“สมคิด” ชี้ไทยเป็น 1 อาเซียน ต้องปรับโครงสร้างศก.-สร้างเสถียรภาพการเมือง
"สมคิด" ชี้ศก.โลกกำลังอ่อนแอ แนะเร่งสร้างเศรษฐกิจให้มั่นคง วางโครงสร้างระยะยาว ไม่หยิบยกความแตกแยกมาก่อปัญหาชนชั้น เชื่อไทยมีโอกาสเป็น 1 ในอาเซียนได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวในงานสัมมนา พลิกเส้นทางพัฒนา... สถาปนาความมั่นคงใหม่ให้ประเทศ Thailand Future Forum No.2 ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงกว่าประเทศในอาเซียน ที่จะพัฒนาประเทศให้เติบโตและเป็นผู้นำในอาเซียน ด้วยเพราะมียุทธศาสตร์ที่ดี และมีปัจจัยหนุนเสริมที่ไม่ธรรมดา แต่เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค คือ โครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างทางการเมือง ที่ยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะความมั่นใจในเสถียรภาพของการเมือง
"ช่วงเวลานี้ที่เศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนแอ มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ และการเมือง ปรับโครงสร้างการผลิตให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน และหากทำได้ประเทศไทยจะนำประเทศอื่นๆ การเปิดเออีซี ไทยก็จะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะสามารถดึงดูดการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้มากขึ้น"
สำหรับอุปสรรคด้านความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของการเมืองไทย ดร.สมคิด กล่าวเปรียบเทียบถึงประเทศตุรกีที่มีปัญหาเรื่องพรรคการเมืองและความแตกแยก แต่ไม่หยิบยกความแตกแยกมาทำให้เกิดปัญหาชนชั้นในสังคม แต่มุ่งสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้มีความมั่นคง เพื่อสามารถดึงดูการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยควรต้องทำ
"ขณะนี้ประเทศไทยไม่วางโครงการการพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้ มีแต่วิสัยทัศน์ เช่น กรณีข้าว ก็เป็นการถกเถียงเพียงว่าจะรับจำนำหรือประกันราคาดี แต่ไม่มีแนวทางการพูดคุยที่จะพัฒนาข้าวในระยะยาว หรือสร้างมูลค่าเพิ่มข้าว"
ในส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่หลายคนห่วงว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ดร.สมคิด มองว่า ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง ประเทศไทยก็ยังต้องติดต่อกับสหรัฐฯ อยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือ เตรียมตัวเองให้พร้อม และทำตัวเองให้เป็นประเทศที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดความสนใจจากสหรัฐฯ ดีกว่า
"รัฐบาลควรจะส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ด้วยการสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา เนื่องจากเอกชนและภาควิชาการ สถานศึกษาไม่สามารถทำได้โดยลำพัง หรือเชื่อมโยงกันได้ดีนัก และการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ นี้จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้มีความมั่งคั่งได้"