หรือฝ่ายการเมืองกำลังลอยตัวหนีไฟใต้?
"ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้นายกฯรับผิดชอบดูแลภาพรวมของงานด้านความมั่นคงทั้งหมดเอง หลังจาก พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่เคยรับผิดชอบงานด้านนี้ถูกปรับออกจาก ครม. ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม จะทำหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รองผอ.รมน.)"
เป็นการอรรถาธิบายมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษเมื่อวันศุกร์ที่ 2 พ.ย.2555 ของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เกี่ยวกับการแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรีภายหลังการปรับ ครม.เที่ยวล่าสุด ซึ่งเกิดคำถามมาตลอดสัปดาห์จากรายชื่อ ครม.ใหม่ที่ปรากฏสู่สาธารณะว่า "ใครคือผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง?"
เพราะรองนายกฯใหม่ 3 คนที่ตั้งเพิ่มเข้ามา ได้แก่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ไม่มีใครเคยมีประสบการณ์ในงานด้านความมั่นคงมาก่อน
ขณะที่รองนายกฯที่มีอยู่เดิม 3 คน โดย 2 ใน 3 คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กับ นายชุมพล ศิลปอาชา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับงานความมั่นคงอยู่แล้ว เพราะรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ยืนกรานหลายครั้งว่าไม่พร้อมรับผิดชอบงานภาคใต้ และแสดงจุดยืนชัดแจ้งมาตลอดว่าไม่ยอมลงใต้โดยเด็ดขาด
ส่วน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงคนเดิม ถูกปรับออกไปโดยไม่มีตำแหน่งใดๆ ใน ครม.ชุดใหม่ ทั้งๆ ที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็เพิ่งถูกโยกมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วมาสวมหัวโขนเป็นรองนายกฯความมั่นคง เดินทางลงใต้เมื่อไม่นานมานี้เอง
ไม่รู้ว่าทหารที่ปฏิบัติงานภาคใต้จำหน้าท่านได้ครบทุกคนหรือยัง...
หลังการประชุม ครม.นัดพิเศษดังกล่าว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตอบข้อถามของสื่อมวลชน ตอกย้ำถึงการกำกับดูแลงานด้านความมั่นคงของตัวเธอเอง
"ขอเรียนในภาพรวมว่าเป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหมที่ดิฉันดูแลเอง และมีรัฐมนตรีกลาโหมอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของข้อพิพาทข้อสัญญาต่างๆ ให้นายพงศ์เทพดูแล"
"สำหรับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นโครงสร้างเดิมอยู่ ที่มีการบูรณาการภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ซึ่งมี 3 ส่วน คือ งานด้านข้อกฎหมาย ให้นายพงศ์เทพและกระทรวงยุติธรรมดูแล ส่วนที่สองคือการพัฒนา อยู่ภายใต้ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และกระทรวงมหาดไทยที่มี ร.ต.อ.เฉลิม กำกับอยู่ และส่วนที่สามคือภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีดิฉันเป็น ผอ.รมน. และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และกระทรวงกลาโหมทำงานอยู่"
"ทุกส่วนเหมือนเดิม เป็นการบูรณาการเพื่อให้งานเดินได้ จริงๆ ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากเดิม แต่ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีมาคุมโดยตรง และในภาพรวมดิฉันเองก็จะมาช่วยบูรณาการให้ภายใต้ สมช. เดี๋ยวจะมีการประกาศโครงสร้างอีกที ซึ่งจะไม่ต่างจากเดิม ทุกอย่างยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" นายกรัฐมนตรี สำทับ
อย่างไรก็ดี ในการประชุม ครม.นัดเดียวกัน ได้อนุมัติแต่งตั้ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ อธิบายว่า จะให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ มาช่วยประชุมและดูแลในส่วนของ ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต.
"ก็เท่ากับว่างานทั้งหมดต่อเนื่องเหมือนเดิม หน้าที่ทุกท่านเหมือนเดิม เพียงแต่เติมนายพงศ์เทพ และ ร.ต.อ.เฉลิม เข้ามาเพื่อให้เกิดการบูรณาการที่เป็นเอกภาพ ทุกอย่างไม่มีเปลี่ยนแปลง..."
อ่านถ้อยคำระหว่างบรรทัดของนายกรัฐมนตรีแล้ว เกิดคำถามแรกที่สั้นๆ ง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดินว่า แล้วอย่างนี้จะปรับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ออกจากตำแหน่งรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงไปทำไม?
มิติใหม่การบริหาร?
มองมุมหนึ่งเหมือนเป็นเรื่องดีที่นายกฯให้ความสนใจดูแลงานด้านความมั่นคงด้วยตนเอง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลอีกด้านหนึ่งก็เสมือนเป็นการ "ปิดปาก" ฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้นายกฯลงมาดูแลปัญหาภาคใต้ด้วยตัวเองมาตลอด
ทว่าการไม่ตั้งรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นเรื่องดีจริงๆ หรือ ถือเป็นประเด็นที่น่าพิจารณา เพราะงานด้านความมั่นคงเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับหลายกระทรวง และต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง ไม่ต่างอะไรกับงานด้านเศรษฐกิจ
ขณะที่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดินทุกเรื่อง ทุกด้าน จะมีเวลาเอาใจใส่ปัญหาเฉพาะด้านอย่างการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือ เอาแค่เฉพาะเดือน พ.ย.2555 นายกฯก็มีเวลาอยู่เมืองไทยไม่ถึง 10 วัน นอกนั้นปฏิบัติภารกิจต่างประเทศตลอด แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการให้ความสนใจเป็นพิเศษได้อย่างไร?
เสียงเรียกร้องให้นายกฯลงมากำกับดูแลปัญหาภาคใต้เอง น่าจะหมายถึงการใส่ใจอย่างใกล้ชิดมากกว่าไม่ตั้งรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงไปเลย...หรือมิใช่?
คำพูดของนายกฯ หากถอดรหัสประโยคต่อประโยคแล้วย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า งานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้นับจากนี้ไป จะปล่อยให้ "ฝ่ายประจำ" ขับเคลื่อนกันเป็นหลัก
ท่าทีของนายกฯ สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลและใน สมช.ที่ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" มาก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลมองว่าโครงสร้างการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความชัดเจนอยู่แล้วทั้งในด้านกฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยงานด้านความมั่นคงก็มอบให้ทหารทำ มี ผบ.ทบ.เป็นแม่งาน ส่วนงานพัฒนาก็ให้ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพ รวมทั้งเรื่องเจรจาด้วย ทั้งหมดมี สมช.ที่มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ซึ่งนายกฯและคนในตระกูลชินวัตรให้ความไว้วางใจเป็นพิเศษเป็นหัวเรือใหญ่ แล้วขับเคลื่อนงานของส่วนราชการต่างๆ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานผ่าน ศปก.จชต.
แต่ปัญหาก็คือ โครงสร้าง ศปก.จชต.ที่ออกแบบกันมาระยะหนึ่งแล้ว นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ลงนามในคำสั่งจัดตั้งอย่างเป็นทางการ และโครงสร้างนี้กลับมอบหมายให้ "คนนอก ครม." อย่าง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ซึ่งไม่มีตำแหน่งแห่งหนทางการบริหารใดๆ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล
เป็นการรับผิดชอบดูแลเพื่อขับเคลื่อนงานของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานที่มีกฎหมายของแต่ละส่วนราชการเป็นกรอบแนวทางให้เดิน จึงน่าจะจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ผู้รับผิดชอบโครงสร้าง ศปก.จชต.ต้องมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินด้วยเช่นกัน
สับสนในนโยบาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับ ครม.ครั้งใหม่โดยไม่ใส่ตัวบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเข้าไปทำหน้าที่ สะท้อนถึงความไม่ตั้งใจจริงในการจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่มี "นวัตกรรมทางนโยบาย" ใดๆ เลยที่จะพลิกสถานการณ์ที่ปลายด้ามขวานจากการ "ตั้งรับ" รอการสูญเสียรายวัน เป็นภารกิจ "เชิงรุก" เพื่อจำกัดพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและเลือกใช้วิธีการรุนแรง ทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางความคิด
อาการมึนงงกับปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ สะท้อนให้เห็นหลายตลบตลอด 1 ปีเศษที่เข้ามาบริหารประเทศ...
22 ก.ย.2554 หลังเป็นรัฐบาลได้เดือนเศษ นายกฯนั่งหัวโต๊ะประชุมกับหน่วยงานความมั่นคง และเห็นชอบตั้ง ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบ.กช. เพื่อขจัดปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบในภารกิจดับไฟใต้
ต.ค.2554 โครงสร้าง ศบ.กช.ถูกนำไปเวิร์คชอปโดย กอ.รมน.ได้ข้อสรุปเสนอจัดตั้งบอร์ด 2 ระดับ คือ บอร์ดระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. กับ บอร์ดระดับพื้นที่ คือ คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต.แต่สุดท้ายพอข่าวคราวเงียบหายก็ไม่ได้มีการลงนามจัดตั้งโครงสร้างการบริหารและบูรณาการตามที่ กอ.รมน.เสนอ
1 พ.ค.2555 หรืออีกกว่าครึ่งปีต่อมา ครม.จึงเพิ่งมีมติแต่งตั้งให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต. อ้างว่าเพื่อบูรณาการงานดับไฟใต้ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน
17 พ.ค.2555 มีการประชุมเวิร์คชอปประกาศยุทธศาสตร์ 9 ข้อ 29 เป้าหมาย 5 แนวทางขับเคลื่อน เป็นที่คึกคักที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมตามมา นอกจากการให้สัมภาษณ์ขู่ริบงบประมาณหน่วยงานที่ไม่ยอมลงไปทำงานในพื้นที่
8 ส.ค.2555 หลังเจอเหตุรุนแรงขนานใหญ่ติดๆ กันในช่วงเดือนรอมฎอน นายกฯยิ่งลักษณ์ก็เป็นประธานจัดแถลงข่าวด้วยตัวเอง ระบุว่าจะเดินหน้าจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.จชต. เพื่อขับเคลื่อนการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ติดปัญหาหลายประการ โดยให้ กอ.รมน.ไปจัดทำโครงสร้างมาเสนอ (อีกครั้ง)
ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่วัน โครงสร้างยังไม่ทันคลอด ก็มีการเปลี่ยนชื่อศูนย์ใหม่เป็น ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต. โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ดูเหมือนเป็นการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาซ้ำซ้อน สับสน และมีการวางตัว พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) ศปก.กปต.
แต่อีกไม่ถึง 3 เดือนต่อมา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็หลุดจาก ครม.
คำถามก็คือ เมื่อนโยบายยังไม่ชัด แต่ยังมีการปรับ ครม.ทุกๆ 6 เดือน ในลักษณะสับเปลี่ยนตัวบุคคลเป็นเก้าอี้ดนตรี จะส่งผลดีกับการแก้ปัญหาบ้านเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาอ่อนไหวอย่างชายแดนใตที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องและความเข้าใจแก่นแท้ของสถานการณ์สูงมาก
รัฐบาลกำลังทำเสมือนหนึ่งว่าปัญหานี้ไม่ต้องมี "ฝ่ายการเมือง" กำกับดูแลก็ได้ เพราะโครงสร้างทั้งหมดจัดวางไว้เป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งวิธีการที่ว่านี้อาจทำได้หากฝ่ายการเมืองมีนโยบายที่เข้มแข็ง ชัดเจน แต่จากที่เห็นและเป็นอยู่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่มีนโยบายอะไรใหม่ ไม่มีเป้าหมาย และไม่มีเจตจำนงทางการเมืองใดๆ ที่จะคืนสันติสุขให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เลย
ทิศทางที่รอการตัดสิน
สำรวจปัญหาชายแดนใต้วันนี้ ยังมีประเด็นใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 5-6 ประเด็นที่รอความชัดเจนและการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง
1.เรื่องใกล้ตัวใกล้สถานการณ์ที่สุด คือ การใช้มาตรการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่กลับใจยอมมอบตัว ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 6 เดือนแทนการถูกฟ้องคดี ซึ่งล่าสุดเพิ่งมีผู้สำเร็จการอบรม 2 คนแรกที่ศาลสั่งระงับการฟ้องคดีและส่งกลับภูมิลำเนาแล้ว
ทว่าเรื่องการระงับการดำเนินคดี หรือระงับการฟ้องคดีอาญา ยังมีประเด็นที่หลายฝ่ายเห็นแตกต่างกันอยู่เกี่ยวกับ "ฐานความผิด" ที่เข้าข่ายมาตรา 21 บ้างก็ว่าไม่ควรรวมความผิดอุกฉกรรจ์ประเภทฆ่า เผา ตัดคอ หรือลอบวางระเบิดเข้าไปด้วย บ้างก็ว่าต้องรวมฐานความผิดทุกฐานเพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยา ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 อยากขออำนาจ "เสนออภัยโทษ" เลยด้วยซ้ำ...นี่คือทางสามแพร่งที่รอ "ฝ่ายการเมือง" ตัดสินใจ
2.การเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ฝ่ายการเมืองจะเอาอย่างไร หรือแค่ให้ฝ่ายประจำรับมอบตัวแสดงตัวกันรายวัน จนถูกวิจารณ์ตั้งคำถามว่าคนเหล่านั้นเป็น "ตัวจริง" หรือเป็นพวกที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว
ขณะที่การเจรจากับแกนนำระดับสูงของกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรง รัฐบาลจะมีท่าทีแบบไหน เพราะการส่งฝ่ายประจำไปเจรจาเป็นครั้งคราวโดยไม่มีอำนาจตัดสินใจ ไม่อาจพลิกสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์จากการเจรจาได้
3.การแก้ปัญหาด้วยมิติปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง รัฐบาลเอาอย่างไร เพราะเคยหาเสียงเอาไว้เรื่อง "นครปัตตานี" แต่พอได้เป็นรัฐบาลกลับไม่ยอมสานต่อ ขณะที่การเสนอรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษภายใต้หลักคิด "จังหวัดจัดการตนเอง" รัฐบาลก็ไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีแต่ภาคประชาสังคมที่ยกร่างกฎหมายรอเอาไว้แล้ว ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม รองนายกฯในคณะรัฐบาล เสนอไปอีกทางให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
4.การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ซึ่งภาคประชาสังคมในพื้นที่เรียกร้องให้ยกเลิกมาหลายปี เพราะนับถึงวันนี้ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ชายแดนใต้มานานกว่า 7 ปีแล้ว รัฐบาลควรมีท่าทีชัดเจนมากกว่าแค่รอให้ สมช.รายงานว่าจะเลิกหรือไม่เลิก แต่ฝ่ายการเมืองควรกำหนดเป็นนโยบายนำหน้าเพื่อให้ฝ่ายประจำปฏิบัติตามให้บรรลุเป้าหมาย
5.งานด้านกระบวนการยุติธรรมที่ยังเป็นปัญหาอยู่หลายจุด รัฐบาลจะเอาอย่างไร วันนี้คดีความมั่นคงยกฟ้องอยู่ในอัตราร่วมๆ 80% คนที่ถูกจับกุมและกล่าวหาด้วยข้อหาอุกฉกรรจ์ต่างๆ ทั้งกบฏ ก่อการร้าย ฯลฯ สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมไม่อาจเอาผิดได้จริง ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาอย่างหนักในสายตาประชาชนคนพื้นที่ ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาสภาพปัญหา และเสนอให้ตั้ง "กรมสอบสวนคดีความมั่นคง" เพื่ออุดช่องโหว่ในการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ข้อเสนอก็หายไปกับสายลม
เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องให้ "ปล่อยชั่วคราว" หรือช่วยยื่นหลักทรัพย์ "ประกันตัว" ให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจำนวนมากแทบล้นเรือนจำ (ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อคดีถึงศาลก็มักยกฟ้อง) ฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้ขะมักเขม้นดำเนินการเหมือนการช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล
6.งานด้านการพัฒนาและฟื้นความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างไร เพราะภาครัฐไม่มีโครงการขนาดใหญ่ หรือ "เมกะโปรเจค" ในพื้นที่เลย สิ่งที่รัฐบาลทำมีแค่เพียงมาตรการลดภาระทางภาษีแก่ภาคเอกชน ซึ่งก็เป็นมาตรการเดิมๆ ที่ใช้มานานหลายปี และต่ออายุไปเรื่อยๆ แต่ไม่อาจสร้างผลทางจิตวิทยาใดๆ ได้
ระยะหลังได้ยินหลายคนในรัฐบาลพูดทำนองว่า ปัญหาภาคใต้ของไทยเพิ่งจะ 9 ปีเท่านั้นเอง ขณะที่ฟิลิปปินส์รบกันมา 40 ปีเพิ่งมีข้อตกลงสันติภาพ ฉะนั้นไทยยังมีเวลาอีกนาน แต่นั่นเป็นเพียง "มายาคติ" ที่ฝ่ายการเมืองและผู้ที่รับผิดชอบในวงจรปัญหาสร้างขึ้นเพื่อให้ตัวเองดูดีเท่านั้น
เพราะจริงๆ แล้วปัญหาภาคใต้มีมาเป็นร้อยปี นับเฉพาะตั้งแต่ยุคฮัจยีสุหลงเป็นต้นมาก็กว่า 60 ปีแล้ว ขณะที่เวลายิ่งผ่านไป ยอดคนตายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน...
หากฝ่ายการเมืองยังลอยตัวอยู่แบบนี้ วาระของรัฐบาลที่ยังเหลืออีกเกือบ 3 ปี ไม่รู้ว่าถ้าอยู่ถึงวันนั้นจะจัดทัพดับไฟใต้เสร็จหรือยัง?
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากอินเทอร์เน็ต