เผยคำ “ตร. ผญบ. นักประมง” เมื่อชุมชนถูกรุกที่-ทำลายคน-ปล้นทะเล
นายตำรวจย้ำชัด ขรก.ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมก็คือ “มาเฟีย” ผู้ใหญ่บ้านนักปราบยาบ้าห่วง เหมือนสังคมแพ้สะสม หาคนเลิกยาไม่ได้ แต่หาคนติดยาเพิ่มได้เรื่อย ๆ
ผ่านระยะเวลาในการค้นหา กลั่นกรองมากว่าปี ในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก็ได้จัดพิธีมอบรางวัลแก่ 22 ข้าราชการต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ “ข้าราชการไทย ใจสีขาว” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งทั้ง 22 ท่านเป็นข้าราชการจากหลากหลายอาชีพและมาจากภูมิภาคต่าง ๆ กระจายกันทั่วประเทศ โดยโครงการนี้จัดเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และเชิดชูเกียรติคุณความดีของข้าราชการภาครัฐที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ และเพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยตื่นตัว เชื่อมั่นศรัทธาในคุณงามความดี
ข้าราชการทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ล้วนเป็นคนที่ “ผิดปกติ คือทำดีผิดปกติกว่าที่คนทั่วไปควรจะทำ ข้าราชการเช้าชามเย็นชามเราไม่เอา” เป็นคำกล่าวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการไทยใจสีขาว ที่กล่าวก่อนเริ่มพิธีมอบรางวัล
หลังข้าราชการแต่ละท่านเดินลงจากเวทีพร้อมประคองประกาศนียบัตรมาด้วยสีหน้าแช่มชื่นอิ่มเอิบ สำนักข่าวอิศรามีโอกาสได้แสดงความยินดีและพูดคุยกับข้าราชการผู้ได้รับรางวัล 3 ท่าน ผู้มีผลงานจากการทำงานต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากร “ที่ดิน” “คน” และ “ทะเล” ท่านหนึ่งเป็นตำรวจ ท่านหนึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และอีกท่านเป็นนักประมง
นายตำรวจใจกล้าแห่งเกาะช้าง ยึดหลักบังคับใช้กฎหมาย
พ.ต.ท.ศิลายุทธ์ จิตติยาธีรากูล รองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเกาะช้าง จ.ตราด ผู้เสี่ยงอันตรายทวงคืนที่ดินของรัฐบนเกาะช้างจากนายทุนในพื้นที่ที่ใช้อิทธิพลครอบครองที่ดินโดยมิชอบ เผยอย่างดีใจว่า รางวัลนี้จะเป็นกำลังใจอย่างยิ่ง ในการทำงานอย่างตรงไปตรงมา ตนยึดหลักการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด งานที่ทำคือปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมอาจจะมองไม่เห็น ก็ดำเนินคดีไปตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือนายทุน ระดับไหน
พ.ต.ท.ศิลายุทธ์ บอกถึงปัญหาการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติตอนนี้มีเยอะมาก แต่ปัญหานี้ไม่เคยถูกเปิดโปง เพราะเป็นขบวนการที่ใหญ่ มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีอิทธิพลทางการเงินและการเมืองสูงมาก เวลาเขาเอาไปเขาได้ประโยชน์ส่วนตน ถ้ากลไกของรัฐคือเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยาน ทำงานตรงไปตรงมาตามระเบียบกฎหมาย ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ไม่ใช่ไปจับแต่คนจน คนรวยก็ต้องกล้าจับดำเนินคดีด้วย
"ถ้าบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ข้าราชการก็คือ "มาเฟีย" นั่นเอง ที่สนับสนุนให้เกิดการทุจริต หาทางช่วยเขา ไฟเขียวให้เขา"
หัวหน้าประมงใจซื่อแห่งอ่าวปัตตานี ผู้ยืนเคียงข้างชาวประมงพื้นบ้าน
นายสุนันท์ หลีเจริญ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง สำนักงานประมงจังหวัดปัตตานี ผู้ช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านที่ยากจนต่อสู้กับนายทุนที่ทำประมงผิดกฎหมาย โดยสามารถกำจัดอวนรุนผิดกฎหมายให้หมดไปจากอ่าวปัตตานี กล่าวว่า รางวัลนี้เป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตที่รับราชการมาสามสิบกว่าปี แล้วได้ช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านชาวประมงในฐานะข้าราชการคนหนึ่ง ตนยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง เกิดมาต้องทดแทนคุณแผ่นดิน
ความสำเร็จในการขจัดอวนรุนที่ผิดกฎหมาย มาจากการต่อสู้ร่วมกับชาวประมงพื้นบ้าน จนได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี 2546 ห้ามทำประมงอวนรุนในจังหวัดปัตตานี เป็นกฎหมายฉบับเดียวและฉบับแรกของประเทศไทย เมื่อเอาไปบังคับใช้ทำให้เรือประมงอวนรุนในจังหวัดปัตตานีหมดไป ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำก็เพิ่มขึ้น พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านก็ยินดีที่ได้รับผลประโยชน์นี้กลับคืนมา
