เวทีสถาบันพระปกเกล้า แนะเลือกนายกฯโดยตรง วางแนวทางปฏิรูประบบรัฐสภา
สถาบันพระปกเกล้าเสนอแนวทางปฏิรูประบบรัฐสภา แยกอำนาจสถาบันนิติบัญญัติ-บริหาร ชี้เลือกตั้งนายกฯ โดยตรง แก้ปัญหาซื้อเสียง-ทำให้สถาบันกษัตริย์หลุดพ้นการเมือง
วันที่ 9 พฤศจิกายน สถาบันพระปกเกล้า จัดงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 14 ประจำปี 2555 เรื่อง "การปฏิรูปรัฐสภา: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ" (Parliamentary Reform: Comparative Perspectives) ระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน 2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ปาฐกถา เรื่อง “การปฏิรูปรัฐสภาไทย” ตอนหนึ่งถึงพัฒนาการของระบบรัฐสภาไทยว่า หน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรไทยมีทั้งทางด้านนิติบัญญัติและด้านบริหาร ซึ่งปัญหาในปัจจุบันคือ ส.ส. จำนวนมากต้องการเข้ามาในสภาเพื่อเป็นรัฐบาล ใช้เงินจำนวนมากในการหาเสียง และคอร์รัปชันเพื่อถอนทุนคืน ประธานวุฒิสภาจึงเห็นด้วยหากจะมีการแยกอำนาจนิติบัญยัติและอำนาจบริหารออกจากกัน
ส่วนการปฏิรูปวุฒิสภานั้น นายนิคม กล่าวว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้มีตัวแทนของประชาชนที่เข้ามาตรวจสอบตัวแทนของประชาชนอีกทอดหนึ่ง เพราะในปัจจุบัน ที่มาของ ส.ว. และระบบอุปถัมภ์ในสภาทำให้ ส.ว. ไม่สามารถถอถอนบุคคลใดได้ นอกจากนี้ ประธานวุฒิสภายังเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงบประมาณเพื่อดูแลการจัดสรรและตรวจสอบการใช้งบประมาณให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
จากนั้น มีการอภิปราย เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปรัฐสภาไทย” ดร.ดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาของรัฐสภาไทยปัจจุบันมี 2 เรื่องใหญ่คือ 1.อำนาจในการตรากฎหมายถูกติติงว่าดำเนินการล่าช้า ซึ่งเกิดจากสาเหตุ 3 ประการได้แก่
หนึ่ง เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ 2550 เอง ซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ในกระบวนการร่างกฎหมาย เมื่อกฎหมายใดผ่านวาระสามจากรัฐสภาแล้ว บางครั้งสมาชิกรัฐสภาบางกลุ่มที่ไม่ชอบใจ หรืออยากกลั่นแกล้งถ่วงเวลา ก็จะอาศัยมาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ กระบวนการจึงวนเวียนไปมา จึงสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สอง ปัญหาที่เกิดจากการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์กันมากว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรทำหน้าที่ตีความตามตัวอักษรเท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความนอกเหนือตัวบทที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถ้ารัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไข ควรกำหนดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ไม่ให้เป็นเสมือนอำนาจที่สี่ที่ไปสั่นคลอนสามอำนาจหลัก
สาม ปัญหาที่เกิดจากสมาชิกรัฐสภาเอง คือมีความขัดแย้งภายในสภา เวลาพิจารณากฎหมายจะมีการเล่นเกมถ่วงเวลา โดยยึดแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มหรือพรรคตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ จ้องจะทำลายกัน แย่งอำนาจกันตลอดเวลา
ดร.ดิเรก กล่าวถึงปัญหาของรัฐสภาไทยต่อว่า 2.อำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาจากการตั้งกระทู้ถามของสมาชิกรัฐสภา บางครั้งรัฐบาลไม่มาตอบกระทู้ อ้างว่าติดภารกิจ ทำให้ประชาชนเสียโอกาสเสียประโยชน์ จึงสมควรให้ออกกฎหมายบังคับและมีบทกำหนดโทษเช่นเดียวกับกฎหมาย พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554
ขณะที่ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปเชิงระบบโครงสร้าง ต้องแยกอำนาจของสถาบันนิติบัญญัติกับสถาบันบริหารออกจากกัน ซึ่งมีลักษณะย่อยคือ ให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง จะช่วยแก้ปัญหาของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ในเวลาเดียวกัน เพราะมีข้อดีคือทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องทำหน้าที่ออกกฎหมายอย่างเดียวไปตลอดสี่ปี จะมาเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ และไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ปัญหาการซื้อเสียงตอนเลือกตั้งลดลงอย่างมากทันที ขณะเดียวกันการจะซื้อเสียงเพื่อให้ถูกเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะไม่คุ้ม โดยเฉพาะถ้าใช้ระบบการเลือกตั้งสองรอบ ซึ่งนายสมบัติ จันทรวงศ์ เคยเสนอว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์หลุดพ้นจากการเมือง เพราะเมื่อทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเห็นชอบ ท่านก็จะอยู่เหนือการเมือง
ส่วนการปฎิรูประบบย่อยในสถาบันนิติบัญญัติ ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวว่า ควรทำให้รัฐสภากับประชาชนใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยทำให้การรับฟังความเห็นจากประชาชน (hearing) ง่ายขึ้น รัฐสภาแห่งใหม่ควรมีที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ง่าย ควรเปลี่ยนสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณให้แก่รัฐสภาใหม่เป็น 1% ควรมีสำนักวิจัย หรือฝ่ายกฎหมาย-กฤษฎีกาของรัฐสภาเอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหา ควรแก้ไข แต่ต้องใช้วิธีลงประชามติ ถามความเห็นชอบจากประชาชนก่อน
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าจะปฏิรูปรัฐสภาไทย ต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อน รัฐสภาปัจจุบันถูกจำกัดบทบาทในการสถาปนารัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 รัฐสภากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกท้าทายยิ่งจากขบวนการแช่แข็งประเทศไทย ที่ขับไล่รัฐบาลและไม่ต้องการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการปกติของรัฐสภา ประเทศไทยตอนนี้จึงเผชิญกับสองกระแส คือกระแสที่ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้มีการปฏิรูปรัฐสภา และอีกกระแสคือขบวนการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนอกสภากับการเคลื่อนไหวในสภาโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล