คนกรุงวาดฝัน ดัน กทม. เป็น ‘มหานครแห่งเอเชีย’ ในอีก 20 ปี
รองผู้ว่า กทม.รับมอบวิสัยทัศน์กรุงเทพ 2575 ฉบับฉันทามติประชาชน จากทีมวิจัยจุฬาฯ วาดฝัน กทม. เป็น ‘มหานครแห่งเอเชีย’ ในอีก 20 ปี
วันที่ 6 พ.ย. กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะและพิธี “ส่งมอบวิสัยทัศน์กรุงเทพ 2575” จากมุมมองของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่โรงแรมมิราเคล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
โดยในช่วงแรกของกิจกรรมตัวแทนภาคประชาชนชาวกรุงเทพ จำนวน 6 คนได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน นำเสนอ “วิสัยทัศน์กรุงเทพ 2575” ใน 6 ด้านที่สำคัญประกอบด้วย
-มหานครปลอดภัย จะต้องพัฒนา ฟื้นเมืองกรุงเทพฯ ให้กลับมาเป็นเมืองที่ปลอดภัย มีสุขภาวะที่ดี ทั้งปลอดภัยจากมลพิษ อาชญากรรม ยาเสพติด อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ ส่งก่อสร้าง โรคคนเมือง รวมทั้งอาหารปลอดภัย
-มหานครสีเขียว สะดวกสบาย เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ภูมิทัศน์สวยงาม ไม่มีสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์รกรุงรัง ระบบขนส่งมวลขนทั่วถึง ประหลัด การจราจรคล่องตัว
-มหานครสำหรับทุกคน ทุกอาชีพ เพศ วัย รวมถึงผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยพัฒนาสิ่งอำนายความสะดวกในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางเดิน พื้นที่สาธารณะ สัญญาณจราจร ระบบขนส่งมวลชน อาคารสิ่งก่อสร้าง ที่พักอาศัย ระบบบริการสาธารณะ ให้คนเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับประชาชนทั่วไปได้ มีการศึกษาสำหรับทุกคน มหานครแห่งความเท่าเทียมกัน
-มหานครกะทัดรัด โครงสร้างของผังเมืองกรุงเทพฯ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปร่างใหม่ จากเมืองโตเดี่ยว แออัด ไปเป็นเมืองขนาดเล็กกะทัดรัดหลายๆ เมืองประกอบกัน เมืองกรุงเทพฯ ชั้นในจะถูกจำกัดขนาดและลดความแออัดลง ในขณะที่เมืองเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไป จะขยายการตัวเติบโตขึ้น โดยเชื่องโยงสนับสนุนซึ่งกันและกัน
-มหานครแห่งประชาธิปไตย ชาวกรุงเทพฯ ต้องการให้กรุงเทพเป็นเมืองที่มีประชาธิปไตย และธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย มีระบบการเมืองที่สะอาด ปลอดคอร์รัปชั่น
-มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ กรุงเทพฯ จะต้องก้าวขึ้นเป็นเมืองหลวงของเอเชีย เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การคนนาคม ขนส่ง การแพทย์ การศึกษา การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของเอเชีย
สำหรับวิสัยทัศน์กรุงเทพ 2575 ดังกล่าว กทม. ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดทำโครงการศึกษาวิจัย การจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) ขึ้น โดยมี ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 และสิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2555 นี้
โดยกระบวนการในการจัดทำวิสัยทัศน์ฉบับนี้ ทีมวิจัยได้ใช้วิธีระดมความคิดเห็น สอบถามมุมมองของประชาชนเกี่ยวกับเมืองกรุงเทพฯ ในฝัน หรือในคาดคาดหวังของประชาชน ในอี ก 20 ปีข้างหน้า จากนั้นได้นำความเห็นต่างๆ มาประมวล สังเคราะห์ จัดทำเป็นร่างเค้าโครงวิสัยทัศน์ฯ เพื่อนำไปให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ได้ตรวจสอบ แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการจัดเวทีสาธารณะกว่า 25 ครั้ง และยังมีเวทีขนาดเล็กสำหรับกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มนักธุรกิจ เยาวชน ผู้สูงอายุ ชุมชน องค์กร ภาคประชาสังคมอีก 23 ครั้ง รวมจำนวนผู้เข้าร่วมเวทีสาธารณะทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ก่อนที่จะลงความเห็นเป็นฉันทามติ รับรองวิสัยทัศน์เมืองกรุงเทพ2575 ของประชาชน ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ซ้ำอีกรอบหนึ่ง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สาระสำคัญของวิสัยทัศน์ฉบับนี้ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ประชากร การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากร ที่เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงแก้ปัญหาหลักที่ชาวกรุงเทพฯ และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อนำพากรุงเทพฯ ไปสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของโลก และประการสำคัญคือผลักดันให้กรุงเทพหานครเป็น ‘มหานครแห่งเอเชีย (Vibrant of Asia)’ ในอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อคนทั่วโลก นึกถึงทวีปเอเชีย จะต้องนึกถึงกรุงเทพฯ เป็นลำดับแรก
จากนั้น นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่า กทม.ได้เป็นตัวแทนรับมอบวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยระบุว่า วิสัยทัศน์ฉบับนี้จะได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงอย่างแน่นอน ไม่ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในช่วงต่อไปจะเป็นใครก็ตาม ทั้งนี้ จะเร่งนำวิสัยทัศน์ดังกล่าวไปบรรจุในแผนของ กทม.โดยเร็ว ส่วนในบางประเด็นที่เกินขอบเขตอำนาจของ กทม. หรือเป็นเรื่องที่รัฐบาลกลางต้องรับไปดำเนินการ กทม.ก็จะเร่งผลักดัน ส่งเรื่องต่างๆ ต่อไปยังรัฐบาลกลางต่อไป
ด้านรศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า การให้วิสัยทัศน์กรุงเทพ มาจากความคิดเห็นของประชาชนชาวกรุงเทพฯ รวมถึงการส่งมอบวิสัยทัศน์ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่จะต้องมีการขยายผลให้ชาวกรุงเทพในอีก 1,800 ชุมชน ได้รับรู้ รับทราบเกี่ยวกับวิสัยทัศน์นี้ด้วย รวมถึงสถาบันการศึกษา 474 แห่งใน กทม. มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรสอนในเรื่องวิสัยทัศน์กรุงเทพ โดยอาจนำไปใส่ไว้ในหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กและเยาชน สร้างคนกรุงเทพฯ ขึ้นมา
ตัวแทนนักศึกษา กล่าวว่า อยากให้มีการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้คนกรุงเทพฯ เพราะเมื่อการศึกษาดีขึ้นก็จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามไปด้วย และในฐานะเด็กและเยาวชนก็ออกเห็นการศึกษาในบ้านเราเป็นไปในลักษณะของการบูรณาการ
ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองของคนทุกคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเมืองกรุงเทพเป็นเมืองที่มีผู้คนมาจากหลายพ่อพันธุ์แม่ก็อยากให้แต่ละอาชีพ แต่ละชุมชนมีการรวมตัวกัน เพื่อให้มีการสานเสวนากันในเรื่องต่างๆ และอยากให้มีการจัดตั้งสภาเมืองเกิดขึ้น
วิดีโอประกอบ: Bangkok 2032 Ep.1 คลิก!!