีแล้ว แต่จากการวิจัย พบว่า เกษตรกรกว่า 99% ที่ไม่ทำตามอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ เพราะเลิกใช้สารเคมีไม่ได้ เหมือนเป็นระบบจำที่สมองระบุไว้แล้วว่าต้องใช้สารเคมี เนื่องจากการปล่อยให้มีการโฆษณาอย่างบ้าคลั่ง และไม่เก็บภาษีสารเคมี แทนที่จะจัดการเช่นเดียวกับบุหรี่ที่ห้ามโฆษณาและเก็บภาษีสูงขึ้น คนสูบบุหรี่ในไทยจึงลดไปได้มาก"
นายเดชา กล่าวด้วยว่า นโยบายจำนำข้าวทำให้ชาวนาเนรคุณ ไม่มีข้าวขายก็นำใบประทวนไปขาย ชาวนาเรียกร้องแต่สิทธิแต่ไม่ทำหน้าที่ อีกทางหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิตได้ รัฐบาลต้องจริงจังกับกฎหมายการห้ามเผาฟางข้าว ที่ชาวนาส่วนมากมักจะเผาฟางข้าวแล้วใช้สารเคมีบำรุงดิน
"ข้อเสนอเหล่านี้เรียกร้องมากว่า 23 ปี ซึ่งเป็นทางออกในการช่วยเหลือและลดหนี้สินแก่ชาวนาทั้งนั้น ปัญหาหนี้สินเกิดจากต้นทุนสูง เพราะชาวนาทำลายที่ดินและทรัพยากร ไม่พึ่งพาตนเอง ไม่กินข้าวตัวเองด้วยซ้ำ ทำปุ๋ยได้เองก็ไม่ทำ อีกทั้ง รัฐบาลยังมอมเมาโดยส่งเสริมการใช้สารเคมี ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ" นายเดชา กล่าว และว่า จากนี้เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมการโฆษณาสารเคมี เลิกมอมเมา เก็บภาษีเพิ่มและตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนากลุ่มที่ลดต้นทุนได้ อีกทั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลพูดความจริงมากขึ้นและรับฟังผู้อื่นมากขึ้นจึงจะแก้ปัญหาได้
"งบประมาณที่ใช้ไม่ใช่เงินรัฐบาลคนเดียว บ้านเมืองก็ไม่ใช่ของคุณคนเดียว ถ้าชาติเสียหายผมจะไปอยู่ที่ไหน ผมไม่มีบ้านอยู่เมืองนอกเหมือนคุณนะ"
ผู้ส่งออกฉะรบ.ซื้อเก่ง-ขายไม่เป็น
ด้านนายชูเกียรติ กล่าวว่า ราคาขายข้าวของไทยจากเดิมราคา 400 เหรียญสหรัฐฯ ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 600 เหรียญสหรัฐฯ โดยไม่มีเหตุผลรองรับ แน่นอนว่าต้องมีการต่อต้านจากลูกค้า เพราะประเทศที่เป็นลูกค้าเราก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย และแม้ว่าข้าวไทยจะคุณภาพดี แต่กว่า 1 ปีที่ดำเนินโครงการตัวเลขส่งออกลดลง 44% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์กลับออกมาแถลงว่ายังเป็นแชมป์เรื่องมูลค่าข้าว
"ผมว่าเป็นเรื่องตลก เรื่องมูลค่าข้าวเราเป็นแชมป์มานานแล้ว แต่ตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าก่อนหน้าโครงการไทยกับเวียดนามส่งออกต่างกันอยู่ 2,000 กว่าล้าน แต่ในปีนี้ความแตกต่างเหลือเพียง 813 ล้าน เชื่อว่าถ้าดำเนินนโยบายต่ออีก 1-2 ปี จะเห็นได้ว่าความเป็นแชมป์มันแคบเข้ามาทุกที เวียดนามสามารถแซงไทยได้แน่นอน ขณะนี้ลูกค้าปรับตัวมากขึ้นแล้ว อย่างลูกค้าข้าวหอมมะลิในฮ่องกง เจอกันครั้งสุดท้ายเขาร้องไห้ เหมือนรัฐบาลไทยกำลังทำให้เขาออกจากวงการทั้งที่ผ่านมาเขามั่นคงกับข้าวไทยมาก"
นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลคิดว่าจะดึงข้าวออกจากตลาดแล้วราคาจะขึ้นนั้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า การที่เราดึงข้าวออกจากตลาด ส่งออกน้อยลงเป็นเพียงตัวเลขน้อยนิดเมื่อเทียบกับส่วนแบ่งการตลาดโลก หากดำเนินการเช่นนี้ต่อไป ไม่นานจะมีประเทศคู่แข่งอื่นๆ เข้ามาทดแทนตลาดที่หายไปส่วนนี้ได้อย่างสบาย
"แทนที่นโยบายรัฐบาลจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น แต่การที่รัฐบาลแทรกแซงกลับทำให้แย่ลง ต้นทุนเพิ่มขึ้น เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ อีกทั้ง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพข้าวยิ่งแย่ลงด้วย เพราะเป็นการหนุนให้เกษตรกรไม่สนใจคุณภาพข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมที่ควรจะได้รับการพัฒนามากกว่านี้ ขณะนี้ หอมน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับข้าวหอมกัมพูชา ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่ควรจะเป็น" นายชูเกียรติ กล่าว และว่า ผลกระทบของการตั้งราคาขายข้าวไว้สูงเช่นนี้ ทำให้ขายทั้งข้าวขาวและข้าวหอมไม่ได้ เช่น กรณีมาเลเซีย ปีที่ผ่านมาไม่ซื้อข้าวขาวไทยสักเมล็ด ส่วนข้าวหอมมะลิเกรดรองๆ ตอนนี้เขาหันไปซื้อจากเวียดนามและกัมพูชาหมดแล้ว เหลือให้ผู้ส่งออกไทยแย่งกันเพียง 5,000-6,000 ตันเท่านั้น
