เล็งตั้งนิคมโรงสีชายแดน รับข้าวเพื่อนบ้าน สี- ส่งออก
สมาคมโรงสีข้าวไทย ได้ว่าที่นายกคนใหม่ “มานัส กิจประเสริฐ” เถ้าแก่โรงสีข้าวแห่งนครปฐม ชี้ท้าทายสุด คือ การดูแลโรงสี หนึ่งในกลไกลการรับจำนำข้าวตามโครงการรัฐบาล และการจัดตั้งสมาพันธ์โรงสีข้าวอาเซียน
วันที่ 3 พ.ย. สมาคมข้าวโรงสีข้าวไทย จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ณ อาคารจักรพันธุ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยในช่วงเช้าได้มีการายงานผลการดำเนินงานในรอบปี พิจารณางบดุลประจำปี เลือกตั้งผู้สอบบัญชี และเลือกตั้งนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยคนใหม่มาแทน “นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์” ที่กำลังจะหมดวาระลงในปี 2555
ผลการเลือกตั้งนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยคนใหม่ปรากฏว่า “นายมานัส กิจประเสริฐ” อุปนายกสมาคมคนปัจจุบันและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีกิจประเสริฐ จังหวัดนครปฐม ผู้คร่ำหวอดในวงการมาหลายสิบปี ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยคนใหม่ประจำปี 2556-2557
นายมานัส กล่าวว่า เรื่องที่ท้าทายที่สุดของสมาคมในปี 2556-2557 คือ การดูแลโรงสีที่เป็นหนึ่งในกลไกลการรับจำนำข้าวตามโครงการของรัฐบาล และการจัดตั้งสมาพันธ์โรงสีข้าวอาเซียน แต่ยังมั่นใจว่า โรงสีข้าวไทยมีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในอาเซียนด้านเทคโนโลยีในการสีข้าว และยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งนิคมโรงสีข้าวบริเวณชายแดนเพื่อรับข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสีและส่งออกอีกด้วย
ขณะที่นายยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของสมาคมโรงสีข้าวไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการส่งออกข้าวและเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและเกษตรมาโดยตลอด พร้อมฝากถึงว่าที่นายกสมาคมคนใหม่ให้ดูแลเรื่องข้าวไทยกับการเปิดประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนเป็นพิเศษ และการจะสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เป็นเรื่องที่ท้าทาย
นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย มีการจัดเสวนา “นโยบายข้าวกับอนาคตข้าวไทย” โดย นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย นายวรพงศ์ พิชญ์พงศา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และนายไพบูลย์ อรุณลาภ ที่ปรึกษา บริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด
นายชาญชัย ให้ข้อมูลการผลิตข้าวของประเทศไทย ปี 2555 โดยคาดว่า จะสามารถผลิตข้าวได้ปริมาณ 33 ล้านตัน ลดลงจากปี 2554 โดยเฉพาะในภาคอีสานที่ปริมาณการผลิตลดลงไปกว่าร้อยละ 20 ทำให้เสียตำแหน่งการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกให้กับอินเดียและเวียดนามตามลำดับ ประกอบกับอุปสงค์ในการบริโภคข้าวของโลกในอนาคตมีแนวโน้มทรงตัว ในขณะที่อุปทานในการผลิตข้าวของแต่ละประเทศมีมากขึ้น เช่น ไนจีเรีย ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของไทย ที่ปัจจุบันหันมาพยายามส่งเสริมให้ประชาชนเพาะปลูกข้าวเองและตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวให้สูงขึ้น
" ไนจีเรียขณะนี้ขึ้นภาษีนำเข้าตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ และยังมีข่าวลือซึ่งยังไม่ได้ยืนยันอีกว่า อาจจะมีการปรับภาษีนำเข้าข้าวขึ้นเป็น 100 เปอร์เซ็นในอนาคต แต่คิดว่าเขายังไม่กล้าทำ เพราะผู้บริโภคข้าวภายในประเทศจะได้รับผลกระทบ"
ในด้านมูลค่าการส่งออกข้าว นายชาญชัย กล่าวว่า ไทยยังมีรายได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะข้าวไทยมีจุดแข็งเรื่องคุณภาพและแบรนด์สินค้า และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็จะส่งผลดีกับการส่งออกข้าวของไทยด้วย เนื่องจากหลายประเทศในอาเซียนล้วนเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่แทบทั้งสิ้น หากมีการร่วมกันกำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าวและราคาขายที่แน่นอนร่วมกันแล้วจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกันและกันได้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้หลายๆ หน่วยงานรวมทั้งสมาคมฯ เองก็กำลังดำเนินการสร้างความร่วมมือต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่
ทั้งนี้ นายชาญชัย ได้เปรียบเทียบนโยบายการรับจำนำข้าวกับ นโยบายการประกันราคา ด้วยว่า การประกันราคาข้าวเป็นนโยบายที่ส่งผลเสียน้อยกว่าการรับจำนำข้าว ถ้าให้ราคาที่ 15,000 บาทเท่ากัน การประกันราคาดีกว่า
สำหรับประเด็นโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น นายวรพงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรทำให้โรงสีมั่นใจได้ว่าจะมีตลาดรับซื้อข้าวที่แน่นอน และระบายข้าวออกได้ในราคาที่เหมาะสม และหากเป็นไปได้ ราคาจำนำข้าวที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาทต่อตัน