8 ปีตากใบ (2) คดีไต่สวนการตายยังไม่จบ
หากเอ่ยถึงคดีตากใบ สิ่งที่ผู้คนนึกถึงกันนอกเหนือจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตรวม 85 รายแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นคำสั่งของศาลในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ที่ระบุว่าผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายด้วยวิธีจับถอดเสื้อมัดมือไพล่หลังเรียงซ้อนบนรถยีเอ็มซี จำนวน 78 รายนั้น ตายเพราะขาดอากาศหายใจ!
เป็นการไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 ซึ่งบางฝ่ายเชื่อว่าเป็นผลส่วนหนึ่งที่ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ ส่งผลให้คดีถึงที่สุดไปโดยไม่ได้พิสูจน์ความผิดในชั้นศาล
หากย้อนกลับไปที่เหตุการณ์จริงบริเวณหน้าโรงพัก สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในเดือนรอมฎอน ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ต.ค.2547 จะพบลำดับเรื่องราวที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว หรือมีการจงใจเล่าแบบ "ตัดตอน" เพื่อให้เข้าใจไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งตามที่ผู้เล่าต้องการ
เหตุการณ์จริง ณ วันนั้น เริ่มจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาย หญิง และเด็กจำนวนไม่มากนักรวมตัวกันที่หน้า สภ.ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูเว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป
ช่วงนั้นมีเหตุคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนตามบ้านผู้นำท้องถิ่นและ ชรบ. ได้ปืนไปเป็นกอบเป็นกำ โดยทำกันง่ายๆ แค่สวมหมวกไอ้โม่งบุกเข้าไปตอนกลางคืนก็ได้ปืนไปทุกครั้ง ทำให้บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ "สมรู้ร่วมคิด" หรือ "สมยอม" กันระหว่าง "ผู้ปล้น" กับ "ผู้ถูกปล้น" หรือไม่ จนกระทรวงมหาดไทยต้องคาดโทษว่า หากผู้นำท้องถิ่นหรือ ชรบ.คนใดถูกปล้นปืนไปอีกอย่างไม่สมควรแก่เหตุ จักต้องถูกดำเนินคดีในข้อหา "ยักยอกทรัพย์ของทางราชการ" เพราะถือว่ารู้เห็นกับกลุ่มโจร
และ ชรบ. 6 คนที่ตากใบก็ถูกจับกุมด้วยเหตุนี้...
วันนั้นจากเช้าจนถึงบ่าย มีจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันและหลายพันคน ช่วงแรกมีความพยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้สลายการชุมนุม มีการเดินเรื่องประกันตัว ชรบ.ทั้ง 6 คนออกมา และให้ผู้นำท้องถิ่นขึ้นพูดทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม แต่การชุมนุมกลับไม่สงบลง แถมยังส่อเค้ารุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ฝ่ายรัฐมองอย่างไม่ไว้ใจว่าน่าจะเป็นการชุมนุมที่เกิดจากการ "จัดตั้ง" และหวังให้เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงตามมา
ฝ่ายรัฐประเมินว่าแกนนำที่ปลุกปั่นการชุมนุมมีประมาณ 100 คน จึงคิดจับกุมเพื่อแยกแกนนำออกจากผู้ชุมนุม เพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรงหรือแค่มาดู ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ได้แยกย้ายกันกลับบ้าน
ทว่าแกนนำได้กระจายตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม ทำให้ยากต่อการแยกแยะ สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จนมีเสียงคล้ายปืนดังขึ้น 1 ครั้ง จากนั้นจึงมีการใช้อาวุธ แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ และเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังทหารตำรวจเข้าปิดล้อมกวาดจับผู้ชุมนุมผู้ชายได้จำนวนมาก เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจากการใช้อาวุธ 6 ราย และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย
ต่อมามีการสั่งให้ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ถอดเสื้อ นอนคว่ำหน้า แล้วนำเสื้อไปมัดมือไพล่หลัง และลำเลียงขึ้นรถยีเอ็มซีโดยการนำไปเรียงซ้อนกัน 2-4 ชั้น เพื่อนำไปสอบปากคำและคัดแยกที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ห่างจาก อ.ตากใบ จุดเกิดเหตุกว่า 150 กิโลเมตร
การเดินทางที่ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ประกอบกับความอ่อนเพลียเนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอด ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวบนรถยีเอ็มซีถึง 78 ราย ส่วนที่รอดชีวิตมาได้จำนวนไม่น้อยก็พิการ แขนขาไม่มีแรง
กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น โดยในส่วนของการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม มีคดีทั้งแพ่งและอาญาดังนี้
1.คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน เหลือ 58 คน) ในข้อหายั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย แต่ต่อมาถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2549 (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า "...การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ"
2.คดีแพ่งที่ญาติผู้เสียชีวิต ตลอดจนผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกค่าเสียหายในกรณีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ คดีนี้มีทั้งสิ้น 7 สำนวน ระหว่างปี 2548-2549 ต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกยินยอมจ่ายให้ 42 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าญาติผู้เสียหายต้องถอนฟ้อง และไม่สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาได้อีก
3.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวน 7 คน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
4.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนการตาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า "สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่"
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
อย่างไรก็ดี ญาติผู้เสียชีวิตจำนวนมากรู้สึกกังขากับคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าว เพราะมีหลักฐานเป็นภาพการใช้ความรุนแรงและอาวุธสงครามต่อผู้ชุมนุมมือเปล่า และพบข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเตือนรถบรรทุกลำเลียงผู้ชุมนุมเมื่อพบว่ามีผู้เสียชีวิต ทำให้ในรถบางคันมีผู้เสียชีวิตถึง 23 คน
ต่อมาญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คนได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ ของศาลจังหวัดสงขลา แต่ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2555 ว่าไม่รับคดีไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งไต่สวนการตายเป็นที่สุด ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 150
6 ก.ค.2555 ทนายความของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง ในตอนท้ายของฎีกา ผู้ร้องระบุเหตุผลว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ทั้งยังอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการปฏิบัติที่ทารุณ โหดร้าย และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ปัจจุบันศาลได้รับฎีกาเอาไว้แล้ว สถานะของคำร้องจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากศาลฎีกาพิจารณาและทำคำสั่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งกลับมายังศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลออกหมายนัดผู้ร้องไปฟังคำสั่งศาลฎีกาต่อไป
นับถึงวันนี้ คดีตากใบจึงยังไม่จบ แม้จะผ่านมานานถึง 8 ปีแล้วก็ตาม...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุการณ์ช่วงเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม เมื่อ 25 ต.ค.2547
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต