ศอ.บต.ยุค "ทวี สอดส่อง" ก้าวสู่ปีที่สองสร้างสมดุล "รัฐ-ท้องถิ่น-ชุมชน"
"เรื่องบางเรื่องง่ายนิดเดียว ผมก็ไม่ทราบว่าที่ผ่านมาทำไมถึงไม่ทำกัน อย่างเช่นการเปลี่ยนชุดผู้ต้องขังในเรือนจำ เขาขอแค่ให้เสื้อแขนยาวคลุมข้อศอก ให้กางเกงยาวคลุมเข่า เพื่อที่ว่าเวลาละหมาดจะได้ไม่เจ็บ มีการเรียกร้องกันมานานแล้วแต่ก็ไม่มีการตอบสนอง ล่าสุดอนุมัติแล้วครับ"
เป็นเสียงเล่าเนิบช้าตามสไตล์ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการบรรยายพิเศษครั้งหนึ่งที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยย่านรามคำแหง ช่วงหลังจากรับตำแหน่งได้ไม่นาน
คำพูดสั้นๆ ไม่กี่ประโยคนี้เองทำเอาพี่น้องมุสลิมทุกเพศทุกวัย รวมทั้งผู้นำศาสนาเต็มห้องประชุมพร้อมใจกันลุกขึ้นยืนปรบมือแสดงความยินดีโดยไม่ได้นัดหมาย...แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจของคนมุสลิมทั่วไปที่มีต่อปัญหาชายแดนใต้อันสะท้อนถึงการ "ละเลย" หรือ "กดทับ" อัตลักษณ์บางประการของอิสลามที่ดำรงอยู่ในประเทศไทย
และเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานี้ ศอ.บต.ก็เป็นเจ้าภาพแจกจ่าย "ชุดนักโทษแบบใหม่" ที่เหมาะสมกับการปฏิบัติศาสนกิจให้กับผู้ต้องขังชายหญิงทุกเรือนจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามด้วยการปรับปรุงครัวในเรือนจำให้เป็น "ครัวฮาลาล" ถูกต้องตามหลักศาสนา 100%
ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ต.ค.2554 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ พ.ต.อ.ทวี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. จากนั้นเขาได้เดินทางลงพื้นที่อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2554 นับถึงวันนี้ก็ครบ 1 ปีเต็มของการทำงานแล้ว ถือเป็นผู้นำองค์กร ศอ.บต.ที่ได้รับการพูดถึงในแง่ดีมากที่สุดคนหนึ่งในยุคที่องค์กรแห่งนี้ได้รับการฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (พ.ศ.2549) เป็นต้นมา
ตลอด 1 ปีมานี้ ผลงานเด่นของ พ.ต.อ.ทวี คือการ "คืนศักดิ์ศรี" และ "ความเป็นธรรม" ให้กับพี่น้องมลายูมุสลิม พร้อมๆ กับการดูแลคนทุกศาสนิกเพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียม อันเป็นสิ่งที่ พ.ต.อ.ทวี มักพูดกับคนใกล้ชิดเสมอว่า "เป็นการพิสูจน์ทฤษฎีบางอย่างที่ได้ศึกษามา" และปฏิเสธทุกครั้งคราที่มีข่าวเตรียมเก็บของย้ายไปนั่งเก้าอี้ใหญ่กว่าอย่างปลัดกระทรวงมหาดไทย
"ศาสนา-ความเป็นธรรม" ธงนำดับไฟใต้
นอกจากการเปลี่ยน "ชุดนักโทษ" ดังกล่าวแล้ว ยังมีงานใหญ่ระดับชาติที่ใช้งบประมาณถึงกว่า 2 พันล้านบาท นั่นก็คือการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะเป็นงานในระดับรัฐบาล แต่ พ.ต.อ.ทวี ก็เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการทางธุรการต่างๆ กระทั่งสามารถทะยอยจ่ายเงินเยียวยาไปได้จำนวนหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์รุนแรงขนาดใหญ่ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังได้ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเยียวยาให้ผู้เสียหายที่เป็น "ประชาชน" ได้รับความช่วยเหลือเสมอภาคกับ "เจ้าหน้าที่รัฐ" คือเพิ่มจาก 1 แสนบาทเป็น 5 แสนบาทกรณีเสียชีวิต และลดหลั่นลงไปสำหรับกรณีทุพพลภาพ พิการ และได้รับบาดเจ็บ โดยย้อนจ่ายให้กับผู้เสียหายตั้งแต่ปี 2547 รวมทั้งจ่ายเยียวยาให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ถูกควบคุมตัว แต่สุดท้ายรัฐไม่สามารถดำเนินคดีได้ หรือดำเนินคดีไปแล้วศาลยกฟ้องด้วย
ถือเป็นภารกิจ "คืนความเป็นธรรม" ตามกรอบนโยบาย "ความเป็นธรรมนำการเมืองและการทหาร" ตามที่ พ.ต.อ.ทวี เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่รับตำแหน่ง
อีกด้านหนึ่งก็คือการเพิ่มเงินอุดหนุนมัสยิด วัด และเงินส่งเสริมตาดีกา (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) พร้อมๆ กับการแสดงการยอมรับ "อัตลักษณ์ที่แตกต่าง" และยืนยันการเป็น "ดินแดนพหุวัฒนธรรม" ที่ชายแดนใต้ ด้วยการประกาศให้วันฮารีรายอ ตรุษจีน และคริสต์มาส เป็นวันหยุดราชการ
"สุดท้ายการแก้ปัญหาในพื้นที่ต้องใช้ศาสนาทุกศาสนานำ" พ.ต.อ.ทวี เคยกล่าวเอาไว้
ขึ้นปีที่ 2 เดินหน้าพัฒนามุ่งสู่อาเซียน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.ในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี เข้าไปทำหน้าที่นั้น ถือเป็นห้วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เนื่องจากมีการตรากฎหมายออกมารองรับสถานภาพองค์กรเป็นครั้งแรก คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งได้กำหนดอำนาจหน้าที่และภารกิจของ ศอ.บต.เอาไว้อย่างกว้างขวาง ทั้งในมิติความเป็นธรรม การสร้างความเข้าใจ การศึกษา และการพัฒนา
พ.ต.อ.ทวี ได้ใช้บทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวนี้ซึ่งยกร่างโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นกรอบในการทำงาน และใช้กลไกสำคัญอย่าง "กพต." หรือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น "ครม.น้อย" ในการผลักดันงานต่างๆ ให้ปรากฏผลเชิงรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมดึงการเปลี่ยนผ่านสู่ "ประชาคมอาเซียน" มาเป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ทุกฝ่ายในพื้นที่มองเห็นร่วมกัน
งานที่ พ.ต.อ.ทวี เตรียมสานต่อในปีที่ 2 จึงขยายขอบเขตครอบคลุมทุกด้านตามที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่เอาไว้ ได้แก่
ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งเน้นคนพิการ เด็กกำพร้า สตรีที่ขาดคู่สมรสจากปัญหาความไม่สงบ
ด้านการศึกษา มุ่งพัฒนาสถาบันปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนระดับประถมศึกษาให้มีคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยที่ผ่านมาได้เปิดเวทีพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนทุกกลุ่ม ทุกประเภท เพื่อให้มองเห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขอย่างตรงจุด ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการศึกษาภาษามลายู ซึ่งเป็นหนึ่งใน "ภาษาอาเซียน" ด้วย
ด้านเศรษฐกิจ พยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมดูแลพื้นที่ เช่น หากนักธุรกิจรายใดหรือสถานประกอบใดช่วยอุดหนุนด้านการศึกษา การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หรือจ้างงานคนในพื้นที่ ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
ด้านสังคม สนับสนุนหน่วยปกติให้แก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุขต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่อยากให้ชายแดนใต้เป็น "เขตพิเศษทางวัฒนธรรม" ปลอดจากอบายมุขและยาเสพติดทุกชนิด
ด้านการปกครอง ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเปิดกว้างให้ภาคประชาสังคมทุกกลุ่มร่วมกันคิดหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญที่สนองตอบต่อการพัฒนาภายใต้อัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของพื้นที่
ด้านความเป็นธรรม เร่งรัดให้เกิดระบบคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การรักษาความปลอดภัยโดยชุมชน สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมด้วยการนำระบบนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพิสูจน์ความผิด ซึ่งไม่ใช่แค่ดีเอ็นเอเท่านั้น
สร้างความเชื่อมั่น-ชาวบ้านมีส่วนร่วม
ภารกิจสำคัญคือ "การลดปัญหาความรุนแรง" โดยใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในระดับชุมชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของ พ.ต.อ.ทวี ที่มักเปิดให้ภาคประชาชน "จัดการกันเอง" โดยที่ ศอ.บต.เป็นแค่พี่เลี้ยงและสนับสนุนงบประมาณ
"กุญแจที่จะไขสู่ความสำเร็จของงานทุกงานคือการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ปัญหาความไม่สงบก็เช่นกัน ต้องพยายามผลักดันให้ชุมชนแก้ปัญหา กำนันผู้ใหญ่เปรียบเสมือนเป็นพ่อ นายกฯอบต.เปรียบเสมือนเป็นแม่ ต้องดูแลประชาชนหรือลูกบ้านที่เปรียบเสมือนเป็นลูก ทั้งในแง่ของการเข้าถึงความยุติธรรม เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม เพราะไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปดูแลได้ทั้งหมด" พ.ต.อ.ทวี เผยแนวคิดที่แปรมาเป็นแนวทางการทำงาน
เป้าหมายที่ พ.ต.อ.ทวี วางเอาไว้ในสเต็ปต่อไปก็คือการจัดตั้ง "กองทุนคุ้มครองความปลอดภัย" เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกล้าเข้ามาลงทุนในพื้นที่ มีทุนสำหรับกิจกรรมด้านความปลอดภัยและเยียวยาอย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ร้ายแรงขึ้น
ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าผลักดันให้เกิด "ธนาคาร" ของคนสามจังหวัดเป็นการเฉพาะ เพื่อเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตในระดับครัวเรือนโดยสอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรม
เพราะการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นดัชนีชี้วัดความสันติสุข
ปรับสมดุล "รัฐ-ท้องถิ่น-ชุมชน"
บทบาท แนวคิด และการทำงานของ พ.ต.อ.ทวี ปฏิเสธไม่ได้ว่าสวนกระแสการมอง "ความมั่นคงของรัฐแบบเก่า" อย่างสิ้นเชิง เพราะเจ้าตัวตั้งหลักแบบ "ตรงและแรง" เพื่อกระแทกให้ทุกฝ่ายได้ฉุกคิดอย่างท้าทาย
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า "การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐ" เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือแท้ที่จริงแล้วผู้กระทำคือวีรบุรุษของคนอีกกลุ่มหนึ่ง
หลักคิดแบบนี้ทำให้ฝ่ายที่ยึดมั่น "ความมั่นคงของรัฐแบบเก่า" เพ่งมองอย่างไม่สบายใจ โดยที่คนเหล่านั้นก็กระจายตัวอยู่ในหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยซึ่งรับผิดชอบภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
การจัดสมดุลระหว่าง ศอ.บต.ในทิศทางของ พ.ต.อ.ทวี กับหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ที่ดูจะยึดถือแนวทางการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง จึงเป็นภารกิจอันท้าทายของ พ.ต.อ.ทวี ในการทำงานปีที่ 2 นอกเหนือไปจากการจัดสมดุลระหว่าง รัฐ ท้องถิ่น และชุมชน ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี พยายามปลุกให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลักในการทำงานแทนรัฐ
เพราะไม่มีใครรู้พื้นที่และรู้ความต้องการของตนเท่ากับคนในพื้นที่เองอีกแล้ว...
การเดินสู่เป้าหมายของ ศอ.บต.ภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ทวี จึงพยายามยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด แม้แต่องค์กร ศอ.บต.เอง เขาก็ยังคิดว่าน่าจะเป็นกลไกนำร่อง "ปกครองพิเศษ" ให้ได้ทดลองใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ เช่น ให้เลขาธิการ ศอ.บต.มาจากระบบ "กึ่งเลือกตั้งโดยประชาชน" กล่าวคือ เปิดให้ประชาชนเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. แล้วจัดการลงคะแนนเสียงเหมือนเลือกตั้ง จากนั้นก็นำชื่อผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอาจจะ 3 อันดับแรก ไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาคัดเลือกอีกทีหนึ่ง
หรือการขยายบริบทงานของ ศอ.บต.ให้ครอบคลุมภารกิจในพื้นที่ที่แตกต่างเชิงอัตลักษณ์อย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง โดยนอกจากย่อส่วนกระทรวง ทบวง กรมจากส่วนกลางให้มาอยู่ใต้ร่ม ศอ.บต.แล้ว ยังควรเพิ่มงานบางอย่างที่ส่วนกลางไม่มีเข้าไปในโครงสร้าง ศอ.บต. เช่น งานดูแลศาสนสถานของอิสลาม หรือกิจการอาหารฮาลาล เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ ศอ.บต.เป็นองค์กรบริหารจัดการท้องถิ่นที่มีอำนาจเต็มย่อส่วนมาจากรัฐบาลระดับชาติเลยทีเดียว
"การเมือง-ทหาร" บทพิสูจน์ความจริงใจ
ตลอด 1 ปีแรกของการทำงานที่ ศอ.บต.ก็ใช่ว่า พ.ต.อ.ทวี จะไม่เคยถูกวิจารณ์ในแง่ลบเลย เพราะจริงๆ แล้วก็มีประเด็นที่เจ้าตัวถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรงเช่นกัน คือการทำงานเพื่อสร้างฐานทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (3 ก.ค.2554) พรรคเพื่อไทยไม่มีผู้แทนราษฎรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลยแม้แต่คนเดียว แต่เป็นพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำฝ่ายค้านในปัจจุบัน ที่กวาดที่นั่ง ส.ส.ไปได้เกือบทั้งหมด
กลายเป็นภาพสะท้อนความเป็น "พื้นที่พิเศษ" ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพรรคการเมืองที่ครองความนิยมของคนส่วนใหญ่ในประเทศ กลับไม่ได้รับเลือกตั้งเลยในพื้นที่นี้
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การฟื้นความนิยมของพรรคเพื่อไทยซึ่งมีบางปีกของกลุ่มวาดะห์เดิมรวมอยู่ด้วย คือภารกิจสำคัญของ พ.ต.อ.ทวี บนเก้าอี้เลขาธิการ ศอ.บต. และเจ้าตัวก็ทำหน้าที่ได้ดี โดยใช้กฎหมาย ศอ.บต.ที่ผลักดันโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ เป็นกลไกสำคัญในการแปรนโยบายของรัฐบาลให้เห็นผลในทางปฏิบัติอย่างรวดเร็ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเยียวยา ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลดีขึ้นที่ชายแดนใต้ โดยมีกลุ่มการเมืองของพรรคเพื่อไทยผูกติดกับภาพการเคลื่อนไหวของเลขาธิการ ศอ.บต.
ฉะนั้นการเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามของรัฐบาล จึงเป็นบทบาทที่ท้าทายของ พ.ต.อ.ทวี
เช่นเดียวกับการผสานความคิดกับหน่วยงานด้านความมั่นคงหน่วยอื่นโดยเฉพาะ "ทหาร" ที่บริบทของงานสวนทางกับ ศอ.บต.แทบจะสิ้นเชิง เพื่อไม่ให้เกิดภาพประหนึ่งว่าฝ่ายหนึ่งกำลังใช้ไม้เรียวกำราบ ขณะที่อีกฝ่ายแอบให้ขนม
เพราะยุทธศาสตร์ 2 ขา คือ ความมั่นคงกับการพัฒนา ต้องเดินอยู่บนถนนสายเดียวกัน คือมุ่งสู่สันติสุขของปลายด้ามขวาน
และนั่นจะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจในการทำงานของเลขาธิการ ศอ.บต.ที่ชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)