ปูด “อินโดฯ” ไม่สั่งซื้อข้าวไทยล๊อตใหญ่ปีนี้– ระบาย “จีทูจี” รัฐบาลส่อพิรุธหนัก?
ทีดีอาร์ไอ ชำแหละปัญหาจำนำข้าว รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ชี้ ก.คลัง อยู่ในภาวะซีเรียส ไม่อยากทำต่อ หลังร่อนหนังสือถึง ครม. แจงสถานะการเงินวิกฤต หวั่นส่งผลกระทบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปท. “นิพนธ์” เปิดข้อมูลใหม่ อินโดฯ ไม่ได้สั่งซื้อข้าวจากไทย ปี 55 ปมระบายข้าว “จีทูจี” ส่อพิรุธหนัก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยระหว่างบรรยายพิเศษข้อหัว “ปัญหาเศรษฐกิจไทย : ความเหลื่อมล้ำในสังคม” ให้กับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 4 จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ว่า การที่กระทรวงการคลัง ทำหนังสือไปถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบสถานะทางการคลังของประเทศจากการดำเนินงานโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ชี้ให้เห็นว่า กระทรวงการคลังไม่ต้องการที่จะค้ำประกันหนี้โครงการจำนำข้าว เพราะกังวลว่าจะไม่มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น
“ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะวงเงินที่รัฐบาลจะค้ำประกันได้กับเงินให้กู้ต่อประมาณ 4.4 แสนล้านบาท แต่เงินที่จะกู้มาใช้ในการจำนำข้าวเพียงอย่างเดียวอยู่ 66% หมายความว่ารัฐบาลจะเหลือเงินที่จะค้ำประกันอีก 34% แปลว่าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ 2.27 ล้านล้านบาท ที่พรรคเพื่อไทยกำลังโหมประชาสัมพันธ์อยู่นั้นจะเจ๊ง ดำเนินงานไมได้ เพราะเหลือเงินอยู่น้อยมาก” นายนิพนธ์ระบุ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า กรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เป็นเรื่องน่าห่วง ถ้ารัฐบาลขายข้าวไมได้ รัฐบาลก็ไม่ได้คืนเงิน ธกส. และถ้า ธกส.ปล่อยกู้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเมื่อจะไปกู้เงินในตลาดดอกเบี้ยต้องแพงขึ้น รัฐบาลก็ไม่ค้ำประกันแล้ว ธกส.ต้องจ่ายชำระเองค่ารับประกันเอง หากกู้เงินมาเข้าโครงการรับจำนำ แล้วรัฐบาลขายข้าวไมได้ ท้ายที่สุด ธกส.ก็จะมีปัญหาขาดสภาพคล่อง
“สิ่งที่จะตามมา คือ อัตราดอกเบี้ยที่จะกู้ในตลาดจะสูงขึ้น จะกลายเป็นผู้กู้ประวัติไม่ดี ถ้าสภาพคล่องมีปัญหารุนแรงขึ้น จะกระทบเกษตรกร 90% ของครัวเรือนที่กู้เงินจาก ธกส. หากวันหนึ่งสภาพคล่องขาดสะดุด ธกส.ก็จะไม่มีเงินกู้ให้แก่เกษตรกรในการทำการผลิต นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่การดำเนินนโยบายไปดันประเทศและหน่วยงานต่างๆ ไปสู่สภาวะที่เสี่ยงมากขึ้นทุกที”
นายนิพนธ์ ยังกล่าวถึงกรณีการระบายข้าวโครงการรับจำนำแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ว่า ตนทราบข้อมูลมาว่า การที่อินโดนิเซียสั่งซื้อข้าวในปีนี้ 3 ล็อตใหญ่ ไม่ได้ซื้อจากประเทศไทย แต่ซื้อจากประเทศเวียดนาม
“การทำสัญญาซื้อขายสินค้าแบบจีทูจี ในแต่รัฐบาลล้วนต้องการซื้อของถูก ใครบ้างที่จะซื้อข้าวราคาแพง เพื่อช่วยเหลือพรรคเพื่อไทย มีเหตุผลอะไรที่ต้องมาช่วยเหลือ ใครก็อยากจะซื้อในราคาที่ต่ำที่สุดทั้งนั้น เพราะเป็นเงินภาษีจากประชาชน” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล ถือเป็นโครงการที่ทำให้เกิดค่าเช่าเศรษฐกิจแบบไม่ดีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลขาดทุนที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระจำนวนมหาศาล ความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินงานจำนวนมาก
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากกำไรส่วนเกินในโครงการรับจำนำข้าวมีจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่ ชาวนา ที่ปัจจุบันกำลังวิ่งไปหาพันธุ์ข้าว ที่มีอายุแค่ 75 วัน เพื่อหวังปลูกข้าวให้ได้ปีละ 4 รอบ จากเดิมที่ปลูกแค่ 3 รอบ เพื่อหวังรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงเรื่องคุณภาพข้าว
“ขณะที่โรงสี ก็เร่งขยายกิจการ ตามเงื่อนไขโครงการที่เปิดให้รับจำนำได้ 50 เท่าของกำลังการผลิต ถ้ามีกำลังการผลิตเยอะก็จำนำได้เยอะ คิดดู ประเทศไทย มีกำลังการผลิตทั้งประเทศ 90 ล้านตัน แต่เรามีข้าวเปลือก แค่ 55 ล้านตัน เป็นผลทำให้เกิดการวิ่งเต้น รับจำนำข้าวข้ามเขต แบบที่เห็น เดี่ยวนี้ พวกโรงสีชอบใจโครงการนี้มาก เพราะได้ผลประโยชน์ตอบแทนจำนวนมาก ไปเที่ยวต่างประเทศเป็นว่าเล่น ออกรถใหม่กันเป็นแถว”
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สำหรับพวกที่ธุรกิจโกดัง ก็พยายามวิ่งหาพื้นที่เพื่อไปสร้างโกดังมารับฝากข้าวจากโครงการให้ได้จำนวนมากเช่นกัน เพราะให้ผลตอบแทนดี ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แถมดำเนินกิจการ 1 ปี ก็คืนทุนแล้ว ส่วนกลุ่มคนที่มีอาชีพตรวจสอบข้าว หรือ เซอร์เวย์เยอร์ ก็ได้รับประโยชน์ด้วย เห็นได้จากปัจจุบันนี้ มีเซอร์เวย์เยอร์บริษัทเอกชนรายใหญ่ ลาออกจากงาน มาอยู่บริษัทเล็กจำนวนมาก เพราะมีการให้ค่าตอบแทนที่สูง เดือนละไม่ต่ำกว่าแสนบาท
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวด้วยว่า ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คือ การที่เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ เริ่มเข้าสู่อำนาจการเมือง เพื่อปกป้องธุรกิจตัวเอง ใช้อำนาจทางการเมืองเปลี่ยนเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดค่าเช่าทางเศรษฐกิจ หรือกำไรส่วนเกิน ตกอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พาณิชย์ ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ไปแล้ว 7.32 ล้านตัน จากปริมาณรวม 8 ล้านตัน ที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศผู้ซื้อ อาทิ อินโดนีเซีย จีน ไอวอรีโคสต์ (โกตดิวัวร์) ฟิลิปปินส์ และ บังกลาเทศ
ทั้งนี้ เอ็มโอยูระบุกรอบปริมาณไว้ที่ 8 ล้านบาทตัน และส่งมอบภายใน 3-5 ปี หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องมาเจรจาจัดทำสัญญาซื้อขายกับประเทศเหล่านั้น ได้ข้อสรุปและนำไปสู่การทำสัญญาซื้อขายและเปิดแอล/ซี
ขณะนี้มีการทำสัญญาซื้อขายข้าว 6 ฉบับ และทยอยส่งมอบข้าวแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.55 รวม 1.46 ล้านตัน หรือคิดเป็น 20% ของปริมาณข้าวที่ทำสัญญาและคาดว่าจะส่งมอบได้เพิ่มในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ อีก 3 แสนตัน ส่วนที่เหลืออีก 5.56 ล้านตัน จะทยอยส่งมอบไปจนถึงปี 56
(อ่านประกอบในเรื่องเด่น “เรื่องข้าว "ทักษิณ" มาพนันกันมั้ย?-ถ้าแพ้ผมลาออกจากทีดีอาร์ไอ” http://bit.ly/SSL1of)