ถกแผนฯ 11 ตั้งเป้าสินค้าเกษตร 16% จีดีพี ชงจัดโซนนิ่งใหม่อุต-พื้นที่สีเขียว
ถกแผนฯ 11 ตั้งเป้าสินค้าเกษตร 16% จีดีพี ชงสภาพัฒน์ฯ จัดโซนนิ่งใหม่อุต-ชุมชน-เมืองสีเขียว เอกชนจี้ลดคอร์รัปชั่นเหตุต้นทุนการค้าสูง-การพัฒนาต่ำ แนะพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยรวมกลุ่มสหกรณ์ปลูกแปลงใหญ่ ตั้งโรงสีชุมชนกรองคุณภาพ
วันที่ 8 พ.ย. 55 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน ‘การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559)’ ภายใต้การพัฒนา 3 ด้าน คือ มุ่งสู่สังคมมั่นคง สังคมสีเขียว และสังคมวัฒนธรรม โดยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยการพัฒนาด้านเกษตรจะต้องครบวงจร เพิ่มสัดส่วนมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 16 ของจีดีพี 2. การส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรม เน้นเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 3. การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ ดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้ามามากขึ้น ไม่ใช่เน้นแค่ปริมาณเหมือนในอดีต โดยหวังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 58
4. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ไทยกำลังก้าวสู่ประเทศที่ประกอบธุรกิจการค้าอย่างเต็มรูปแบบ หรือ เทรดดิ้งเนชั่น ต้องปรับตัวให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าอย่างแท้จริง ดังนั้นต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้านขนส่ง และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ พัฒนาโครงข่ายเส้นทางการค้าและกระจายสินค้าระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยไทยเป็นตัวเชื่อมในทุกภูมิภาค 5. การส่งเสริมการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นทั้งการค้าชายแดนและค้าผ่านแดน ส่งเสริมการจัดตั้งสภาธุรกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือเขตอุตสาหกรรมชายแดน 6) การส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ 7) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
ดร.ณรงค์ชัย ยังกล่าวถึงการรับมือผลกระทบต่อค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งใช้ขับเคลื่อนประเทศระหว่างปี 2555-2559 จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ซึ่งเน้นประเด็นการพัฒนา 3 ด้านคือ มุ่งสู่สังคมมั่นคง สังคมสีเขียว และสังคมวัฒนธรรม แต่นโยบายทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ทิศทางพัฒนาประเทศเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิม เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งจากเดิมควรจะต้องพัฒนาผลผลิต หรือคุณภาพของแรงงานก่อน แล้วจึงปรับเพิ่มค่าจ้างเงินเดือน รวมทั้งต้องระดมความเห็นจากภาคเอกชน เพื่อปรับปรุงแผนในแต่ละปี จึงต้องรับฟังความเห็นจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนใน 7 ด้าน
“ข้อมูลที่ได้รับจากภาคเอกชน จะนำไปสู่ข้อสรุป เพื่อนำไปรายงานให้กับคณะกรรมการสภาพัฒน์ฯ และคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ เพื่อให้การขับเคลื่อนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 11 และนโยบายของรัฐบาลชุดนี้มีความสอดคล้องกัน และเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญคงจะต้องอาศัยภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และจะมีการประชุมติดตามความก้าวหน้าของข้อเสนอต่าง ๆ ทุก 3 เดือน หลังจากนั้นจะจัดประชุมใหญ่ ปีละครั้งต่อไป” ประธานอนุกรรมการฯ กล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลกำหนดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตาม แต่ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สูงขึ้น เพราะหลายฝ่ายรู้สึกเป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีต่างจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบมาก และอาจต้องคำนึงถึงแผนอุ้มชูอย่างทั่วถึงเมื่อกำหนดนโยบายดังกล่าวอีกในอนาคต
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มากขึ้น และต้องอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ต้องลดคอร์รัปชั่น เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่คล่องตัว และจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงด้วย อีกทั้งไม่มองข้ามการขยายฐานการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและการค้าชายแดน
ประธานส.อ.ท. กล่าวต่อว่า ไทยต้องจัดระบบโซนนิ่งการใช้สอยพื้นที่ในประเทศ เช่น ที่อยู่อาศัย แหล่งอุตสาหกรรม แหล่งธุรกิจ ให้สมดุล พร้อมร่วมมือกับเอกชนพัฒนาเมืองสีเขียว โดยเริ่มจากโรงงาน ชุมชน จังหวัด และภูมิภาค แต่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองเลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรไทยปลูกข้าว 4 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นนาปี 3.5 ล้านครัวเรือน และนาปรัง 5 แสนครัวเรือน ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์สูงสุดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ จะต้องจัดรูปที่ดินพื้นที่นาแปลงใหญ่ในรูปแบบสหกรณ์ชุมชน จัดระบบพัฒนาแหล่งน้ำ สนับสนุนให้ชาวนาปลูกพืชทดแทนหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันดินเสื่อมคุณภาพ เช่น ถั่วเหลือง สำหรับการป้องกันเมล็ดข้าวปลอมปน เนื่องมาจากโครงการรับจำนำทุกเมล็ดตันละ 1.5 หมื่นบาท ควรส่งเสริมให้ตั้งโรงสีชุมชนขึ้น อีกทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าข้าวคุณภาพระดับท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ควรสร้างโรงไฟฟ้าโดยนำเชื้อเพลิงที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าแจกจ่ายในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบ ผ่านการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร.