บวก ลบ คูณ หาร เลือกตั้งมะกัน ‘โลก อาเซียน ไทย’ ได้หรือเสีย
คนอเมริกาขณะนี้ทุกข์เหมือนคนไทยไม่มีผิด เมื่อ "ซุปเปอร์สตอร์มแซนดี้" พิบัติภัยทางธรรมชาติพัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ก่อนวันเลือกตั้งผู้นำ เพียงแค่ 1 สัปดาห์
ว่ากันว่า "แซนดี้" กลายเป็นตัวแปรสำคัญ มีผลต่อการตัดสินใจของคนอเมริกัน ที่จะหย่อนบัตรเลือกระหว่างนายบารัค โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต และนายมิตต์ รอมนีย์ แห่งพรรคพับลิกัน ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้
สำหรับประเทศไทยแล้ว ทำไมต้องสนใจการเลือกตั้งสหรัฐฯ ? และคนไทยได้อะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ? แล้วทำไมทีกับจีน หรืออังกฤษ เราไม่เห็นสนใจเท่านี้เลย...
อดีตนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย “ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์” ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำในเวทีสัมมนา “การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ:ผลกระทบต่ออาเซียนและไทย” ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. และสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ว่า เพราะสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ นโยบายต่างประเทศ ไม่ได้กระทบเฉพาะรัฐบาลของประเทศไทยเท่านั้น แต่กระทบลงมาถึงทุกๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดี เศรษฐกิจโลกก็จะดีตามไปด้วย
“หรืออย่างนโยบายการเข้าเมือง ก็เกี่ยวข้องกับคนที่อยากเดินทางไปเรียน หรือไปท่องเที่ยวสหรัฐฯ รวมทั้งนโยบายด้านการศึกษา การลงทุน ของพรรคเดโมแครต และพรรคพับลิกัน ก็ไม่เหมือนกัน ” ฉะนั้น ดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สนุก และได้ความรู้ด้วย ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ แนะว่า ต้องเข้าใจระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่แตกต่างจากประเทศไทยชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ชนิดที่ว่า เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เพราะเป็นระบบสหพันธรัฐ (Federalism) มีรัฐบาล 2 ระดับ คือ รัฐบาลกลาง กับรัฐบาลท้องถิ่น เป็นต้น
การเกาะติด และตามการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ่งที่คนไทยต้องจับตาดูคะแนนเป็นพิเศษนั้น อยู่ใน 9 มลรัฐ คือ โคโลลาโด ฟลอลิดา ไอโอวา เนวาดา นิวแฮมป์เชียร์ นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เวอร์จีเนีย และวิสคอนซิน ซึ่งถือเป็นรัฐสวิงเสตท (swing states) คะแนนเสียงสามารถออก ได้ 2 ทาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รัฐโอไฮโอ" ที่มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) 18 คะแนน ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ ยืนยันว่า “เมื่อไหร่ 18 คะแนนนี้โหวตไปทางไหน ค่อนข้างเป็นที่เชื่อได้ว่า ผู้สมัครจากพรรคนั้น จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ”
รอมนีย์ มาโลกปั่นป่วน
ขณะที่รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี คณะรัฐศาสตร์ มธ. ในฐานะนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย วิเคราะห์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลต่อกระทบต่อโลก อาเซียน และไทย ว่า
- หาก “บารัค โอบามา” ชนะการเลือกตั้ง
“4 ปีข้างหน้า ก็ไม่ต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมา โอบามาขายฝันให้กับโลกไว้เยอะ เช่น อเมริกาจะเปลี่ยนนโยบายใหม่ ประกาศนโยบายกับโลกมุสลิม ฟื้นฟูความสัมพันธ์ใหม่กับโลกมุสลิม อเมริกาจะยื่นดอกไม้ให้อิหร่าน ยื่นดอกไม้ให้เกาหลีเหนือ จะปฏิสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวโลก เมื่อเขาไม่สามารถสานฝันให้เป็นจริงได้ ดังนั้น หากได้เป็นประธานาธิบดีสมัย 2 ผมคิดว่า เขาจะพยายามสานฝันให้เป็นจริง”
อย่างไรก็ตาม แม้โอบามา จะล้มเหลว แต่หาก มิตต์ รอมนีย์ ได้เป็นประธานาธิบดี จะมีอะไรดีขึ้นบ้างไหม ?
นายกสมาคมอเมริกาศึกษาฯ เชื่อว่า ด้านนโยบายคงเปลี่ยนแน่ แต่จะมากน้อยแค่ไหนคงคาดเดาลำบาก แต่ส่วนตัวคิดว่า คงไม่กลับไปเป็นแบบสมัยบุช 2 ไม่แข็งกร้าว ไม่สุดโต่ง
“แม้รอมนีย์ กับบุช จะมีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม แต่รอมนีย์คงไม่ก้าวร้าว หรือแข็งกร้าวเท่ากับบุช ผมอดห่วงไม่ได้ว่า หากรอมนีย์มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โลกจะปั่นป่วนมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจจะหนักขึ้น”
เพราะข้อเท็จจริงแล้ว รอมนีย์มองจีนในแง่ลบ มากกว่าโอบามา!!
ซึ่งการมองจีนในแง่ลบนั้น จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มากขึ้นหรือไม่ รวมไปถึงกับรัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ ด้วย โดยจะเห็นชัดจากการดีเบตครั้งที่ 3
รอมนีย์ ประกาศว่า อิหร่านคือ ภัยคุกคามอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ
นี่คือสิ่งที่ผู้สมัครทั้ง 2 คน แตกต่างกันระดับโลก
"อีกคนพิทักษ์ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ด้วยการดำเนินนโยบายสายพิราบ ขณะที่อีกคน มองว่าผลประโยชน์สหรัฐฯ จะได้รับการปกป้อง ด้วยการดำเนินนโยบายแบบสายเหยี่ยว" รศ.ดร.ประภัสสร์ บอกถึงความแตกต่าง
อาเซียน แตก!!
มาถึงระดับภูมิภาค การเลือกตั้งผู้นำของประเทศมหาอำนาจ จะส่งผลกระทบต่ออาเซียนอย่างไรนั้น รศ.ดร.ประภัสสร์ ระบุว่า นโยบายต่อจีนของรอมนีย์ อาจแข็งกร้าวต่อจีนมากกว่าโอบามา นโยบายต่อเกาหลีเหนือ ต่อภูมิภาคของรอมนีย์ อาจจะเน้นเรื่องการทหารมากกว่า โอบามา
“เป้าหมายสำคัญของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชีย คือ การครองความเป็นเจ้า แต่ขณะนี้มี “จีน” กลายเป็นคู่แข่งสำคัญ เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์สหรัฐฯ คือการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน” นี่คือนโยบายอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้ ที่นายกสมาคมอเมริกาศึกษาฯ มองเห็นชัด
ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน หรือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนนั้น ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องตีสนิทกับอาเซียน เพื่อดึงอาเซียนออกจากจีน โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามตีสนิทกับอาเซียน รวมทั้งไทยด้วย
ทั้งๆ ที่ในอดีตไม่เคยให้ความสำคัญกับอาเซียน ไม่เคยมีการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วยซ้ำไป
"แต่สมัยโอบามา มีการประชุมสุดยอดกับอาเซียนมาแล้วถึง 3 ครั้ง และสหรัฐฯ ได้เข้ามาเป็นสมาชิก EAS (East Asia Summit) แล้ว ซึ่งเป็นกรอบอาเซียน +8 รวมถึงสหรัฐฯ ได้เข้ามายุ่งในเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ต้องการให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และทำให้อาเซียนแตกกันด้วย"
เค้าลาง....ดูจะไม่เกินเลยจากการวิเคราะห์ของรศ.ดร.ประภัสสร์ เนื่องจากจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 45 ปีของอาเซียน "แตกกัน" ด้วยประเด็นทะเลจีนใต้ โดยสหรัฐฯ ถือหางเวียดนามและฟิลิปปินส์ ขณะที่กัมพูชา เอียงไปเข้าข้างจีน
ที่สุด “อาเซียนก็แตกกัน” จนได้
“ไทย” อยู่นอกสายตาโอบามา
ในส่วนของไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ในเอเชีย หากโอบามา คว้าชัยสมัยที่ 2 ได้ รศ.ดร.ประภัสสร์ มองว่า โจทย์ใหม่ของนโยบายไทยต้องคิด คือ จะทำอย่างไรให้สหรัฐฯ เห็นความสำคัญไทยมากขึ้น
เพราะที่ผ่านมา แม้รัฐบาลโอบามา ให้ความสำคัญกับอาเซียนก็จริง แต่ได้ลดความสำคัญของไทยลงไป ด้วยยุทธศาสตร์การหาพันธมิตรใหม่ๆ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และตอนนี้ที่กำลังเนื้อหอม คือ พม่า
“อย่าลืมโอบามา เดินทางไปเยือนอินโดฯ มาแล้ว 2 ครั้ง ไปเวียดนามมาแล้ว และกำลังไปกัมพูชา โอบามาไม่เคยมาไทย แม้เราจะพยายามล็อบบี้อย่างไรก็ตาม เขาไม่มา”
ภาพที่ออกมาเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า ความสำคัญของไทยในสายตาสหรัฐฯ กำลังลดน้อยถอยลง เพราะเขามีตัวเล่นใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องมาง้ออะไรไทยมากมายแล้ว
แต่หากผู้นำสหรัฐฯ ชื่อ รอมนีย์ ไทยอาจมีความสำคัญมากขึ้นในสายสหรัฐฯ เพราะรอมนีย์ให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคี รวมทั้งอาจได้ของแถมอีกอันหนึ่งคือ FTA ไทย-สหรัฐฯ ที่ไทยเคยเจรจาไว้ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ต้องหยุดไป เพราะมีรัฐประหาร
รวมถึงความสัมพันธ์ทางทหารไทยกับสหรัฐฯ จะกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น
ส่วนผลกระทบในทางลบต่อไทย ซึ่งเป็นผลกระทบลูกโซ่ จากนโยบายสายเหยี่ยวของรอมนีย์ อาจทำให้โลกปั่นป่วน ภูมิภาคปั่นป่วน ดังนั้น เชื่อว่า ก็จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไทยก็คงจะปั่นป่วนไปด้วย
ฉะนั้น โจทย์ใหญ่สำหรับไทย คือการดำเนินนโยบายในเชิงรุก และต้องตามให้ทันว่า สหรัฐฯต้องการเล่นอะไรกับเรา เรากำลังเป็นเบี้ยในเกมส์หมากรุกของมหาอำนาจหรือไม่