คุยกับ “ผู้บุกเบิกอีเลิร์นนิ่ง” ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน “เรียนได้ต้องมีวินัยในตนเอง”
"เมืองไทยผมรับรองได้ ทุกครั้งที่สอบอีเลิร์นนิ่งต้องมีการโกง
ต่างจากเมืองนอก สอบจากที่ไหนก็ได้
เพราะเขามีความไว้เนื้อเชื่อใจ มี honor system"
ในวันพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ผ่านการคัดเลือกโครงการ “วิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคมวุฒิสภา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และประกาศเกียรติคุณให้บุคคล องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีผลงานโดดเด่น สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม มาประยุกต์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้สังคม กว่า 215 ผลงาน
หนึ่งในนั้น มีผลงาน “อีเลิร์นนิ่ง (e-Learning)” ของ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ผู้ได้รับขนานนามว่าเป็น “บิดาอินเทอร์เน็ตไทย” ตั้งแต่เมื่อปี 2541 ซึ่งในวันนี้ศาสตราจารย์วัย 75 ที่ยังแข็งแรงและกระฉับกระเฉงได้เดินทางมารับใบประกาศเกียรติคุณด้วยตนเองที่รัฐสภา
สำนักข่าวอิศรา จึงถือโอกาสพูดคุยกับผู้บุกเบิกวิทยาการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของเมืองไทยท่านนี้ เกี่ยวกับผลงานอีเลิร์นนิ่ง....
ข้อมูลพื้นฐานในโลกออนไลน์ระบุว่า อีเลิร์นนิ่ง คือ รูปแบบของการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการถ่ายทอดเรื่องราว และเนื้อหา โดยสามารถมีสื่อในการนำเสนอบทเรียนได้ตั้งแต่หนึ่งสื่อขึ้นไป และการเรียนการสอนนั้นสามารถที่จะอยู่ในรูปของการสอนทางเดียว หรือการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ได้
“ผลงานอีเลิร์นนิ่งของผมเริ่มมาตั้งแต่ปี 1976 สมัยนั้นผมเป็นศาสตราจารย์เต็มขั้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ค มาที่เมืองไทย ได้เสนอต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ว่า เราควรจะทำอีเลิร์นนิ่ง ท่านก็ให้ทำเรื่องเสนอไปที่ทางทบวง ผมได้เป็นคนร่างกฎหมายเอง ร่างเสร็จภายในสองสามเดือน แล้วใช้เวลาอีกสามปีไปวิ่งเต้นกับรัฐมนตรีถึงห้าคน กว่ากฎหมายนี้จะอนุมัติออกมาเมื่อปี 2549
แล้วผมก็เปิดอีเลิร์นนิ่งที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นแห่งแรกในโลกที่เปิดปริญญาเอกด้านวิธีวิทยาอีเลิร์นนิ่ง เมืองไทยเป็นแห่งเดียวที่เปิดสอนวิชานี้ แล้วก็เปิดปริญญาโท ก็มีคนสมัครเข้ามาจากต่างประเทศสามสิบกว่าประเทศ ทำให้ได้เงินตราจากต่างประเทศเข้ามา เพราะว่ามันเป็นแบบ anyone anywhere anytime ใครก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้"
เพราะฉะนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้เรียน
คุมทุจริตในระบบอีเลิร์นนิ่งอยู่ที่คน
"ในอเมริกาคนเป็น 18 ล้านคนที่ไม่มีปริญญา หน่วยงานต่าง ๆ เขาบังคับเปิดอีเลิร์นนิ่งให้เรียน ของทหารเขาลดให้ 25% ถ้าเป็นทหารแล้วอยากจบปริญญาทางอีเลิร์นนิ่งเพราะว่ายังทำหน้าที่อยู่ได้ตลอด ดังนั้นทุกอาชีพก็สามารถทำแบบนี้ได้ คนอเมริกาตอนนี้เกิน 50% เรียนอีเลิร์นนิ่ง หลายสหภาพ เช่น สหภาพแรงงานต่าง ๆ ตอนนี้บังคับให้ต้องมีวิชาให้เรียนฟรี ทั้งตัวคนที่ทำงาน รวมถึงลูกหลานมีสิทธิได้เรียนฟรี สำหรับเมืองไทย ถ้าจะให้เป็นไปได้ ต้องเรียกร้องกันเอาเอง"
สำหรับในต่างประเทศ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ บอกว่า เขามีการทดสอบแล้ว และเขาเชื่อว่า คนที่จบอีเลิร์นนิ่งไม่ด้อยกว่าคนที่จบจากห้องเรียน ตอนนี้ในอเมริกา แคนาดา ถ้าคนสองคนมาสมัครงาน ทุกอย่างเหมือนกันหมด เขาเลือกคนจบอีเลิร์นนิ่ง เพราะเชื่อว่า คนเรียนอีเลิร์นนิ่งมีวินัยในตนเอง คนที่เรียนในห้องเรียน อาจารย์ต้องคอยคุม คนที่เรียนอีเลิร์นนิ่งกว่าจะจบต้องคุมตัวเองให้ได้ เมื่อมาทำงาน ก็ทำงานได้ดีกว่า
"สำหรับการวัดผล e-learning เรื่องการไม่มี honor system เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย สำหรับเมืองไทยผมรับรองได้ว่าทุกครั้งที่มีการสอบต้องมีการโกง ไม่เหมือนเมืองนอกที่จะสอบอีเลิร์นนิ่งจากที่ไหนก็ได้ เพราะเขามีความไว้เนื้อเชื่อใจ มี honor system"
ตามกฎหมายที่ยกร่างออกมาแล้ว การสอบของเมืองไทยต้องมีคนคุมสอบ ตอนนี้เราสามารถจัดคนคุมสอบได้ทั่วโลก ถ้าจะสอบที่เมืองไทยก็ไม่ต้องเสียค่าคุมสอบ แต่ถ้าจะสอบที่อังกฤษ อเมริกา ต้องจ่ายค่าคุมสอบ ผมก็ไปจ้างคนไว้สำหรับตรวจบัตรประจำตัว แล้วก็นั่งเฝ้าอยู่สามชั่วโมง ว่า ระหว่างสอบไม่ได้คดโกง !!!
การควบคุมเรื่องทุจริตในระบบอีเลิร์นนิ่งอยู่ที่ "คน" ในระบบอีเลิร์นนิ่งตอนนี้เวลานักศึกษาจะส่งการบ้านจะส่งวิทยานิพนธ์ มีระบบที่จะตรวจสอบว่า ข้อเขียนที่นักศึกษาส่งมา มีส่วนไหนที่ลอกมาจากที่ใดในอินเทอร์เน็ต ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า ลอกมาเกิน 50% งานชิ้นนั้นก็ไม่ผ่าน !! ดีกว่าให้คนตรวจ เพราะคงจะตรวจพบไม่ครบ
"เราก็ต้องสอนเด็กสอนอาจารย์ว่า ห้ามคัดลอก ต้องสร้างสรรค์ผลงานเอง ผมบอกผู้เรียนตั้งแต่ต้นว่า การเรียน อีเลิร์นนิ่งสำคัญที่สุดคือการมีวินัยในตนเอง (self- discipline) คนที่จบอีเลิร์นนิ่งส่วนมากจะดูแลตัวเองได้"
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ศรีศักดิ์ ได้เน้นย้ำถึงปัญหาของอีเลิร์นนิ่งในประเทศไทยด้วยว่า
หนึ่ง อยู่ที่งบประมาณ จำเป็นจะต้องมีเงินมาซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ เช่นคอมพิวเตอร์
สอง อินเทอร์เน็ตหลายแห่งยังไม่เสถียร โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ระบบอินเทอร์เน็ตต้องใช้การได้ดี ถ้าจะให้ดีต้องมีเครื่องอินเทอร์เน็ตสองชุดแบ็คอัพกันตลอดเวลา ถ้าเครื่องหนึ่งพังอีกเครื่องหนึ่งต้องทำแทนได้ ทุกอย่างมีปัญหา เราต้องช่วยกันแก้ไข
และจุดสำคัญ คือ เรื่องการควบคุมมาตรฐาน ยังมีหลายมหาวิทยาลัยเป็นแบบ เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่ ซึ่งมันไม่ได้ เรียนมันต้องยาก ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องคุมเข้ม ว่าจะต้องไม่เป็นการขายปริญญา ต้องเป็นแบบคนจบแล้วมีความรู้ความสามารถไปทำงานได้
"ผมเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ที่เท็กซัสอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยจะร่วมมือกันทำงานทางด้านอีเลิร์นนิ่ง มีคนไทยเยอะเลยตอนนี้ที่รับจ้างสอนอยู่ที่อเมริกา ซึ่งต้องมาแก้ไขกฎระเบียบของเมืองไทยขณะนี้ที่กำหนดให้ต้องเป็นอาจารย์ประจำเต็มเวลาจึงจะสามารถสอนได้ แต่ที่อเมริกา คนที่จะสอนอีเลิร์นนิ่ง ถ้าวิชานี้เป็นวิชาบัญชีเขาก็เอาผู้จัดการบัญชีของบริษัทมาสอน ถ้าเป็นเรื่องการผลิต ก็เอาผู้จัดการฝ่ายการผลิตมาสอน
ที่สำคัญคือจะต้องมีความรับผิดชอบ เราก็กำหนดว่าอาจารย์แต่ละคนห้ามสอนนักเรียนเกิน 40 คน อาจารย์แต่ละคนต้องมี office hour เป็น e-office hour
เช่น สองทุ่มถึงสี่ทุ่มอาจารย์จะอยู่เพื่อให้เด็กเข้ามาติดต่อ ระเบียบที่ผมทำไว้บางแห่งระบุว่า ถ้าอาจารย์ไม่ตอบจดหมายของนักเรียนภายใน 24 ชั่วโมงติดต่อกันสามครั้ง ให้ออก
หรือถ้าอาจารย์เจอคำถามยากที่ตอบไม่ได้ อาจารย์ก็ต้องตอบว่า ได้รับคำถามแล้ว อาจจะขอเวลา 72 ชั่วโมงเพื่อหาคำตอบมาให้ได้"
ปัจจุบันนี้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีกิตติคุณตลอดชีพ เป็นรักษาการณ์นายกสภามหาวิทยาลัย และเป็นผู้อำนวยการสถาบันศรีศักดิ์ จามรมาน การศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต อยู่ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม พร้อมประกาศศูนย์อีเลิร์นนิ่งให้เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศของเมืองไทย เปิดสอนปริญญาเอก 6 หลักสูตร ปริญญาโท 6 หลักสูตร และปริญญาตรีทุกวิชาที่มีสอน จะมาสอนทางอีเลิร์นนิ่งด้วยเป็นการเสริมกัน
หลักการ คือ วิชาไหนอยากเรียนทางอีเลิร์นนิ่งก็เรียนไป วิชาไหนอยากเรียนในห้องก็เรียนไป เอามารวมกันแล้วได้ครบก็ต้องจบปริญญา
เขายอมรับว่า หลักการนี้ในเมืองไทยยังมีปัญหา ซึ่งก็คงจะต้องไปล็อบบี้กับ สกอ.
"ระบบของเราดีตรงที่ว่าเมื่อ สกอ.รับรองแล้ว ทั่วโลกรับรองหมด ผมเป็นกรรมการ สกอ.อยู่ด้วย ตอนนี้กำลังดูหลักสูตรต่าง ๆ อยู่ มีหลายมหาวิทยาลัยของเมืองไทยที่ทำไม่ได้มาตรฐาน เราก็จะต้องควบคุมมาตรฐานให้ได้"
ขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น จุฬาฯ มธ. มหิดล เกษตรฯ รามคำแหง ที่ทำหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ผมมีอีกหลักสูตรหนึ่ง ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เขาจ้างผมทำ 18 วิชาสำหรับ SME เรียนฟรี 18 หลักสูตร มีคนเรียนแล้วหกหมื่นคน และกำลังสนใจจะขยายหลักสูตรไปทำวิชาที่ชาวบ้านทั่วไปเขาสนใจด้วย หลักสูตรของ สสว.ที่ผมทำ มีคนมาเรียนมาก แต่ปรากฏปัญหาว่า คนเรียนแล้วไม่กล้าสอบ เพราะกลัวสอบตก แต่จริง ๆ แล้วในระบบอีเลิร์นนิ่งมีให้ทดลองสอบ ถ้าสอบตกสามารถสอบใหม่ได้หลายครั้ง สอบจนคล่องจนมีความรู้ความสามารถจนกว่าจะสอบได้แล้วค่อยไปสอบจริง"
สุดท้าย ศ.ดร.ศรีศักดิ์ เน้นย้ำว่า ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนอีกหลายอย่างในเรื่องระบบการศึกษา "ครู" ต้องมีความรู้ "รัฐ" ต้องจัดเงินเดือนให้ครูอย่างเพียงพอมากกว่านี้ รวมถึงปรับระบบการจัดการศึกษาใหม่
"การทำงานของรัฐมนตรีศึกษาไทยชอบรื้อของเก่าแล้วทำใหม่หมด เพราะกลัวไม่ได้ชื่อเสียง ทำให้หลายอย่างไม่มีความต่อเนื่อง เด็กของเราที่จบออกมาตอนนี้จำนวนมากก็ไม่เก่ง เพราะระบบการสอนของเราครูเขียนกระดาน นักเรียนจดไป แล้วไปท่องมา ข้อสอบก็ออกเหมือนเป๊ะ ทำให้เด็กจบออกมาแล้วประยุกต์ใช้ไม่เป็น และมีนิสัยโกง.”