อนาคตข้าวไทย ไม่ได้อยู่ที่ประชานิยม “ต้องพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”
สศก.-ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จัดเวที “ทิศทางการปฏิรูปนโยบายข้าวไทยในอนาคต” มีประเด็นน่าสนใจจากภาคส่วนต่างๆทั้งรัฐ-เอกชน ที่ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอ…
ปฏิรูปข้าวไทยยั่งยืนต้องต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กล่าวว่าการปฏิรูปข้าวไทยให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เริ่มที่การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผล โดยกรมการข้าวเน้นผลิตข้าวให้ได้การปฏิบัติที่ดี (GAP) และการพัฒนาข้าวอินทรีย์ ข้าว GI และข้าวที่มีโภชนาการสูง
“ต้องทำให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีใช้ทุกครัวเรือน เดิมเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูกมาก เพราะหาพันธุ์ดีไม่ได้ เลยปลูกแน่นเผื่อไม่งอก วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าถ้าใช้พันธุ์ดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้เมล็ดพันธุ์เยอะ ใช้ปุ๋ยให้น้อยช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ด้วย นี่คือการแก้ไขที่ต้นน้ำ”
นอกจากนี้ต้องมองไปถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้ได้มากกว่าการผลิตข้าวเพื่อบริโภคอย่างเดียว เช่น แปรรูปเป็นยา เครื่องสำอาง ทั้งนี้นโยบายข้าวในอนาคตควรเน้นที่คุณภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าปริมาณ ซึ่งทุกภาคส่วนควรช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ทางโภชนาการของข้าวคุณภาพด้วย อย่างไรก็ดีจะให้เกษตรกรจะพัฒนาการปลูกข้าวที่มีคุณภาพเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ผู้ค้าข้าวควรช่วยส่งเสริมโดยให้ราคาที่เหมาะสมแก่การปลูกข้าวคุณภาพด้วย
จำนำข้าวทำส่งออกต่ำ แต่ได้มูลค่ามากกว่าเพื่อนบ้าน?
อัครพงศ์ ทีปวัชระ ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมากระทรวงฯได้ปรับแผนกลยุทธ์จากการเน้นค้าข้าวเชิงปริมาณเป็นเชิงคุณภาพและเพิ่มมูลค่าส่งออก โดยเน้นตลาดระดับบนในยุโรปและอเมริกาที่ต้องการบริโภคข้าวคุณภาพ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งในแง่ราคา เช่น ข้าวหอมมะลิ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางข้าวของอาเซียนที่สามารถกำหนดราคาข้าวได้ แต่ปัจจัยสำคัญคือการควบคุมมาตรฐานข้าวไว้ได้
อย่างไรก็ตามการส่งออกข้าวในโครงการจำนำข้าวเป็นภาระหนักของกระทรวงฯเนื่องจากราคาสูงกว่าตลาด โดยปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าส่งออกข้าว 7.3 ล้านตันมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านตัน แต่ไล่เลี่ยกับค่าเฉลี่ยส่งออกในรอบ 10 ปีซึ่งอยู่ที่ 8 ล้านตัน โดยหากเปรียบเทียบตัวเลขการส่งออก เดือน ม. ค – ต.ค. 2555 ไทยส่งออกข้าวประมาณ 5.73 ล้านตันมูลค่า 3,839 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเวียดนามที่ส่งออก 6.43 ล้านตันมูลค่า 2,674 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกมากกว่าไทยแต่ได้มูลค่าต่ำกว่า ขณะที่อินเดียส่งออกได้ 6 ล้านกว่าตัน มูลค่า 3,173 ล้านเหรียญสหรัฐน้อยกว่าไทย 600-700 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นข้อดีของโครงการจำนำข้าวที่อยากให้มองแง่มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณ
ไม่เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าว-ระบบชลประทาน ชาวนาหันไปปลูกพืชอื่น
ด้านนายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ที่ระบุไว้ว่าปีที่ผ่านมาไทยมีผลผลิตข้าวรวมทั้งนาปีและนาปรังประมาณ 30 ล้านตัน แต่กลับมีปริมาณข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำเพียง 21 ล้านตัน และเป็นข้าวที่ขายและบริโภคในประเทศประมาณ 5 ล้านตันนั้น สะท้อนให้เห็นความสามารถในการการผลิตข้าวของเกษตรกรไทยอาจไม่ได้มากถึง 30 ล้านตันจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตรึกตรอง ซึ่งหากเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าผลผลิตข้าวในภาคอีสานลดลงไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และพื้นที่ปลูกข้าวยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรภาคอีสานหันไปปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยและยางพาราที่ได้ผลผลิตและราคาต่อไร่ดีกว่ามาก