"ขณะนี้ผู้ส่งออกไทยอยู่ในภาวะอันตราย หลายบริษัทมีแนวโน้มต้องปิดกิจการ ส่วนบริษัทใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพพอก็หันไปลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชาและพม่า เพราะมองอนาคตต้นทุนข้าวไทยว่ามีแต่จะแพงขึ้น ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกจะอยู่รอดให้ได้ในวงการก็ต้องหาแหล่งผลิตที่ต้นทุนถูกกว่า จึงต้องอาศัยประเทศเพื่อนบ้านมาหากินแข่งกับประเทศตัวเอง"
นายชูเกียรติ กล่าวถึงเรื่องการส่งออกของรัฐบาลด้วยว่า รัฐบาลไทยซื้อเก่งแต่ขายไม่เป็น ทั้งจีทูจี และการระบายรูปแบบอื่นๆ คงเป็นเรื่องประชาสัมพันธ์มากกว่า ในส่วนการระบายข้าวก็เป็นเรื่องที่เลวร้ายเช่นกัน เพราะมีการระบายแบบลับๆ มาตลอด ตั้งแต่ปลายรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลให้ฝ่ายค้านไม่กล้าตีเรื่องนี้เท่าใดนัก ข้อมูลการขายให้ใคร ขายเมื่อไหร่และขายราคาใดจึงเป็นความลับ มีเพียงบงบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองเท่านั้นที่ซื้อข้าวได้ถูก ขณะที่บริษัทอื่นกำลังตกต่ำ
'อวิชชา' ร้ายกว่า 'คอร์รัปชั่น'
ขณะที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงตัวเลขความสูญเสียจากโครงการรับจำนำข้าว ปี 2555 จำนวน 21 ล้านตันว่า รัฐบาลจะขาดทุนถึง 1.4 แสนล้านบาท และโครงการปี 2556 ที่รัฐบาลประกาศว่าจะรับจำนำอีก 33 ล้านตันนั้น คาดว่า จะขาดทุนเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2.1 แสนล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะที่กระทบจากนโยบายรับจำนำข้าว ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่ามีกว่า 47.8% ของจีดีพี ยังไม่นับรวมภาระค้ำประกันอื่นๆ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก แต่ไม่คิดว่าสูงเท่ายุโรป รัฐบาลยังแก้ปัญหาได้หากไม่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ตนเอง
"แน่นอนว่าการคอร์รัปชั่นไม่ดีแน่ แต่อวิชชาร้ายยิ่งกว่าคอร์รัปชั่น ยิ่งเมื่ออวิชชาบวกคอร์รัปชั่นยิ่งร้ายไปใหญ่ โดยเฉพาะอ้างนโยบายช่วยชาวนา แต่ข้าวขายผ่านบริษัทใหม่แต่หน้าเก่า หากการจำนำข้าวเป็นไปเพื่อชาวนา ทำไมต้องหาบริษัทใหม่มาขายข้าวและหาช่องใหม่มากุมการค้าข้าวของประเทศให้อยู่ในมือคนกลุ่มเดียว ซึ่งอันตรายมาก"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้วิจารณ์จำนำข้าวในทุกเรื่อง แต่กำลังออกมาเตือนสติคนบริหารประเทศว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นเสียหายต่อประเทศหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ก็ชัดมากแล้วว่าประเทศเสียหาย คิดเป็นตัวเลขได้เลยว่าเสียหายเท่าไหร่
"เมื่อบริหารประเทศแล้วขาดทุนขนาดนี้ต้องหยุดคิดและคิดถึงข้างหน้าว่าประเทศจะเริ่มแย่แล้วหรือไม่ จะรับผิดชอบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างไร ทั้งนี้ ผมคงไม่ต้องไปทำความเข้าใจหรือเคลียร์กับใคร และใครก็ไม่ต้องมาเคลียร์กับผม ขนาด ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาก็ยังไม่เอาด้วยแล้ว หากเขาต้องการแก้ปัญหาจริงผมว่าเขาคงคิดออก เพราะในทีมรัฐบาลก็มีคนเก่งหลายคน"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปาฐกถา : "ปรีดิยาธร" หวั่นไทย 'ล้ม' จำนำข้าว เชื้อก่อโรค 'หนี้สาธารณะ'
เรื่องข้าว "ทักษิณ" มาพนันกันมั้ย?-ถ้าแพ้ผมลาออกจากทีดีอาร์ไอ