หัวหน้าประมงปัตตานี ยังบอกถึงปัญหาประมงผิดกฎหมายตอนนี้มีทั่วประเทศ ที่จับสัตว์น้ำทุกแห่งมีปัญหาหมด กรมประมงพยายามจัดระเบียบแต่ก็กระทบการการทำมาหากินของชาวบ้านส่วนหนึ่ง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหากับเครื่องมือทำประมงแต่ละประเภท แต่เราก็ต้องต่อสู้เพื่อจัดระเบียบดูแลปัญหาทรัพยากร เพื่อรักษาไว้ให้โดยเฉพาะกับชาวประมงพื้นบ้านที่มีฐานะยากจน ทำให้เขาหลุดพ้นจากความยากจนได้ คือปณิธาน
ส่วนอีกปัญหาหนึ่งเกิดจากชาวประมงมีการศึกษาน้อย เป็นช่องทางให้นายทุนเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ โดยการนำชาวประมงบางกลุ่มมาเป็นข้ออ้าง แล้วไปร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการยึดพื้นที่ และทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย โดยอ้างว่า ชาวบ้านเป็นผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่จริง ๆ แล้วนายทุนอยู่เบื้องหลัง ที่เห็นเบื้องหน้า คือ ชาวประมงพื้นบ้านเป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น
ทั้งนี้เมื่อปี 2553 เขาเคยมีคดีถูกฟ้องร้อง 50 ล้านบาท โดยถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านให้ไปขโมยหอยแครงของนายทุนในอ่าวปัตตานี ตอนนี้อัยการสงสุดมีคำสั่งให้ไม่ฟ้อง คดีจึงยุติ
ผู้ใหญ่เหลิมไม่กลัวปืน ประจัญหน้ายาเสพติด นำลูกหลานกลับคืนชุมชน
นายเฉลิม กาญจนพิทักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ผู้ทำงานด้านปราปรามยาเสพติดมากว่า 15 ปี กับรางวัลนี้มีคุณค่าทางจิตใจเขามาก เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศจากการทำงานมาหลายปี
ผู้ใหญ่เฉลิม บอกว่า รางวัลนี้แสดงว่า ยังมีคนให้ความสำคัญ เป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนการทำงาน และเป็นพลังชักจูงคนอื่นให้ทำสิ่งดีเพื่อสังคมเพิ่มมากขึ้น
"ผมจะใช้กระบวนการความเชื่อ จารีตประเพณี วีถีทางศาสนามาแก้ปัญหายาเสพติด เพราะเห็นว่าปัญหานี้ต้องแก้โดยชุมชน โดยแยกคนดีคนชั่ว แยกผู้ค้าออกจากคนปกติ"
และเขาคนนี้ ก็เป็นผู้คิดทำป้ายคัตเอาท์ขนาดใหญ่ในหมู่บ้าน เขียนรายชื่อผู้ค้ายาบ้าในหมู่บ้าน แล้วทำป้ายย่อยอีกว่า "อีกกี่ร้อยเมตรจะถึงบ้านผู้ค้ายาบ้า" ซึ่งถือเป็นวิธีการกดดัน
ผู้ใหญ่เฉลิม เคยถูกข่มขู่จะทำร้าย ถูกจ้างยิง แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะรู้สึกว่าชุมชนยังมีพลังที่จะช่วยกันดึงลูกหลาน ซึ่งเป็นเยาวชนกว่า 70% ในหมู่บ้าน ที่ติดยา ให้กลับคืนสู่สังคม
" ตอนนี้สถานการณ์ยาเสพติดในชุมชนตำบลทอนหงส์ถือว่าดีขึ้น แต่ถ้าเราหย่อนมันก็กลับมาอีก ความเข้มแข็งของภาครัฐ หรือแต่ละรัฐบาล ก็เป็นพลังผลักดันสำคัญให้ทำงานปราบปรามยาเสพติดได้ง่ายขึ้น พูดโดยไม่ได้จะเชียร์ใครเป็นพิเศษ ช่วงที่รัฐบาลเข้มแข็งที่สุด คือช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ส่วนช่วงที่รัฐอ่อนแอมากที่สุด ยาเสพติดมากที่สุดคือช่วงปี 2553 แต่ตอนนี้ทุกภาคส่วนของรัฐไม่ใช่อยู่ในภาวะต่างคนต่างทำ แต่อยู่ในภาวะต่างคนต่างไม่ทำ มีส่วนที่ขับเคลื่อนอยู่บ้างก็น้อย ที่นครศรีธรรมราชก็ขับเคลื่อนอยู่แต่ผู้การ (พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช) แต่ผู้การคนเดียวก็ทำอะไรได้ไม่มาก ต้องอาศัยการบูรณาการกันครั้งใหญ่จึงจะแก้ปัญหายาเสพติดได้ อาศัยเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จะแก้ปัญหายาเสพติดกันไม่เสร็จ"
“เราหาคนเลิกยาไม่ได้ แต่คนติดยาเราหาพบเพิ่มได้เรื่อย นี่คือการแพ้สะสม เหมือนในตำบลทอนหงส์มีคนติดยาอยู่ห้าร้อยคน ใช้เงินวันละสามร้อยบาท วันละแสนห้า เดือนละสี่ล้านห้า มีอยู่ 3,300 ครัวเรือนเมื่อปี 2553 บริโภคข้าวสารวันละห้าตัน กิโลละสามสิบบาท ก็ตกวันละแสนห้า ตัวเลขค้ายาบ้ากับค้าข้าวสารเท่ากัน ฝ่ายหนึ่งยังไม่รวมค่ากับข้าว อีกฝ่ายก็ยังไม่รวมค่าน้ำใบกระท่อม มันก็เท่ากันอีก นี่คือความจริง”
บรรยายภาพ :จากซ้ายพ.ต.ท.ศิลายุทธ์ จิตติยาธีรากูล นายสุนันท์ หลีเจริญ นายเฉลิม กาญจนพิทักษ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว 'ผมไม่ได้ดีเด่! ลุยปราบยาเสพติด เพราะอยากอยู่ในที่ดีๆ'