“ชาวนาจึงไม่อยากปลูกข้าว ราคาของข้าววันนี้รัฐบาลตั้งไว้ให้สูงสุด 20,000 บาทต่อตัน คือ กิโลกรัมละ 20 บาท เขาเกี่ยวได้ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ได้เงิน 8,000 บาท ต่อให้ไม่ต้องลงทุนเลย เขาก็อยู่ไม่ได้ สู้ปลูกอ้อยที่ได้เงินไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อไร่ไม่ได้”
ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ร้อยละ 80 อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งเหมาะกับการปลูกพืชอื่นมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือสร้างและพัฒนาระบบชลประทานให้ขยายไปมากขึ้นและเน้นการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง เพราะไทยมีจุดแข็งด้านคุณภาพ
“ประเทศเพื่อนบ้านขายข้าวถูกเพราะคุณภาพเขาสู้เราไม่ได้ แต่ระหว่างราคาแพงกับความเป็นอยู่ของเกษตรกร เกษตรกรต้องอยู่รอดได้ก่อน” นายชาญชัยกล่าว
ไทยหลุดแชมป์ส่งออกข้าวแล้ว นโยบายจำนำข้าวขัดแย้งครัวโลก
ด้านน.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรสีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาการผลิตข้าวที่สำคัญคือต้นทุนซึ่งถือเป็นร้อยละ 90 ของราคาข้าวคือต้นทุนการผลิต ขณะนี้ภาคเอกชนยอมรับได้ว่าไทยไม่อาจรักษาแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ไว้ได้เนื่องจากสภาพการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงมากขึ้นประกอบกับการเติบโตของประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหม่ ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเช่นใดเอกชนพร้อมขานรับ แต่ขอให้ต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ใช่เป็นโครงการเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับตัวและกำหนดทิศทางของผู้ส่งออกข้าวซึ่งเป็นปลายน้ำที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
“รัฐบาลมีนโยบายขัดแย้งกันเอง เช่น อยากจะเป็นครัวของโลก แต่คำว่าครัวของโลกคืออะไร ปริมาณ คุณภาพหรือราคา การยกระดับราคาเฉพาะสินค้าพรีเมี่ยมนั้นถูกต้อง แต่ถ้าทุกอย่างแพงหมดคนจนเข้าถึงไม่ได้มันก็ขัดแย้ง เพราะจะขายไม่ได้และอาจมีส่วนแบ่งในตลาดโลกไม่ถึงครึ่ง ก็จะเป็นครัวโลกไม่ได้”
“ต้องทำให้ชาวนาพึ่งตนเองได้” อย่ามอมเมาด้วยบัตรสร้างหนี้-จำนำข้าว
นายวลิต เจริญสมบัติ ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ทิศทางปฏิรูปข้าวไทย ต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปตนเองของเกษตรกร โดยสิ่งที่ควรทำคือ การทำให้เกษตรกรไทยพึ่งตนเองได้ ผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีความรู้ความเข้าใจในบริบทชุมชน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยต้องเริ่มต้นที่การทำให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์หัวเชื้อที่มีคุณภาพดี เพราะหมายถึงการได้ผลผลิตที่ดีตามมา ทั้งนี้รัฐอาจจัดตั้งกองทุนยืมเมล็ดพันธุ์ข้าว พัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นหลักของเกษตรกรในการกระจายพันธุ์ข้าว หรือจัดตั้งกองทุนเพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนแก่เกษตรมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
“อย่ามอมเมาโดยการเอาโครงการประชานิยมต่างๆไปล่อเกษตรกร เช่น บัตรเครดิตเพิ่มหนี้หรือ โครงการรับจำนำข้าว ที่ทำให้เกษตรกรยิ่งไม่เห็นความจำเป็นของการทำพันธุ์ข้าว เพราะยุ่งยาก และเพิ่มต้นทุนการผลิต ดังนั้นการจำนำทุกเมล็ดจึงเป็นการทำลายคุณภาพข้าวไทยโดยสิ้นเชิง คือ การไปเอาข้าวอายุสั้นมาปลูก และโรงสีไม่มีการคัดแยก”
…………………………….
“อยากให้เกษตรกรไทยได้เป็นผู้นำในการผลิตอาหารของอาเซียน หลุดพ้นจากวิถีเดิมๆที่พึ่งพาตนเองไม่ได้” ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ต.เจดีย์หัก ทิ้งท้าย .
ที่มาภาพ ::: http://news.mthai.com/hot-news/156069.html